อย่า ‘จับงูข้างหาง’ นะ

-

ผู้เขียนได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ มักมีข่าวที่ได้ยินได้เห็นอยู่บ่อยๆ คือข่าวที่เกี่ยวกับ ‘งู’ ฉบับนี้จึงจะเขียนถึงสำนวนไทยซึ่งมีงูเป็นที่มาของสำนวน ได้แก่ จับงูข้างหาง, ตีงูที่ขนดหาง และงูกินหาง

จับงูข้างหาง

ใครเห็น ‘งู’ เลื้อยเข้ามาอยู่ในบริเวณบ้านหรือภายในบ้านย่อมตกใจ หวาดหวั่นว่าจะเป็นอันตรายแก่คนและสัตว์เลี้ยง จึงโทรศัพท์แจ้งให้หน่วยกู้ภัยหรือผู้ชำนาญมาช่วยจับงู จะเห็นว่าวิธีการที่ใช้กันก็จะใช้อุปกรณ์หรือมือจับหัวงู งูก็จะสิ้นฤทธิ์ ผู้จับก็ปลอดภัยไม่ถูกงูฉกกัด แต่ถ้าจับงูข้างหาง งูจะแว้งกัดได้ง่าย

สำนวน ‘จับงูข้างหาง’ ถูกนำมาใช้เพื่อเตือนสติมิให้ผู้ใดต้องได้รับผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำที่ยังไม่มีความรู้มากพอหรือไม่รอบคอบ เช่น ชาญเตือนบุตรชายที่มาปรึกษาเรื่องที่จะนำเงินไปลงทุนร่วมกับเพื่อนทำกิจการที่เขาคาดว่ามีแนวโน้มจะให้ได้รับผลตอบแทนสูงตอนหนึ่งว่า “คิดให้รอบคอบ มองหลายๆ ด้าน เพื่อให้แน่ใจว่าดีจริง จะได้ผลลัพธ์ที่คุ้มกับการลงทุน อย่าให้กลายเป็นความผิดพลาดได้เหมือนกับจับงูข้างหาง จะเสียทั้งเงินทอง โอกาส และเวลา พ่อขอให้แกโชคดี”

 

ตีงูที่ขนดหาง

คำว่า ‘ขนด’ แผลงมาจากคำ ‘ขด’ แปลว่าม้วนให้เป็นวง ถ้างูขดตัวคือมันม้วนตัวให้เป็นวงๆ โดยปกตินักจับงูหรือคนโดยมากรู้ว่าถ้าจะจับงูต้องจับที่หัวงู ไม่จับหางงู เพราะมันจะฉกกัดได้ ยิ่งถ้างูกำลังนอนขดหางอยู่ แล้วมีคนไปตีมันที่ขนดหางให้มันเจ็บ มันจะฉกกัดได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพราะหัวและหางอยู่ใกล้กัน ตีงูที่ขนดหางจึงเป็นสิ่งไม่ควรทำ

‘ตีงูที่ขนดหาง’ ได้ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบที่หมายถึงการทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเจ็บใจและโกรธมาก เช่น นายฤทธิ์เจ็บแค้นมากที่เห็นลูกสาวกำลังถูกชายคนหนึ่งเข้ามาลวนลามถึงในบริเวณบ้าน จึงคว้าท่อนไม้ที่อยู่ใกล้มือไปตีหัวชายคนนั้นเลือดอาบล้มลงสลบ ได้มีผู้เห็นเหตุการณ์โทรศัพท์แจ้งตำรวจท้องที่ให้มาระงับเหตุ เมื่อตำรวจรู้เรื่องราวทั้งหมด ตำรวจคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “นี่แหละ! ตัวอย่างของการตีงูที่ขนดหาง พ่อจะไม่แค้นได้ยังไงเมื่อลูกสาวถูกรังแกอย่างนี้ เจ้าหมอนี่คงเข็ดไปอีกนาน”

 

งูกินหาง

สำนวน ‘งูกินหาง’ มาจากการละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้เล่นมีทั้งชายและหญิง มีผู้เล่นประมาณ 8–10 คน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสมมุติว่าเป็นแม่งู มีบรรดาลูกงูซึ่งจะมีกี่ตัวก็ได้เกาะหลังแม่ต่อๆ กันเป็นแถว ส่วนอีกฝ่ายเป็นพ่องูตัวเดียว ทั้งสองฝ่ายจะประจันหน้ากัน พ่องูและแม่งูกับลูกๆ จะพูดโต้ตอบกันจนจบลงที่แม่งูถามว่า “กินหัวหรือกินหาง” พ่องูตอบว่า “กินกลางตลอดตัว” จากนั้นแม่งูก็จะพยายามปกป้องลูกโดยพาลูกหนีพ่องูที่พยายามวิ่งไล่จับลูกงูตั้งแต่หางแถวขึ้นมาหัวแถว พวกลูกงูก็จะเกาะกันวิ่งหนีวนเวียนไปมา โดยระวังมิให้แตกแถว ถ้าลูกงูตัวใดถูกพ่องูจับได้หลุดจากแถวก็จะต้องออกจากการเล่น การเล่นลักษณะนี้เป็นการเลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวของงูที่มีลำตัวยาวเลื้อยคดเคี้ยวไปมา

เมื่อนำ ‘งูกินหาง’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะมีความหมายว่าเกี่ยวโยงกันเป็นทอดๆ ดังในหน่วยงานใดมีกรณีทุจริตเกิดขึ้น ครั้นเรื่องเปิดเผยคนทำความผิดก็จะโยนความผิดไปยังหัวหน้างานหรือลูกน้องคนต่อๆ กันไป ตอบโต้กันวนไปวนมาไม่สิ้นสุด เช่น เมื่อสินค้าในโกดังของโรงงานแห่งหนึ่งหายไปจำนวนไม่น้อยอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งผู้กระทำการดังกล่าวจะต้องเป็นคนทำงานในโรงงานที่รู้ลู่ทางดี เมื่อเจ้าของโรงงานรู้ก็ให้มีการสืบหาคนทำผิด ผู้เป็นลูกน้องท้ายแถวที่ถูกกล่าวหาก็จะซัดทอดไปยังหัวหน้าระดับเหนือขึ้นไปเป็นทอดๆ ซัดทอดกันไปมาจนในที่สุดความจริงก็ปรากฏ ผู้ทุจริตยอมรับสารภาพ เมื่อเจ้าของโกดังรู้ผลก็ถึงกับปวดหัวผิดหวังในพฤติกรรมของลูกน้อง พอกลับไปถึงบ้านก็เล่าเรื่องให้ภรรยาฟัง ภรรยาพูดว่า “ทำแบบนี้เข้าลักษณะงูกินหางอย่างโบราณว่าไว้ไม่มีผิด พี่ก็จัดการไปตามที่เห็นสมควรก็แล้วกัน เรื่องจะได้จบๆ”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!