มีคดีสำคัญสองคดีในซีรีส์เรื่อง Good Morning, Veronica จากบราซิล
- คดีหญิงสาวโดนล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต เมื่อเข้าเว็บไซต์หาคู่แล้วก็จะถูกชายหนุ่มมาชวนออกเดท จึงรู้สึกดี จึงรู้สึกว่าตัวเองมีค่า จึงเชื่อว่าได้พบรักแท้ ก่อนที่จะโดนหักหลังแล้วถ่ายรูปเปลือยเหยื่อไว้ มีเหยื่อรายหนึ่งมาโรงพักแล้วฆ่าตัวตายในโรงพัก ก่อนฆ่าตัวตายก็ได้ยินเสียงของผู้กระทำก้องในหัวว่า “เจ้าหญิง คุณสวยเหลือเกิน คุณคือผู้หญิงที่ผมฝันถึง…”
- คดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ซีรีส์เฉลยแต่แรกแล้วว่า คนร้ายคือพันโทบรันโด นายทหารยศสูงเป็นฮีโร่ของชุมชน มีภาพลักษณ์เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม เขาวานภรรยาชื่อเจเน็ตซึ่งมีบุคลิกเป็นคนซื่อไม่มีพิษภัยทำงานให้ในฐานะนกต่อ ทั้งคู่รอคอยเด็กสาวที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อหางานในเมืองหลวง เจเน็ตตีสนิทแล้วล่อลวงชวนไปทำงานเป็นแม่บ้านเงินเดือนดี ก่อนที่สามีของเธอจะจับหญิงคนนั้นไปทรมานแบบวิปริตแล้วฆ่าทิ้งโดยที่ไม่มีใครรู้
เวโรนิก้า ตอเรส เป็นแค่ตำรวจชั้นเสมียน แต่เธอเป็นคนช่างสังเกตและมีคุณสมบัติของนักสืบที่ดี เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสองคดีข้างต้น
คดีแรก เธอเป็นพยานเห็นเหยื่อยิงตัวตายต่อหน้าแล้วต้องการสืบหาคนร้ายตัวจริง ในขณะที่หัวหน้าของเธอไม่ใส่ใจจริงจังเพราะเห็นเป็นคดีที่เหยื่อฆ่าตัวตายแล้วมีประวัติใช้ยาจิตเวช หัวหน้าจึงด่วนสรุปว่าคงเป็นภาวะซึมเศร้า แต่เวโรนิก้าเชื่อมโยงเรื่องราวจนแจ่มแจ้งว่าเหยื่อทุกรายล้วนถูกหลอกลวง แบล็กเมล์ แล้วคนร้ายคุกคามทางจิตใจจนเหยื่อคนไหนทนรับความอับอายไม่ไหวก็ฆ่าตัวตาย
ในคดีที่สอง เจเน็ตติดต่อเวโรนิก้าให้ช่วยเหลือ แต่เพื่อนร่วมงานในสถานีตำรวจของเวโรนิก้าไม่อยากให้เธอไปพัวพันเพราะพันโทบรันโดเป็นนายทหารคนสำคัญของประเทศ
ทั้งสองคดีล้วนถูก “ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจ” ขัดขวางการสืบสวน แต่เวโรนิก้ามุ่งมั่นที่จะจับคนร้ายให้ได้ทั้งสองคดี
domestic violence หรือความรุนแรงในครัวเรือนเป็นปัญหาสังคมที่เจ้าหน้าที่รัฐมักละเลยเพราะความไม่รู้และเคยชินกับค่านิยมตกยุค เช่น สามีข่มขืนภรรยาก็อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติของผัวๆ เมียๆ หรือเมื่อผู้ใหญ่ทุบตีเด็กก็ถูกเพิกเฉยด้วยแนวคิด “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ทั้งที่มันคือความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเอาผิดผู้กระทำและคุ้มครองเหยื่อที่โดนกระทำ
นอกจาก domestic violence ถูกละเลยเพราะความไม่รู้แล้ว ยังถูกละเลยเนื่องจากเข้าใจผิดว่าหมายถึงแค่ความรุนแรงผ่านร่างกาย เช่น ชก ตบตี ข่มขืน ฯลฯ
แต่จริงๆ แล้ว domestic violence รวมถึงความรุนแรงผ่านการกดขี่หรือความสัมพันธ์ที่เรียกว่า emotionally abusive relationships หรือความสัมพันธ์ที่มีการกระทำทารุณทางจิตใจ ทำให้เหยื่อรู้สึกด้อยค่า คุกคาม ควบคุม บังคับหรือบงการชีวิต (manipulation) คอยแต่ตำหนิ โยนความผิด (blaming) ทำให้อับอาย (shaming) ฯลฯ ด้วย
ครึ่งแรกของซีซั่นเราจะไม่เห็นตัวร้ายอย่างนายทหารบรันโดทำร้ายภรรยาเลย แต่เขาจะควบคุมภรรยาให้อยู่ในบ้านที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัวใช้ ไม่ให้สื่อสารกับคนภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ออกไปหาเหยื่อมาทรมานทั้งที่เจ้าตัวไม่ต้องการทำ คอยตำหนิแล้วโทษอีกฝ่ายต่างๆ นานา เช่น จัดโต๊ะอาหารหรือตักข้าวไม่ถูกใจก็ไม่ได้ทำร้าย แต่ประชดด้วยการตักอาหารในชามที่เธอทำหกมาสะบัดใส่เสื้อตัวเองแรงๆ จนอีกฝ่ายรู้สึกหวาดกลัว
เจเน็ตอาจจะออกนอกบ้านได้ แต่เราก็เห็นแล้วว่าเมื่อเธอออกนอกบ้านเธอดูไม่มั่นใจ ไม่กล้าใช้ชีวิตอะไรนอกเหนือ “กรอบ” ที่สามีกำหนดไว้ เมื่อน้องสาวมาชวนไปช็อปปิ้งแล้วต้องแต่งตัวที่เซ็กซี่มากขึ้น เพียงก้าวออกจากบ้านไม่กี่ก้าวเธอก็มีอาการหน้ามืด ตัวชา ขยับขาไปต่อไม่ได้ แล้วเมื่อเธอทำผิดร้ายแรงขึ้น เขาจึงเริ่มล่วงละเมิด เช่น กล้อนผม แล้วสุดท้ายก็ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย
ภาวะเช่นนี้ก็สอดคล้องกับชื่อเล่น “นกน้อย” ที่สามีเรียกเธอ มันไม่ใช่คำเรียกแบบน่ารัก แต่มันทำให้เห็นภาพของนกที่ติดอยู่ในกรงซึ่งมองไม่เห็น เป็นกรงแห่งความกลัวที่สามีสร้างเพื่อขังเธอไว้ให้ไร้อิสรภาพ
นอกจากเห็นตัวอย่างของความรุนแรงและการกระทำทารุณทางจิตใจผ่านคนร้าย เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่เหยื่อแบบเจเน็ตมีลักษณะการใช้กลไกทางจิตแบบปฏิเสธความจริง (ว่าสามีคือคนชั่วร้าย) ลดทอนหรือ minimization ความโหดเหี้ยมของสามี เช่น เธอไม่คิดว่าเขาจะสังหารเหยื่อ คงแค่จับมาทรมาน ทั้งที่เห็นสภาพเหยื่อก็รู้แล้วว่าไม่น่ามีชีวิตรอด
ด้วยความคิดแบบนี้เจเน็ตจึงลังเลใจที่จะแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือจากตำรวจ เพราะไม่ใช่แค่กลัวว่าบรันโดจะเล่นงานเธอ แต่เธอยังไม่ยอมรับความจริงว่าเธออยู่กับสามีที่มีด้านมืดเป็นฆาตกรวิปริต เธอยังมีความหวังว่าชีวิตคู่จะดีขึ้นกว่านี้ได้
หลายๆ คู่ในโลกความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น คือเหยื่อไม่ใช่แค่กลัวจนไม่กล้าออกจากความสัมพันธ์ แต่เหยื่อยังมีความฝันว่าอีกฝ่ายจะกลับใจหรือคิดว่ายังไงเสียตัวเองก็ไม่น่าจะโดนเล่นงานหนักไปกว่านี้ เมื่อยังไม่โดนทำร้ายร่างกายก็คิดว่ามันคงไม่เลวร้ายนัก แต่สุดท้ายหลายคนกลับถูกทำร้ายหนักขึ้นจนหากไม่ซึมเศร้าก็เสียชีวิต
===
นอกจากนำเสนอประเด็นดังกล่าวได้ดี ซีรีส์ Good Morning, Veronica ยังผูกเรื่องที่มีซับพล็อตน่าติดตามอีก เช่น เมื่อเวโรนิก้าพยายามจะสืบคดีแล้วเอาผิดคนร้ายระดับผู้มีอำนาจ เธอก็พบว่าองค์กร (ตำรวจ) ของเธอรวมถึงทหารมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่มีอำนาจสูงกว่านั้นที่คอยชักใยโดยส่งคนมาแทรกซึมในหน่วยงาน เธอต้องต่อสู้แบบหัวเดียวกระเทียมลีบกับคนในองค์กรซึ่งไม่รู้ว่าใครดีหรือร้าย ยังไม่นับปริศนาที่พ่อของเธอฆ่าแม่ของเธอแล้วยิงตัวตายและกลายเป็นแผลใจที่เวโรนิก้าพยายามหาคำตอบมาตลอด
นับได้ว่าเป็นการเปิดตัวเพื่อแนะนำปูมหลังตัวละครเวโรนิก้าผ่านซีซั่นแรกได้น่าประทับใจ แถมเมื่อจบแล้วก็เปิดช่องสำหรับพล็อตเรื่องที่ดูจะใหญ่ขึ้นและเวโรนิก้าน่าจะมีโอกาสได้โชว์ทักษะสืบสวนไล่ล่าคนร้ายมากขึ้นแน่ๆ หากได้สร้างซีซั่นถัดไป
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)