Guillermo del Toro’s Cabinet of Curiosities คนนอก (วง) กับคนเศร้า

-

Guillermo del Toro’s Cabinet of Curiosities

คนนอก (วง) กับคนเศร้า

ถ้าเปรียบกับนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ Guillermo del Toro’s Cabinet of Curiosities ก็เป็นเสมือนนิทรรศการสยองขวัญผสมไซไฟที่มี curator หรือภัณฑารักษ์ชื่อ กีเยร์โม เดล โตโร คัดสรรผลงานหนัง 8 เรื่องมานำเสนอ

ในส่วนหน้าฉาก เดล โตโร เป็นผู้ออกมาแนะนำเชิงโหมโรงให้ผู้ชมแต่ละเรื่องเตรียมตัวว่าจะได้ดูอะไร ในส่วนหลังฉาก เดล โตโร เป็นทั้งหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง เขียนบทในบางเรื่อง รวมถึงคัดสรรนักเขียนบทกับผู้กำกับมาทำหนัง

ทั้ง 8 เรื่องใช้ผู้กำกับ 8 คน จึงแตกต่างกันทั้งสไตล์และอารมณ์หนัง ความสนุกแปรผันตามรสนิยมคนดูว่าจะชอบแนวไหน บางเรื่องอืดช้า บางเรื่องตื่นเต้น บางเรื่องซับซ้อน บางเรื่องเนื้อหาบางเบา แต่จุดที่ถือว่าทุกเรื่องถือว่าสอบผ่านด้วยคะแนนดีใกล้เคียงกันหมดคืองานสร้างและการกำกับศิลป์ ซึ่งเป็นงานถนัดของเดล โตโร หากพิจารณาจากหนังทุกเรื่องที่เขากำกับ ไม่ว่าภาพรวมจะดีหรือแย่ แต่สองส่วนนี้ยังคงยอดเยี่ยมเสมอ

ในบรรดาแปดเรื่อง ถ้าชอบสนุกลุ้นระทึกมีแอ็กชันมากสุดต้องยกให้ Graveyard Rats โดยผู้กำกับ Vincenzo Natali ผู้เคยทำหนังระทึกขวัญปนสยองอย่าง Cube

ตัวละครนำในเรื่องถูกความโลภล่อใจจนถลำตัวไปสู่หายนะ แต่ก็เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ให้คนดูเอาใจช่วยด้วยเช่นกัน เมื่อเขาต้องลงไปติดแหง็กในพื้นที่แคบๆใต้สุสานพร้อมหนูปีศาจกับตัวประหลาดที่รุมเล่นงานเขา การดิ้นรนของตัวละครในสถานการณ์คับขันคือส่วนผสมที่ลงตัวให้คนดูได้ลุ้นไปจนจบ

ถ้าชอบความสนุกแบบขบคิด The Autopsy ก็เป็นตอนที่ตอบโจทย์ เมื่อมนุษย์ต่างดาวซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ในรูปแบบปรสิตเข้าครอบครองร่างมนุษย์ในศพที่กำลังจะถูกหมอผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตาย และหมอก็ต้องหาทางเอาตัวรอดจากแผนการครอบครองร่างมนุษย์ที่มีเขาเป็นเป้าหมายรายต่อไป

สำหรับคนรัก H. P. Lovecraft และงานศิลปะ น่าจะปลื้ม Pickman’s Model ที่ค่อยๆ ปอกเปลือกสภาพจิตใจของศิลปินผู้ถลำสู่ด้านมืดมนกับภาพวาดสยองซึ่งคล้ายจะสอดคล้องกับชีวิตจริง

และใน 8 เรื่องมีสองเรื่องที่เล่าถึงสภาวะจิตได้อย่างน่าสนใจ

  • The Outside – เรื่องของคนนอก

สเตซีย์ขี้เหร่ แต่งตัวเชย เมื่ออยู่ที่ทำงานมีเพื่อนสาวสามสี่คนจับกลุ่มนินทาเม้ามอยกันทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและเรื่องลูกค้า แต่เธอไม่เคยสุมหัวนินทากับเขาด้วย ไม่มีใครสนใจ แต่ละคนยังใช้ครีมราคาแพงบำรุงผิวให้เธอเห็น เธอรู้สึกถูกกีดกันและเป็น ‘คนวงนอก’ มาตลอด

สามีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ คอยปลอบใจเธอเวลาหวาดกลัว ชื่นชมเธอเสมอไม่ว่าคนอื่นจะมองอย่างไร คอยบอกว่าเธองดงามจากภายใน ไม่จำเป็นต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับเพื่อนสาว

ถ้าชีวิตสเตซีย์เป็นหนังดราม่าเน้นให้กำลังใจ การที่ตัวละครหลักอยู่ในภาวะขาดความมั่นใจหรือมีความนับถือตัวเองต่ำ (low esteem) แต่หากมีใครซักคนแบบสามีที่คอยให้กำลังใจ สนับสนุนให้รู้ว่างดงามและมีค่า พอใจคุณค่าภายในตัวตนก็จะผ่านพ้นปมด้อยที่เกิดในใจนั้นได้

แต่สเตซีย์ไม่ได้เป็นตัวละครในหนังแบบนั้น เธออยู่ในนิทรรศการสยองขวัญของเดล โตโร

เธออยากสวยกว่านี้ ไม่ได้ต้องการงดงามภายใน เธออยากเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงเพื่อนสาว ไม่รู้สึกพอใจที่ตัวเองมีดีแบบโดดเดี่ยว

มิหนำซ้ำทุกครั้งที่เปิดทีวี เธอก็จะถูกกล่อมจากพรีเซนเตอร์ครีมบำรุงผิวราคาแพงซึ่งกลุ่มเพื่อนสาวนิยมใช้ ราวกับโฆษณาในทีวีพูดกับเธอโดยตรงให้ใช้ครีมมากขึ้น เพื่อนสาวคนอื่นจะได้เลิกหัวเราะเยาะ จากนั้นชีวิตจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่อย่างที่เธอฝัน แล้วเธอก็คุยกับพรีเซนเตอร์ครีมผ่านทางจอโทรทัศน์

ถ้ามองในเชิงการแพทย์ มันอาจเป็นอาการป่วยทางจิตของสเตซีย์ อาการแบบนี้เรียกว่า delusion of reference คือหลงผิดคิดว่าคนในโทรทัศน์หรือคนรอบข้างกำลังสื่อสารถึงตัวเอง แม้ผิวหนังจะแดงลอกเพราะครีมบำรุงผิวเหมือนแพ้รุนแรง แต่เจ้าตัวก็ยังมีอาการหลงผิด คิดว่าผิวกำลังจะสวยขึ้นหลังจากหนังลอก

ดังนั้นถึงสามีจะชื่นชมและสนับสนุน แต่เธอกลับไม่ได้รู้สึกพอใจตัวเอง เธอยังมุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อให้สวยขึ้นและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนๆ และเมื่อสามีไม่สนับสนุนในแบบที่เธอต้องการ (เช่น เธออยากให้สามีสนับสนุนว่าครีมจะช่วยให้เธอสวยขึ้น แต่สามีกลับบอกให้เลิกใช้) แถมพยายามจะฉุดรั้งไม่ให้เธอเปลี่ยนแปลง จากแรงใจจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุเป้า

การหมกมุ่นที่จะเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองดีกว่านี้ บวกแรงขับของ “ความรู้สึกเป็นคนนอก” ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในท่ามกลางกระแสของอุตสาหกรรมกับสื่อโฆษณาที่เข้ามาหากินกับภาวะ low self esteem ของผู้คน จึงกลายเป็นความสยองขวัญที่ด้านหนึ่งอาจบอกได้ว่ามีปีศาจเข้ามาเกี่ยวพัน หรืออีกนัยหนึ่งคือทั้งเรื่องนั้นสะท้อนภาวะจิตผิดปกติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ของตัวละคร

  • The Murmuring – คนเศร้า

เชื่อว่าต้องมีคนผิดหวังกับตอนสุดท้ายในนิทรรศการสยองขวัญชุดนี้ เพราะ The Murmuring เล่าเรื่องอย่างเรียบ ตรงไปตรงมา มี jump scare พอให้ชุ่มชื่นหัวใจคอหนังผีตุ้งแช่เล็กน้อย แล้วก็จบง่ายๆ คนที่คาดหวังความระทึกหรือสยองอาจจะไม่สบอารมณ์

ถ้า The Outside เป็นเรื่องของคนนอก The Murmuring ก็เป็นเรื่องของคนเศร้า เป็นความเศร้าที่เจ้าตัวไม่สามารถสลัดหลุด คือความเศร้าของคนเป็นแม่จากการสูญเสีย (ลูก) ที่เรียกว่า grief และความเศร้านั้นก็ทำลายทุกอย่างรอบตัว ทำลายความสัมพันธ์กับสามีที่พยายามช่วยเหลือเธอ เธอไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกรักหรือเซ็กซ์ที่อีกฝ่ายปรารถนา ทำลายชีวิตเธอให้วนอยู่กับความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกกักขัง แล้วโหยหาสิ่งที่เรียกว่า “อิสรภาพ” จนน้ำตาไหลเมื่อเห็นคำคำนี้ปรากฏ

ปักษีวิทยาหรือการศึกษานกช่วยให้ตัวละครได้มีอะไรหล่อเลี้ยงชีวิต แต่การได้เห็นฝูงนกโบยบินในท้องฟ้ากว้างก็กระตุ้นความรู้สึกติดกับและไร้อิสระในใจ เธออยากมีอิสระเหมือนนกเหล่านั้น

ความไม่สามารถ move on เริ่มคลี่คลายและได้รับการเยียวยาเมื่อเธอสังเกตเห็นปรากฎการณ์ประหลาดในบ้าน แล้วพบว่าชีวิตของเธอดูจะสอดคล้องกับคนเป็นแม่ในบ้านหลังนั้นหลายอย่าง ทั้งเรื่องลูกตายและการโหยหาอิสรภาพ

การเห็นผีและลูกที่ตายไปในบ้านหลังที่เธอย้ายมา ในแง่หนึ่งอาจเป็นผีจริงๆ แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นเหมือนเจ้าของบ้านเช่าที่บอกเธอในภายหลังว่า คนเรามักเห็นสิ่งที่อยากเห็น เฉกเช่นปรากฏการณ์บินของนกเป็นฝูงในตอนต้นถูกตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติหรือเป็นวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่อาจหาคำตอบได้ แต่มันมีอยู่จริง ไม่ว่าผีจะมีจริงไหม แต่หากเธอไม่กล้าเผชิญหน้าความเจ็บปวดแล้วก้าวต่อไป ผีหรือความเศร้าจากการสูญเสียก็ย่อมจะคอยหลอกหลอนเธอให้รู้สึกเจ็บจริงทุกข์จริงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!