สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2566 ค่ะ ขอให้ท่านผู้อ่านมีความสุขกายสุขใจตลอดปีนี้และตลอดไปนะคะ
น้ำลาย
ก่อนจะถึงปีใหม่ พ.ศ. 2566 ไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ยินคนใช้คำเก่าให้เป็นสำนวนใหม่ถอดด้ามซึ่งผู้เขียนไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย ได้แก่สำนวน “น้ำลาย” ปกติคำว่า “น้ำลาย” หมายถึงน้ำที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำลายและต่อมเมือกในปาก ช่วยในการย่อยอาหารจำพวกแป้ง เป็นคำที่ใช้กันจนชินหู เช่น น้ำลายไหล น้ำลายสอ เป็นต้น
ปัจจุบัน “น้ำลาย” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายว่า “ได้แต่พูด” หรือ “ดีแต่พูด” ไม่น่าจะเป็นจริง ดังตอนหนึ่งที่สุขสันต์พูดกับวิทยาเมื่อเกิดความไม่พอใจกันเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ จนกระทั่งท้าตีท้าต่อยว่า “มึงอย่าดีแต่น้ำลายมาท้ากูชก แน่จริงก็เข้ามาเลย กูบ่ยั่น” หรือชิดถามทวีที่นำทองมาขายในราคาถูกมากตอนหนึ่งว่า “น้ำลายรึเปล่า ราคาที่ว่าจะขายน่ะ ” เป็นต้น
ในเรื่องเกี่ยวกับการพูดนั้นมีใช้กันเป็นสำนวนมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันหลายสำนวน ที่น่าสนใจได้แก่สำนวนนอตหลุด ภาษาพ่อขุน ภาษาดอกไม้ เป็นต้น
นอตหลุด
“นอต” คือท่อนหรือแผ่นโลหะสั้นๆ มีรูเกลียวตรงกลาง ใช้สำหรับสวมขันเข้ากับปลายสลักเกลียว ถ้าขันเกลียวไม่แน่นนอตก็จะหลุดโดยง่าย ต้องเสียเวลาขันใหม่
คำ “นอต” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบ หมายถึงเมื่อถึงเวลาคับขันถ้าไม่มีสติหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ บางคนอาจหลุดคำพูดที่ไม่น่าฟังออกมา เช่น เมื่อเชิงชายพูดเตือนสุพจน์เพื่อนสนิทที่ชอบทำตัวเป็นคนเจ้าชู้ ไปนั่งอยู่แถวเชิงสะพานในหมู่บ้านแล้วพูดจาแทะโลมสาวๆ ที่เดินผ่านไม่เลือกหน้า สุพจน์ได้ฟังก็ยั้งอารมณ์ไม่อยู่ พูดโพล่งด่าเชิงชายกลับด้วยถ้อยคำหยาบคาย เชิงชายทำเป็นไม่สนใจ พูดว่า “เอ็งอย่าเพิ่งนอตหลุด รึว่าที่ข้าพูดน่ะไม่จริง ปัดโธ่เอ๊ย! ข้าเตือนด้วยความหวังดีนะ จะบอกให้เอาบุญ”
ภาษาพ่อขุน
“พ่อขุน” ในที่นี้หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัยต่อจากรัชสมัยของพ่อขุนบานเมืองพระเชษฐาธิราช ในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงบันทึกถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตร ดังตอนต้นของศิลาจารึกหลักนี้ทรงจารึกไว้ว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง… เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก พ่อกูไปรบ…” ตอนต่อมาจึงเป็นการกล่าวถึงสภาพบ้านเมืองในสมัยของพระองค์[1]
จะเห็นว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า “กู” ในความหมายว่า “ฉัน” ไม่ใช่คำไม่สุภาพตามที่คนในสมัยปัจจุบันเข้าใจ บางกรณีก็ใช้แสดงถึงความสนิทสนมกันระหว่างเพื่อนฝูง แต่ในบางกรณีคำ “กู” ถือว่าเป็นคำหยาบ ไม่ควรใช้กับบุคคลทั่วไป เช่น เมื่อรถยนต์ของยุทธพงศ์ถูกรถยนต์อีกคันหนึ่งขับเร็วแซงซ้ายแซงขวาตลอด ทำให้เขารู้สึกโกรธ จึงเปิดกระจกรถตะโกนถามไปว่า “จะเอายังไงกับกู ขับรถเป็นรึเปล่า แน่จริงจอดลงมาคุยกันหน่อยให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย”
[1]เนื้อความตอนที่กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยในสมัยนี้ มีลักษณะเป็นการยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ผู้อื่นเป็นผู้จารึก
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์