Grant Achatz  เชฟผู้ไม่ยอมแพ้แม้สูญเสียการรับรส 

-

สำหรับอาชีพเชฟนอกจากรสมือในการปรุงอาหารได้อร่อยแล้ว ประสาทสัมผัสการดมกลิ่น การมองเห็น โดยเฉพาะการรับรส ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการปรุงและคิดค้นเมนูอาหาร หากขาดสิ่งใดคงเป็นการยากที่จะเติบโตในอาชีพนี้ ไม่ต่างกับนักดนตรี หากขาดประสาทสัมผัสการได้ยิน เส้นทางของการเป็นนักดนตรีก็คงไม่ง่าย Grant Achatz คือเชฟหนุ่มที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ได้รับการยกย่องให้เป็นเชฟดาวรุ่งของวงการ และมีร้านอาหารของตัวเองในวัยเพียง 30 ปี ซึ่งได้รับคำชมจากนิตยสารให้เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ดีที่สุดในอเมริกา ในขณะที่ชีวิตกำลังทะยานสูงขึ้น ๆ เขากลับต้องสูญเสียประสาทการรับรสชาติ ซึ่งเป็นสิ่สำคัญต่ออาชีพเชฟ ทว่าเชฟหนุ่มก็ไม่เคยยอมแพ้ ไม่เคยหมดหวัง เขาต่อสู้กับโรคร้ายจนเอาชนะได้เป็นผลสำเร็จ 

ในวัยเด็ก แกรนท์เติบโตมาจากครอบครัวที่เปิดร้านอาหาร ทำให้เขาคลุกคลีกับการเข้าครัว เขามีหน้าที่ตั้งแต่ล้างจานไปจนถึงการทำอาหารเฉกเช่นพ่อครัวคนหนึ่ง ร้านอาหารของครอบครัวแกรนท์เสิร์ฟเมนูง่าย ๆ ไม่ได้มีการปรุงแต่งอะไรเป็นพิเศษ แต่ทว่าเด็กชายแกรนท์ในวัย 11 ปี เกิดความคิดริเริ่มนำใบพาสลีย์มาประดับจานออมเล็ทเพื่อให้อาหารดูน่าสนใจขึ้น เมื่อไม่มีใครขัดขวางเชฟตัวน้อยจึงเริ่มทำการทดลองต่าง ๆ เขาลองใส่ส่วนผสมของซอสบางอย่างลงในอาหาร เพียงเพราะอยากรู้ว่าจะได้รสชาติแบบไหน และด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาสามารถจดจำรสชาติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อเติบโตขึ้น แกรนท์ผู้รักการเข้าครัวไม่ลังเลที่จะเลือกเรียนต่อในสถาบันสอนการทำอาหาร ณ นครนิวยอร์ก เพื่อเริ่มต้นอาชีพเชฟอย่างเต็มตัว 

French Laundry คือร้านอาหารที่แกรนท์ทำงานหลังจากเรียนจบ ร้านแห่งนี้เน้นการปรุงอาหารจากวัตถุดิบใหม่สด ผสมผสานกันให้ออกมากลายเป็นเมนูเลิศรส การผสานระหว่างไข่ปลาคาเวียร์กับพุดดิ้งได้สร้างความประหลาดใจให้แก่แกรนท์เป็นอย่างมาก เชฟหนุ่มได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากที่นี้ รวมถึงได้รับโอกาสให้ไปช่วยงานที่ร้านอาหาร ‘El Bulli’ อาทิตย์ละครั้ง ซึ่งส่งผลต่อวิถีการทำอาหารของแกรนท์เป็นอย่างมาก Ferran Adrià เจ้าของร้าน El Bulli มีแนวคิดต่ออาหารว่า อาหารไม่ใช่แค่ชิ้นโปรตีนราดซอส แต่หมายรวมถึงทุกสิ่งอย่าง เขาสนใจค้นหาวิธีการที่จะทำให้อาหารเป็นมากกว่าอาหาร เมนูของร้านแห่งนี้จึงขึ้นชื่อเรื่องความพิสดาร เมื่อบ่มเพาะวิชาจนถึงจุดหนึ่ง เชฟหนุ่มย่อมต้องการจะพิสูจน์ฝีมือยิ่งขึ้นไปอีก เขาลาออกและเริ่มงานในร้านอาหารแห่งใหม่ ‘Trio’ ในชิคาโก้ พร้อมแจ้งเกิดด้วยเมนู Truffle Explosion ที่นี่แกรนท์สร้างชื่อเสียงจนได้รับการยกย่องให้เป็นเชฟดาวรุ่งผู้น่าจับตามอง และในเวลาไม่นาน แกรนท์ลาออกเพื่อเปิดร้านอาหารของตัวเองในชื่อ Alinea  ชีวิตของเขาเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเวลานั้นเองแกรนท์เริ่มสังเกตถึงแผลเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในลิ้นด้านซ้ายของเขา 

แผลในช่องปากของแกรนท์เริ่มรบกวนเขาทีละน้อย เชฟหนุ่มตัดสินใจไปหาหมอฟันเพื่อรักษา หมอฟันวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นแผลจากการกัดลิ้นตัวเอง เนื่องจากความเครียด และแนะนำให้เขาคลายความตึงเครียดบ้าง แต่อาการก็ไม่ได้ดีขึ้นอีกเลย ซ้ำยังสร้างความเจ็บปวดให้เขาเพิ่มขึ้น คุณหมอส่งชิ้นเนื้อไปตรวจและผลออกมาว่า เขาเป็นมะเร็งที่ลิ้น ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งประเภทนี้คือบุคคลที่ชอบดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ แต่แกรนท์ไม่เคยแตะต้องสิ่งเหล่านั้นเลย ทว่าวิถีชีวิตของเขาก็ไม่ค่อยจะส่งผลดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก ด้วยการทำงานที่หักโหมทำให้เขาไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพ แม้ตัวเขาจะเป็นคนทำอาหารแต่กลับกินอาหารในแต่ละวันน้อยมาก และมักดื่มแต่ไดเอ็ทโค้กถึง 10 กระป๋องต่อวัน อีกทั้งชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องโดยไม่พักผ่อน สิ่งเหล่านี้ได้ส่งต่อสุขภาพ ทำให้เขาป่วยตั้งแต่ยังหนุ่ม 

คุณหมอได้แจ้งหนทางรักษาให้แก่แกรนท์ นั่นคือการผ่าตัดบางส่วนของลิ้นออก แล้วเย็บเนื้อเยื่อจากอวัยวะอื่นของร่างกายแทนที่ ผลข้างเคียงคือการรับรสชาติของเขาจะไม่เหมือนเดิม และอาจต้องอาศัยหลอดดูดในการกินอาหาร ซึ่งนั่นหมายถึงอุปสรรคสำคัญต่ออาชีพเชฟผู้มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ออกมาเรื่อย ๆ แกรนท์ปฏิเสธการรักษาด้วยการผ่าตัด และเลือกที่จะรักษาด้วยวิธีทางเลือกแทน โดยเข้ารักษาที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ เขาต้องเข้ารับการฉายแสงและเคมีบำบัด ระหว่างที่รักษานั้นลิ้นของเขาจะสูญเสียการรับรสไปชั่วคราว และจะกลับมาใช้ได้อีกครั้งเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง แต่นั่นคือกรณีของผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่หนักเท่าเขา หมายความว่าแกรนท์ยังต้องเสี่ยงว่าประสาทการรับรสจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ 

เมื่อการรักษาดำเนินไปเรื่อย ๆ ประสาทการรับรสเขาก็หายไปทีละนิด แต่เขายังไม่หยุดทำงาน แกรนท์ยังคงพัฒนาเมนูใหม่ ๆ ออกมาโดยอาศัยการมองและการดม สีสันและกลิ่นของอาหารคือตัวช่วยบอกเขาว่าอาหารจานนั้นพอดีแล้วหรือไม่ เช่นเดียวกับเบโธเฟ่นที่สามารถแต่งเพลงได้แม้หูหนวก อย่างไรก็ตาม แม้จะยังคงทำงานต่อไปได้ แต่เชฟหนุ่มก็ไม่ได้พอใจกับสิ่งที่เป็น เขายังหวังว่าลิ้นของเขาจะรับรสได้เหมือนเดิม “คุณคิดว่าเบโธเฟ่นพอใจกับสิ่งนี้ไหม แน่นอนว่าเขาสามารถแต่งเพลงได้แม้จะไม่ได้ยินเสียง เช่นเดียวกับตัวเขาที่สามารถทำอาหารได้แม้ลิ้นจะไม่รับรส เรามีความสุข แต่เป็นความสุขในระดับทั่ว ๆ ไป ผมยังหวังจะรับรสชาติอาหารที่ตัวเองรังสรรค์ขึ้นพร้อมดื่มด่ำไปกับมัน ใช่ ผมยังหวัง” 

ตลอดเวลาที่เขารักษาตัว เขาไม่ได้ลดเวลาในการทำงานลงเลย เชฟหนุ่มประทังชีวิตด้วยน้ำแอ๊ปเปิ้ล โปรตีน และการทำงาน แม้หุ้นส่วนร้านจะเสนอลดชั่วโมงการทำงานเพื่อให้เขาได้พักรักษาตัว แต่แกรนท์ปฏิเสธ เพราะการทำงานช่วยให้เขาผ่านความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อการรักษาด้วยยาชุดสุดท้ายเสร็จสิ้น คอของเขายังคงแดงจากการฉายแสงและเคมีบำบัด มีแผลเป็นจากการตัดต่อมน้ำเหลือง แต่มะเร็งได้จากเขาไปแล้ว แกรนท์กลับมารับรสได้อีกครั้งโดยเริ่มจากรสหวาน และรสอื่น ๆ ตามมา  

ไม่มีใครการันตีได้ว่าในอนาคตโรคร้ายจะหวนกลับมาอีกหรือไม่ แต่ในวันที่ยังแข็งแรง เชฟหนุ่มจะขออุทิศกำลังสร้างสรรค์เมนูอาหารอย่างเต็มความสามารถ ทำในสิ่งที่รักโดยไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!