เมลอนฮามี่กัว (哈密瓜) ชื่อเสียงนั้นมาลือลั่น ดังโจษจันทั่วทั้งกรุง

-

แตงเมลอนเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมบริโภคกันในปัจจุบัน เนื่องจากมีรสชาติดี เนื้อนุ่ม หวานฉ่ำและมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล่อนที่มีลายตาข่ายสวยงามเป็นที่นิยมอย่างมาก มีต้นกำเนิดจากแอฟริกา หรือในหุบเขาร้อนของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอิหร่านและอินเดีย แคนตาลูปและแตงเมลอน (ฮันนีดิว) เป็นแตงสองสายพันธุ์ยอดนิยม ซึ่งคนส่วนใหญ่แยกแยะความแตกต่างแทบไม่ออก  

แคนตาลูป เป็นพืชตระกูลแตง  มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย มนุษย์รู้จักกินมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว ส่วนชื่อแคนตาลูปได้มาจากการนำไปปลูกที่เมืองแคนตาลูโป (Cantalupu) ใกล้กรุงโรมของอิตาลี ต่อมาพระเจ้าชาร์ลที่ 8 ทรงนำไปปลูกในฝรั่งเศส และเรียกว่า “แคนตาลูป” ตามชื่อเมือง เมื่อชาวอังกฤษนำไปปลูกบ้างจึงเรียกชื่อตามภาษาฝรั่งเศส

แตงฮามี่กัว (Hamigua melon) หรือ เมลอนฮามี่กัว (哈密瓜) 

ชื่อแตงพันธุ์นี้ตั้งตามแหล่งปลูกคือเมืองฮามี่ (哈密) ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน 瓜 (guā) มักปลูกในพื้นที่ทะเลทราย และเป็นเมลอนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมอย่างสูงในจีน ต่อมาแพร่หลายทั่วไปในเอเชียและอีกหลายภูมิภาค แตงฮามีกัวนี้บางคนก็เรียกว่า “แตงทิเบต” ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับเมลอน ผลสวย มีรูปร่างยาวรีเหมือนลูกรักบี้ เปลือกสีครีม อาจมีผิวบางหรือหนาปานกลาง และมีลักษณะเป็นตาข่ายหุ้ม ลักษณะเนื้อละเอียดสีส้มเข้ม ฉ่ำรสหวานกรอบ อร่อย ทั้งยังมีกลิ่นหอม จึงเป็นนิยมมาก จนมีราคาค่อนข้างสูง ฤดูกาลให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม

ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยแก้อาการท้องผูก บรรเทาอาการไอ โลหิตจาง และโรคกระเพาะ เป็นแหล่งวิตามินโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินซี ทั้งยังมีใยอาหารและแร่ธาตุต่างๆ เหมาะกับการเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ โดยทั่วไปแล้วแตงฮามี่มักจะกินสด หรือใส่ในสลัดผลไม้ สำหรับกินเป็นของว่างหรือของหวาน หรือใช้ประกอบของหวานและเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น ฟรุตสลัด ไอศกรีม น้ำแข็งไส และน้ำผลไม้ปั่น

ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจที่จะปลูกแตงนี้ในไทย เพราะเกษตรกรเข้าใจว่าเป็นพืชจากทะเลทราย ไม่น่าจะให้ผลผลิตที่ดี ต่อมาระหว่างปี 2493-2499 นักวิจัยการเกษตรไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำเมล็ดมาทดลองปลูกแล้วประสบความสำเร็จ มีการปรับปรุงเป็นพันธุ์ลูกผสมจนได้ผลผลิตที่ดี จึงแพร่กระจายพันธุ์และปลูกทั่วไป แหล่งปลูกที่ให้ผลดีอยู่ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ส่วนเทคนิคการปลูกแตงทิเบต พันธุ์ซินเจียงนี้ ต้องการอุณหภูมิในการปลูกระหว่างกลางวันกับกลางคืนที่แตกต่างกันกว่า 10 องศา แตงนี้มีอายุการเก็บเกี่ยว 75 วัน หลังจากเพาะเมล็ด  

ล่าสุดมีบริษัทเอกชนไทยทดลองปลูกแตงทิเบตพันธุ์ซินเจียง และประสบความสำเร็จตามวิธีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นกัน แตงทิเบตพันธุ์นี้จึงเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกของเกษตรกรที่กระตุ้นตลาดให้เกิดความต้องการสูงจนได้ราคาดี ช่วยให้มีอนาคตแน่นอน

ส่วนแตงเมลอนญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้แตกต่างจากแคนตาลูปซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกัน ที่เรียกว่า เมลอนนั้นเพราะเป็นชื่อการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่าง ญี่ปุ่นมีพันธุ์คิโมจิกับคูนามิ เนื้อในสีเขียว และพันธุ์โมมิจิ เนื้อสีส้ม ออกมาขายแข่ง สีของเนื้อและเปลือกแคนตาลูปแตกต่างกันตามสายพันธุ์ บางพันธุ์มีผิวผลหยาบ เปลือกแข็ง เป็นร่องลึกรอบผล เปลือกมีลายคล้ายร่างแหหรือตาข่ายสีขาว แต่บางพันธุ์ก็ไม่มี ส่วนเมลอนมีเปลือกเรียบสีอ่อนและเนื้อสีเขียว ในขณะที่แคนตาลูปมีเปลือกตาข่ายสีเข้มและเนื้อสีส้ม ทั้งสองชนิดมีรสหวานและมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่แคนตาลูปมีวิตามินซีและโปรวิตามินเอ มากกว่า 

ท่านที่สนใจปลูกเป็นอาชีพหรือปลูกแบบสมัครเล่น มีบริษัทขายเมล็ดแคนตาลูป-เมลอนรายใหญ่ในประเทศไทยชื่อ  “มูนสตาร์ อกริคัลเจอร์” ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์แตงฮามี สายพันธุ์ซินเจียง ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับประเทศไทย ใช้เวลาปลูกเพียง 70-75 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ 

อ้างอิง

คุณอติพจน์ ศรีสุคนธ์

https://www.agrinewsthai.com/news/3139

https://www.onlyfoods.net/types-of-melon.html

https://www.healthline.com/nutrition/honeydew

https://homkhajorn.dusit.ac.th/product/hamigua-melon


คอลัมน์:กินแกล้มเล่า

เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!