ขอให้ช่วย ‘ลูกช้าง’ ให้ได้สมปรารถนาด้วยเถิด
ในฉบับเดือนมิถุนายนผู้เขียนได้นำเสนอสำนวนไทยที่เกี่ยวกับสัตว์ใหญ่คือเสือและจระเข้มาแล้ว ฉบับนี้จึงจะเขียนถึงสัตว์ใหญ่อีกสองชนิดได้แก่ ช้าง และม้า ในสำนวน ลูกช้าง, ล้มช้าง และม้ามืด
ลูกช้าง
ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่และพละกำลังมหาศาลที่สุดในโลก ช้างเลี้ยงลูกด้วยนม ไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่อาหารจำพวกพืช เช่น อ้อย ไผ่ หญ้า ฯลฯ จากประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ช้างเป็นสัตว์ที่มีความน่าสนใจยิ่ง เพราะนอกจากเป็นพาหนะของกษัตริย์และเจ้านายแล้ว ในด้านการทำศึกสงคราม ในงานพระราชพิธี การเกษตรกรรม การก่อสร้าง ฯลฯ ช้างก็มีบทบาทโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์
ส่วนคำ ‘ลูกช้าง’ นั้นนอกจากจะมีความหมายตามตัวอักษรว่าเป็นลูกของช้างแล้ว ยังมีการนำมาใช้เป็นสำนวนให้หมายถึงคนที่ใช้เป็นสรรพนามแทนตัวขณะทำการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยอำนวยพรให้ตนสมประสงค์ในเรื่องที่ปรารถนา แนวคิดดังกล่าวนี้มีอยู่ในหมู่ชนชาวเอเชียที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูซึ่งเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ บางคนเชื่อว่าถ้าบูชาหรือศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพองค์ใดแล้วสิ่งนั้นเทพนั้นจะดลบันดาลให้ได้รับความสำเร็จสมหวังไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน การเงิน ความรัก ฯลฯ เทพองค์หนึ่งที่คนนิยมบูชาคือพระพิฆเนศวรหรือพระพิฆเนศซึ่งเป็นโอรสของพระอิศวรและพระอุมาเทวี เป็นเทพที่มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว พระพิฆเนศได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ความสำเร็จในทุกศาสตร์และสรรพสิ่ง สันนิษฐานว่าการที่ผู้บูชาบางคนใช้คำแทนตนว่าลูกช้างนั้นจะสื่อความหมายว่าตนเป็นลูกพระพิฆเนศ ต่อมาคำ ‘ลูกช้าง’ ก็เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพองค์อื่นๆ ด้วย เช่น วันหนึ่งป้าทิพย์กับป้าแย้มชวนกันไปยังสถานที่แห่งหนึ่งที่ประดิษฐานพระพิฆเนศ ขณะกราบไหว้บูชาป้าทิพย์ได้อธิษฐานในใจว่า “ลูกช้างขอให้ชีวิตในบั้นปลายมีความสุขกายสบายใจ อย่ามีเภทภัยใดๆ มาเบียดเบียนเลย ลูกช้างจะทำแต่ความดีตลอดจนสิ้นอายุ”
ล้มช้าง
ดังได้กล่าวมาแล้วในสำนวน ‘ลูกช้าง’ ว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทรงพลังและมีบทบาทสำคัญหลายด้าน การจะทำให้ช้างล้มคือช้างตายนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแต่ก็สามารถทำได้ ต่อมามีการใช้สำนวน ‘ล้มช้าง’ อย่างแพร่หลายในบางช่วงเวลา เช่นเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนทองถิ่น การแข่งขันชกมวยระดับชาติ ฯลฯ
สำนวน ‘ล้มช้าง’ ใช้ในความหมายเปรียบว่าสามารถโค่นล้มคู่แข่งที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจหรือมีความสามารถได้อย่างน่าชื่นชมเกินคาด เช่นหลังจากผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประกาศออกมา ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นชายหนุ่มที่ไม่มีใครคิดว่จะเอาชนะผู้สมัครผู้สูงอายุซึ่งมีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการบริหารส่วนท้องถิ่นมาก่อนได้ ในวงสนทนาของผู้สนใจเรื่องนี้จึงมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้น ตอนหนึ่งชัยพูดขึ้นว่า “ใครจะคิดว่าเลือกตั้งคราวนี้จะมีการล้มช้างเกิดขึ้น ก็ดีเหมือนกัน หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ที่ดีๆ กว่าเดิมเกิดขึ้นบ้าง”
ม้ามืด
‘ม้ามืด’ มีความหมายตามตัวอักษรว่าเป็นม้าที่อยู่ในที่มืด ไม่มีใครมองเห็น เป็นม้านอกสายตาไม่เหมือนม้าที่อยู่ในที่สว่างซึ่งใครๆ ก็เห็น
ได้มีผู้นำ ‘ม้ามืด’ มาใช้เป็นสำนวนให้มีความหมายเปรียบให้หมายถึงผู้ซึ่งไม่เป็นที่ประจักษ์ว่ามีคุณภาพ ความสามารถ หรือความงามเท่ากับผู้ที่เข้าร่วมในการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่ง เช่น การประกวดนางงาม การแข่งกีฬา ฯลฯ แต่ในที่สุดผลปรากฏว่าผู้นั้นได้ชัยชนะจนเป็นที่กล่าวขวัญถึง ดังในการประกวดนางสาวไทยปีหนึ่ง ผู้ที่ได้ครองมงกุฎเป็นผู้ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเธอจะเข้าถึงรอบสุดท้ายเพราะหน้าตาไม่สวยเด่นมาก แต่คณะกรรมการกลับมีความเห็นว่าเธอมีความโดดเด่นในด้านบุคลิกที่สง่างาม เฉลียวฉลาด และมีไหวพริบปฏิภาณในการตอบคำถามได้อย่างฉาดฉานน่าประทับใจ หลังการประกาศผลผู้ชมการประกวดบางคนซุบซิบวิจารณ์กัน นรีพูดกับศุลีพรว่า “เด็กคนนี้เป็นม้ามืดจริงๆ ใครจะคิดว่าเธอจะเข้าวินในรอบสุดท้าย แต่ฉันก็เห็นด้วยกับคณะกรรมการนะว่าเธอควรได้สวมมงกุฎนางสาวไทยปีนี้”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย / เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์