สำนวนความเปรียบเกี่ยวกับภารกิจใดที่เป็นเรื่องง่ายดายไม่ซับซ้อน เรามักพูดกันว่า เรื่องกล้วยๆ หรือ ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ความเปรียบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กล้วยเป็นของหาง่าย มีอยู่ดกดื่นทุกเหย้าเรือน
สมัยก่อนกาลไม่นานเท่าไรนัก หนุ่มสาวเมื่อถึงวัยอันควรก็ต้องออกเรือนหรือแต่งงานแยกเรือนออกไปจากครอบครัวเดิม ก็แลในพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมแต่กี้แต่ก่อน ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องยกขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาว แลข้าวของในขบวนขันหมากที่ขาดไม่ได้คือ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแล้วก็นำไปปลูกไว้บริเวณใกล้ๆ เรือนหอหรือเรือนหลังใหม่ของคู่บ่าวสาว อีกไม่นานเกินปีกล้วยขันหมากก็ตกเครือ ขณะเดียวกันเมื่อคู่บ่าวสาวมีบุตรไว้สืบสกุลก็จะมีกล้วยน้ำว้างอมๆ ไว้เป็นอาหารของเด็กอ่อนตามวิถีบรรพชน
ครั้นบุตรค่อยเจริญวัยขึ้น ต้องทำขวัญเดือน โกนผมไฟ โกนจุก หากเป็นชายก็ได้บวชเรียน พิธีมัดังกล่าวกมีการทำขวัญ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีทำขวัญแต่ละคราวคือ “กล้วย” มักใช้กล้วยน้ำว้า ที่มาหรือชื่อดั้งเดิมของกล้วยพรรณนี้คือ “กล้วยน้ำละว้า” แสดงว่ากล้วยชนิดนี้เป็นที่นิยมบริโภคและปลูกกันแพร่หลายในหมู่ชาวละว้ามาก่อน
“กล้วยน้ำ” มีอยู่หลายชนิด เช่น กล้วยน้ำละว้า กล้วยน้ำไทย กล้วยน้ำกาบดำ และกล้วยน้ำเชียงราย เป็นต้น แต่ที่เรารู้จักมักคุ้นกันโดยทั่วไปก็เห็นจะได้แก่กล้วยน้ำว้าหรือกล้วยน้ำละว้า ส่วนกล้วยน้ำกาบดำกับกล้วยน้ำเชียงรายนั้นมืดแปดด้าน เคยได้ยินบ้างก็แต่ “กล้วยน้ำไท” สถานที่ทำเลหนึ่งละแวกคลองเตยต่อกับพระโขนง
แต่ครั้งโบราณ กล้วยมีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำ กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยครั่ง กล้วยนาก กล้วยฉัตร กล้วยหักมุก กล้วยตานี กล้วยหัวโต กล้วยกรามช้าง กล้วยหอมว้า ฯลฯ แต่ถึงวันนี้เรารู้จักอยู่ไม่กี่พวกกี่พรรณ ราวร้อยกว่าปีมาแล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือ พรรณพฤกษา ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2427 เพื่อเป็นแบบสอนอ่านสำหรับเด็กในโรงเรียนหลวงพระตำหนักสวนกุหลาบ หนังสือพรรณพฤกษานี้ทำให้ชนชรารุ่นปัจจุบันอย่างกระผมได้รู้จักชื่อพืชพรรณต้นไม้ใบหญ้าแปลกๆ หลายชนิด เป็นต้นว่า มะม่วง ทุเรียน รวมถึงกล้วยนานาพรรณ ซึ่งกระผมขอคัดมาให้อ่านกันเต็มอิ่ม
๏ กล้วยกล้ายมีหลายกระบวน กล้วยกรันจันนวล
อีกน้ำละว้าน้ำไทย
๏ กล้วยน้ำกาบดำก้านใบ คล้ายกับน้ำไทย
ผลใหญ่แลยาวกว่ากัน
๏ กล้วยกุเรียกกล้วยสั้นผัน เพี้ยนนามจำนัน
จะหนีที่คำหยาบคาย
๏ ตีนเต่าตีนตานีกลาย กล้วยน้ำเชียงราย
กล้วยส้มหากมุกมูลมี
๏ กล้วยน้ำนมราชสีห์ อีกกล้วยร้อยหวี
บายสีก็เรียกนามสอง
๏ หอมเขียวกล้วยค่อมหอมทอง หอมจันนวลลออง
อีกกล้วยที่เรียกเปลือกบาง
๏ นี่คือกล้วยไข่คำกลาง ท่านจัดแบบวาง
กล้วยกระกล้วยพระก็มี
๏ กล้วยครั่งดุจครั่งย้อมสี แดงจัดรุจี
ทั้งหวีทั้งเครือเจือแดง
๏ กล้วยนากเพียงนากเปล่งแสง กล้วยกรามแรดแดง
หนึ่งนามว่ากรามคชสาร
๏ กล้วยสีสะโตโวหาร เรียกแต่โบราณ
อีกกล้วยประจำพานร
๏ หนึ่งเล็บมือนางนามกร ตีบหอมขจร
บางเรียกว่ากล้วยกรบูร
๏ นางเงยสีงามจำรูญ กินดิบมีมูล
ภิมเสนแลสมนมสวรรค์
๏ หอมว้าตานีอารัญ อุบลปนกัน
กับตาลปัตรฤๅษี
๏ กล้วยแข้หนึ่งเรียกกัทลี กาบกมักมี
ข้างแดนละว้าป่าไกล
๏ มลิอ่องผิวอ่องอำไพ นางนวนยวลใจ
กล้วยไร่กะเหรี่ยงเรียกนาม
๏ พรรณกล้วยมีหลากมากตาม ประเทศเขตคาม
นิคมแลเขตดงดอน
ในหนังสือพรรณพฤกษา พระยาศรีสุนทรโวหารท่านบอกว่า กล้วยยังมีอีกหลายหลากมากชนิด “เหลือที่จะร่ำนามกร” ท่านกล่าวถึงแต่เฉพาะที่ผู้คน (ยุคนั้น) คุ้นเคย ถึงวันนี้กล้วยน้ำว้าที่เคยเป็นไม้ผลประจำทุกเหย้าทุกเรือน กลายเป็นสินค้าราคาไม่เบา หวีงามๆ ขายกันในห้างราคาเกือบร้อยเชียวนะครับ
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์