จูเซปเป ปาแตร์โน (Giuseppe Paterno) เกิดในเมืองปาแลร์โมบนเกาะซิซิลี (Sicily) ทางตอนใต้ของอิตาลีเมื่อเดือนกันยายน ปี 1923 หรือเกือบ 100 ปีที่แล้ว
ปาแตร์โนเป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้องเจ็ดคน เนื่องจากที่บ้านมีฐานะยากจน เขาจึงได้เรียนหนังสือแค่ชั้นประถมศึกษา ก่อนจะออกมาช่วยงานพ่อที่โรงกลั่นเบียร์
ในปี 1943 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกบนเกาะซิซิลี ปาแตร์โนก็กำลังรับใช้ชาติด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่โทรเลขของกองทัพอิตาลี เมื่อสงครามโลกจบลง แม้เขาอยากกลับไปเรียนอีกครั้งแต่ก็ต้องเก็บความฝันนั้นเอาไว้ เพราะภาระผูกพันในการดูแลครอบครัวที่บัดนี้มีตัวเล็กสองคนเป็นพยานรัก และการทำงานเพื่อสร้างชาติซึ่งบอบช้ำจากสงครามนั้นต้องมาก่อน
ในวัยย่างสามสิบ เมื่อลูกเริ่มโตพอ เขากลับไปไล่ตามความฝันอีกครั้ง ตอนกลางวันเขาทำงานประจำที่การรถไฟ ตกเย็นก็เข้าเรียน และอ่านหนังสือตอนกลางคืน จนได้วุฒิมัธยมปลายในวัย 31 ปี ที่จริงเขาอยากเรียนสูงกว่านี้ แต่ฐานะครอบครัวและความรับผิดชอบทำให้เขาต้องเก็บความฝันนั้นเอาไว้ในลิ้นชัก
วันเวลาล่วงมาจนถึงปี 2017 ปาแตร์โนในวัยเก้าสิบกว่าได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ – เขาจะลงเรียนระดับอุดมศึกษาในคณะประวัติศาสตร์และปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปาแลร์โม
“ผมบอกตัวเองว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็คงไม่มีโอกาสแล้ว” ปาแตร์โนกล่าว
แม้จะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี แต่เขาก็ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต เขาค้นคว้าจากหนังสือในห้องสมุดและทำรายงานด้วยเครื่องพิมพ์ดีดที่แม่ของเขาให้มาตั้งแต่ปี 1984
หน้าร้อนปี 2020 ซึ่งเป็นเทอมสุดท้ายของปาแตร์โน โรคโควิด-19 กำลังระบาดหนักในอิตาลี การเรียนการสอนในห้องเรียนถูกแทนที่ด้วยการสอนแบบออนไลน์ เขาจึงจำเป็นต้องฝึกใช้เมาส์และแล็ปท็อป
“เราเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของพ่อ ผมเลยบอกพ่อว่ายังไม่ต้องรีบสอบก็ได้ รอให้พ้นหน้าร้อนก่อนแล้วค่อยไปไล่สอบตอนฤดูใบไม้ร่วงก็ยังทัน” ลูกชายวัย 72 ปีของปาแตร์โนเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟัง “แต่พ่อไม่ยอม พ่อบอกว่าอายุปูนนี้แล้ว เขาไม่รู้ว่าจะอยู่จนถึงฤดูใบไม้ร่วงรึเปล่า”
ในที่สุด วันที่ 29 กรกฎาคม 2020 ปาแตร์โนก็เข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาด้วยการทำคะแนนสูงสุดของรุ่นและคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาครอง ในวัย 96 ย่าง 97 ปี เขาได้กลายเป็นบัณฑิตที่แก่ที่สุดในอิตาลีและอาจจะแก่ที่สุดในโลกด้วย
“เพื่อนบ้านถามผมว่า ทำไมผมต้องหาเรื่องเหนื่อยตอนแก่ แต่เขาคงไม่เข้าใจว่าการทำตามความฝันนั้นมีความหมายสำหรับผมแค่ไหน เรื่องอายุจึงไม่ใช่ประเด็นเลย”
“นี่คือวันที่ผมมีความสุขที่สุดในชีวิต เสียดายที่วันนี้ภรรยาของผมไม่ได้อยู่ด้วย เธอเสียไปได้ 14 ปีแล้ว”
ใครที่คิดว่าตัวเองแก่เกินเรียน หรือแก่เกินไปที่จะทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จแล้วละก็ หวังว่าเรื่องราวของคุณทวดปาแตร์โนคนนี้จะทำให้คุณฉุกใจได้นะครับ
คอลัมน์: มุมละไม
เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ LINE MAN Wongnai
ประวัติผู้เขียน
รูปของผู้เขียน