ในขณะที่ซูเปอร์ฮีโร่จาก Marvel อยู่ในภาวะขาลง ค่าย DC ก็กำลังตั้งไข่รออนาคตใหม่จากมือของเจมส์ กันน์ หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นคือ The Boys และซีรีส์ภาคแยกล่าสุด Gen V
Gen V แยกไปเล่าตัวละครชุดใหม่เป็นกลุ่มวัยรุ่นผู้มีพลังวิเศษที่ได้รับคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย Godolkin ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักศึกษาผู้มีพลังวิเศษมาอยู่ร่วมกัน ทุกคนต้องแข่งขันกันเพื่อให้ตนได้รับการโหวตติดอันดับต้นๆ ลุ้นโอกาสที่จะเป็นหนึ่งในทีมซูเปอร์ฮีโร่ The Seven เพราะมหาวิทยาลัยก็อยู่ในความดูแลของบริษัท Vought ซึ่งบริหารจัดการธุรกิจของซูเปอร์ฮีโร่
เหล่าคนหนุ่มสาวต่างชิงดีชิงเด่นหวังจะเป็นคนสำคัญโดยอาศัยพลังวิเศษของตัวเองเป็นแรงผลักดัน แต่หารู้ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยเองก็มีการทดลองลับๆ ในพื้นที่เรียกว่าในป่า ซึ่งเกี่ยวพันกับอนาคตของพวกเขาผู้มีพลังวิเศษ
Gen V ถ่ายทอดความเถื่อน ถ่อย ถึงเลือดถึงเนื้อ มาจาก The Boys ได้แบบไม่เสียชื่อ จะต่างกันชัดเจนก็ตรงที่การโฟกัสไปยัง ‘ชีวิตวัยรุ่น’
ความเป็นวัยรุ่น VS ความซูเปอร์ฮีโร่
Gen V ใช้พลังวิเศษมาเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เช่น
ตัวละครนำคือมารี มีพลังควบคุมเลือดใช้เลือดและเป็นอาวุธ ควบคุมการสูบฉีดเลือดในร่างกายได้ ฯลฯ
พอเธอเริ่มรู้จักพลังตัวเองก็ทำให้พ่อแม่เสียชีวิตเลย เพราะความตกใจที่แม่ผลักประตูห้องน้ำตอนเธอมีรอบเดือนครั้งแรกแล้วรู้สึกกลัวผสมอาย เธอไม่รู้ว่าอารมณ์ของเธอมีผลต่อพลัง เมื่อเกิดความกลัวกับอาย(หรืออาจโกรธด้วยที่แม่ไม่ยอมรอข้างนอกห้องน้ำ) ก็กระตุ้นให้เลือดรอบเดือนซึ่งส่อการเปลี่ยนแปลงสู่วัยรุ่นกลายเป็นอาวุธสังหารพ่อแม่ เป็นจุดตั้งต้นของความรู้สึกผิดและละอายใจ
การผูกเรื่องรอบเดือนกับสภาพอารมณ์ซึ่งเป็นสัญญาณของการเข้าสู่วัยรุ่นก็สอดคล้องกับพลังของตัวละครอื่นที่เขียนขึ้นมาสะท้อนชีวิตวัยรุ่นด้วย
ไม่ใช่แค่มารีที่สูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่เข้าวัยรุ่น เคตกับพลังควบคุมจิตใจผ่านการสัมผัสก็เช่นกัน
ถ้าเคตสัมผัสตัวใคร เธอก็สามารถบอกให้คนคนนั้นทำตามที่เธอสั่ง เคตเหมือนมารีคือตอนใช้พลังครั้งแรกก็เกิดความรู้สึกผิดและละอายใจ เธอแค่พูดไล่น้องชายด้วยความรำคาญแต่กลับทำให้เขาหายสาบสูญตลอดกาลที่ทำให้แม่ของเธอไม่ให้อภัยและทำให้เธอเป็นตัวประหลาดที่ครอบครัวไม่กล้าเข้าใกล้
เคตเลยเป็นตัวละครที่ถูกครอบครัวทอดทิ้ง (neglected child) หมกมุ่นอยู่กับการโทษตัวเองเฉกเช่นมารี
มารีมีรูมเมตชื่อ เอมมา กับพลังวิเศษที่สามารถย่อ-ขยายร่างตัวเองผ่านการล้วงคอให้อาเจียนเหมือนกลุ่มอาการแบบ eating disorder ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่มักพบในช่วงวัยรุ่น
เพื่อนร่วมรุ่นของเธอชื่อ จอร์แดน ลี กับพลังวิเศษที่สลับเพศหญิง/ชาย ถ้าเป็นหญิงก็สามารถปล่อยพลังใส่คู่ต่อสู้ แต่ถ้าเป็นชายก็สามารถรับพลังกระแทกได้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพลังจาก bi-gendered
ในขณะที่ชีวิตของจอร์แดนตอนไม่ใช้พลังต่อสู้ก็ใช้พลังสลับเพศไปมา เช่น เมื่อต้องทำงานหรือเข้าหาผู้ใหญ่โดยหวังแสดงความเก่งเพื่อหางานทำก็จะเป็นผู้ชาย ตามค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้พลังเพื่อประโยชน์ เขาอาจเป็น transgender ผู้พอใจกับการเป็นหญิงทั้งที่พ่ออยากให้เป็นชาย แต่เมื่อมีพลังเขาจึงสามารถเปลี่ยนเพศสลับไปมาได้ตามความพอใจ
วัยรุ่น VS ผู้ใหญ่
พลังวิเศษของเหล่าวัยรุ่นในซีรีส์ Gen V อาจเทียบได้กับความสามารถพิเศษของคนธรรมดาในโลกจริง
‘ความสามารถพิเศษ’ ควรเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่วัยรุ่นคนหนึ่งสามารถใช้ต่อยอดอนาคตของตัวเองได้ แต่ในซีรีส์กลับทำให้เห็นว่ามันเป็น ‘ภาระ’ ที่ถูกกดดันและคาดหวังจากผู้ใหญ่ไม่ว่าจะพ่อแม่หรืออาจารย์
ความสามารถพิเศษควรเป็นแค่ ‘ตัวเลือกหนึ่ง’ ในชีวิตว่าจะใช้มันต่อไปอย่างไร กลายเป็นภาระที่วัยรุ่นถูกบังคับให้ต้องใช้มันเป็น ‘ตัวเลือกเดียว’สำหรับเบิกทางไปสู่ความสำเร็จ
==
- เอมม่ามีแม่ผู้คิดแต่เรื่องชื่อเสียงเงินทองผ่านการขายลูกสาว
แม่ของเธอพาโปรดิวเซอร์รายการทีวีมาแนะนำเพื่อให้ลูกไปแสดงในรายการเรียลิตี้ที่ตั้งใจเน้นเรื่อง eating disorder เป็นจุดขายคนดู เป็นการสะท้อนความเจ็บปวดและรู้สึกแย่ในเรื่องภาพลักษณ์ของเอมม่า แต่เธอมองว่านี่คือชีวิตส่วนตัว คือ privacy ไม่ใช่เรื่องที่เธออยากเอาไปเปิดเผยต่อสาธารณะ
เมื่อเอมม่าบอกแม่ว่าวิธีการแบบนี้เป็นการหลอกใช้ (exploit) เธอหวังว่าแม่จะเข้าข้างด้วยและปฏิเสธฝรายการทีวีไป แต่แม่ผู้อยากให้เธอเป็นคนดังโดยหวังความร่ำรวยก็กล่อมเอมม่าต่อว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงคนก็ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน นั่นทำให้เอมม่าโกรธและผิดหวังที่แม่มองเห็นเธอเป็น ‘ลูกจ้างหรือสินค้า’ มากกว่าเป็นลูกสาว
- จอร์แดน ลี มีพ่อแม่ผู้หมกมุ่นกับความสำเร็จ
จอร์แดนมีพ่อแม่ที่ดูอบอุ่นแต่กดดันอยู่ตลอดเวลา เวลาพ่อคุยเรื่องลูกกับคนอื่นก็จะเน้นแต่ส่วนของการเป็นชาย มองว่าลูก ‘ควรเลือกเป็นผู้ชาย + เป็นผู้ชายเท่านั้นจึงจะทำให้พ่อรู้สึกภูมิใจ’
พ่อพยายามหาทางขายความเก่งในอดีตของลูกจนเหมือนการพรีเซนต์ผลงาน ยังเข้าใจว่าที่ลูกเปลี่ยนสลับเพศเป็นผู้หญิงเป็นการแกล้งพ่อให้ไม่พอใจ พ่อแม่เหมือนไม่ยอมรับการมีอยู่ของ ‘ความแตกต่าง / ความหลากหลายทางเพศ’
Us Vs Them
ไม่ว่าจะเป็น The Boys หรือ Gen V ก็มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งเมื่อพูดถึง ‘ผู้มีพลังวิเศษ’ คือการมีสถานะแปลกปลอมกับเป็นอื่น
มนุษย์ธรรมดาที่ไม่มีพลัง เมื่อตระหนักถึงการมีอยู่ของคนมีพลังวิเศษ แม้อีกฝ่ายยังไม่รุกรานก็รู้สึกถึงการคุกคาม เพราะผู้มีพลังวิเศษมีทั้งคนดีและคนชั่วร้าย หากเป็นคนชั่วร้ายแล้วมีอำนาจเหนือมนุษย์ เริ่มทำเรื่องผิดๆ ก็ยากที่มนุษย์จะยับยั้ง
สำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวซูเปอร์ฮีโร่มาพอดู ย่อมรู้สึกว่า Gen V มีส่วนคล้ายหนังในตระกูล X-men คือการแบ่งแยกระหว่างพวกเรา (us) กับ พวกมัน (them)
กลุ่มผู้มีพลังวิเศษนอกจากกลุ่มที่คิดว่า ‘พวกเราเหนือกว่ามนุษย์’ และต้องการอยู่ในชนชั้นบนสุดของสังคม เริ่มต้นสงครามและวางแผนการเป็นใหญ่แล้ว ก็ยังมีกลุ่มที่คิดว่า ‘พวกเรากับมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้แบบปรองดอง’ ไม่ได้ต้องการปกครองหรือกดขี่คนธรรมดา หาทางยุติสงครามโดยยืนเคียงข้างมนุษย์
ในทางกลับกัน มนุษย์ธรรมดาผู้ไร้พลังก็มีทั้งฝ่ายที่พยายามจะปรองดองเพราะเชื่อว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่าง และฝ่ายที่คิดว่าจำเป็นต้องควบคุมพวกที่มีพลังวิเศษ ไม่อย่างนั้นอาจต้องตกเป็นทาสหรืออาจถึงขั้นสูญพันธุ์
ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีทั้งผู้รักสันติ ยินดีที่จะหาหนทางปรองดอง เชื่อในความหลากหลายของพฤติกรรมมนุษย์ และผู้ใช้ความรุนแรงเพื่อหวังปกครองอีกฝ่าย และหากถูกควบคุมหรือกดขี่จนหาทางออกไม่ได้ ก็พร้อมจะใช้ความรุนแรงเพื่อปลดแอกตัวเอง โดยไม่สนว่าอีกฝ่ายที่เป็นผู้บริสุทธิ์จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
บทหนังที่แบ่งแยกเป็นสองกลุ่มขัดแย้ง (คนมีพลัง VS คนธรรมดา) ไม่ใช่แค่วงจรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหนังตระกูลซูเปอร์ฮีโร่ แต่คือวงจรอารยธรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานผ่านกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่มีรูปแบบ Us Vs. Them
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’
( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )
ภาพ: อินเทอร์เน็ต