ตัวใหญ่ยังกะ ‘ยักษ์ปักหลั่น’ แน่ะ!

-

ยังมีสำนวนไทยซึ่งมีที่มาจากลักษณะและพฤติกรรมของตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งน่าสนใจอีกไม่น้อยที่ยังได้ยินอยู่บ่อยๆ ในปัจจุบัน เช่น ยักษ์ปักหลั่น  สิบแปดมงกุฎ ฯลฯ

 

ยักษ์ปักหลั่น

‘ปักหลั่น’ เป็นชื่อตัวละครในวรรณคดีบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เดิมเป็นเทวดาบริวารของพระอิศวร แต่บังอาจไปร่วมสมกับนางฟ้าชื่อเกสรมาลา จึงถูกพระอิศวรสาปให้เป็นยักษ์ลงมาเฝ้าสระโบกขรณีซึ่งอยู่กลางป่า ต่อเมื่อทหารของพระรามมาลูบหลังจึงจะพ้นคำสาป คืนวันหนึ่งยักษ์ปักหลั่นขึ้นมาจากสระเพื่อจับสัตว์กินเป็นอาหาร ในเวลานั้นทหารของพระรามชื่อองคต หนุมาน และชมพูพาน ซึ่งพระรามใช้ให้นำไพร่พลไปสืบข่าวนางสีดาที่กรุงลงกามานอนพักหลับอยู่ ยักษ์ปักหลั่นเห็นบรรดาวานรนอนหลับอยู่เกลื่อนโดยมีวานรทั้งสามนอนอยู่กลาง จึงตรงเข้าไปถีบวานรตัวสีเขียวซึ่งได้แก่องคต องคตโกรธชักพระขรรค์ไล่ฆ่า ทั้งสองต่อสู้กัน แต่ปักหลั่นแพ้ จึงถามว่าองคตเป็นใคร เมื่อรู้ว่าเป็นทหารของพระราม ก็เล่าเรื่องของตน และขอให้ช่วยลูบกายเพื่อจะได้พ้นคำสาป องคตเมตตาจึงลูบหลังให้ตามคำขอ ยักษ์ปักหลั่นจึงกลายร่างเป็นเทวดาเหาะขึ้นสู่สวรรค์

เมื่อมีผู้นำ ‘ยักษ์ปักหลั่น’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจึงหมายถึงชายผู้มีร่างกายใหญ่โตมาก เช่นเมื่อพิภพมาเล่าให้บรรหารเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นซึ่งสนิทกันว่า พรุ่งนี้หลังเลิกเรียน เดชาซึ่งชอบนักเรียนหญิงคนเดียวกันกับเขาได้นัดให้ไปดวลหมัดกันหลังโรงเรียน บรรหารได้ฟังก็ตกใจ พูดขึ้นว่า “เฮ้ย! ไอ้เดมันตัวใหญ่ยังกะยักษ์ปักหลั่น เอ็งจะรับมือมันไหวเรอะ คิดให้ดีนะ เดี๋ยวจะหาว่าข้าไม่เตือน”

สิบแปดมงกุฎ

สำนวน ‘สิบแปดมงกุฎ’ มาจากวรรณคดีบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นวานรที่มีชาติกำเนิดสูง คือเดิมเป็นเทวดาแล้วได้รับพรจากพระอิศวรให้ให้มาเกิดเป็นนายกองคุมพลเพื่อช่วยพระรามรบ ทุกตนล้วนมีธรรมะและความปรีชาสามารถมาก ดังกลอนที่ว่า “ล้วนมีปรีชาวรารุทร ทั้งสิบแปดมงกุฎศักดา” วานรเหล่านี้ถ้าต้องอาวุธตายแล้ว หากพระพายพัดมาก็จะฟื้นเช่นเดียวกับหนุมาน รายชื่อสิบแปดมงกุฎตอนจัดทัพมีดังนี้

          จึ่งจัดนายกองคุมทหาร สุเสนสุรกานต์แกล้วกล้า

อุศราศรรามปิงคลา มาลุนวาหโลมชาญยุทธ

เจ็ดนายให้คุมพลพลากร วานรนำสามสิบสมุทร

เกยูรรสคนธ์โคมุท ไวยบุตรมหทวิกัน

คุมพลนับสิบสมุทรไท ล้วนมีฤทธิไกรแข็งขัน

ทวิพัทมากันจวิก ได้บัญชาการวานร

สิบสมุทรสามารถอาจอง รณรงค์ห้าวหาญชาญสมร

ล้วนถืออาวุธครบกร ซับซ้อนโดยกระบวนยาตรา ฯ

                                                          ฯลฯ

 

          จัดเอานิลเอกนิลนน คุมพลสิบสมุทรแข็งขัน

ขุนนิลกับนิลปานัน สองนายนั้นมีปรีชา

ให้คุมวานรเจ็ดสมุทร ล้วนมีฤทธิรุทรแกล้วกล้า

นิลราชนิลขันผู้ศักดา คุมวานรห้าสมุทรไท

วิสันตราวีขุนนน โชติมุกข์สามตนเป็นนายใหญ่

ให้คุมพหลพลไกร ห้าสิบสมุทรใจห้าวฮึก

 

จะเห็นว่ามีวานรทั้งหมด 18 ตน ที่เป็นสิบแปดมงกุฎ ส่วนวานรอีก 3 ตน คือ วิสันตราวี ขุนนน  และโชติมุกข์ นั้นเป็นนายใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่คุมทัพใหญ่

เหตุที่เรียกวานรทั้ง 18 ตนว่าสิบแปดมงกุฎเพราะคำว่า ‘มงกุฎ’ แปลว่ายอดเยี่ยม หรือคำนี้อาจเกิดจากวานรทั้ง 18 ตนนี้สวมหัวทำด้วยดอกไม้หรือใบไม้เพื่อให้ต่างจากวานรธรรมดา

สำนวน ‘สิบแปดมงกุฎ’ แทนที่จะมีความหมายบวกตามต้นเค้าเดิม กลับมีความหมายในเวลาต่อๆ มาไปในทางลบ ใช้หมายถึงคนเลวที่มีเล่ห์เลี่ยมกลอุบายที่ลึกซึ้งนำมาหลอกลวงผู้อื่น เป็นคนไม่ควรคบหาสมาคมด้วย เช่น วิทย์เตือนน้องชายวัยรุ่นที่ไปเข้ากลุ่มพวกที่มีนิสัยและพฤติกรรมไม่ดีตอนหนึ่งว่า “แกอย่าไปสุงสิงสุมหัวกับพวกเจ้าเชี่ยวนะ มันเป็นพวกสิบแปดมงกุฎ คบแล้วมีแต่เสียกับเสีย”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!