โธ่! “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”

-

มีสำนวนไทยหลายสำนวนที่สื่อพฤติกรรมในด้านลบของบางคน ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด หรือการกระทำ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสีย สำนวนที่ได้ยินได้ฟังเสมอๆ เช่น “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”, “ยุให้รำ ตำให้รั่ว”, “สุ่มสี่สุ่มห้า” เป็นต้น

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด

“ศัพท์” ในที่นี้แปลว่าถ้อยคำหรือเรื่องราว “กระเดียด” แปลว่าเอาเข้าสะเอว คือนำมาอุ้มแนบเอว

เมื่อ “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวน หมายถึงฟังถ้อยคำหรือเรื่องราวไม่ชัดเจนแล้วนำไปคิด พูด หรือทำ ก็อาจทำให้เกิดผลเสียหรือมีปัญหา เช่น แม่พูดทำความเข้าใจกับลูกสาวซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 ตอนหนึ่งว่า “ทำไมถึงฟ้องพ่อว่าแม่ไม่ยอมให้หนูเรียนพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์ล่ะ หนูฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียดนะ เพราะแม่แค่บอกว่า ถ้าหนูตั้งใจเรียน ขยันทำการบ้าน และหมั่นท่องหนังสือก็พอแล้ว ไม่น่าจะต้องเดินทางให้เหนื่อย เสียเวลาและเสียเงิน แต่ถ้าหนูอยากเรียนจริงๆ แม่ก็ตามใจ ไม่ได้ห้ามอะไร”

ยุให้รำ ตำให้รั่ว

“รำ” ในที่นี้เป็นคำในภาษาถิ่น หนังสือพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ให้ความหมายไว้หลายความหมาย แต่ที่เข้ากับบริบทในที่นี้หมายถึง เข่นลง หรือทำให้ยุบลง หรือทุบ

“ยุให้รำ” จึงมีความหมายตรงตามตัวอักษรว่ายุให้คนตีกัน และ “ตำให้รั่ว” หมายถึงทิ่มตำให้ภาชนะหรือสิ่งของจนทะลุ แตกเป็นรูรั่ว ครั้นนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบจึงมีความหมายว่ายุให้คนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มคนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแตกแยกหรือแตกความสามัคคีกัน เช่นเมื่อจิ๋วมาปรับทุกข์กับแดงว่า ตั้งแต่นงเพื่อนสนิทของเธอไปคบกับพิศ นงก็เปลี่ยนไป บางครั้งพูดด้วยก็พูดตอบอย่างเสียไม่ได้ ไม่รู้ว่าโกรธกันด้วยเรื่องอะไร แดงรับฟังแล้วก็พูดว่า “ โธ่! ยายพิศน่ะ คบกับใครก็ทำให้คนเขาผิดใจกันอยู่เรื่อย เพราะเจ้าหล่อนมีนิสัยชอบยุให้รำ ตำให้รั่ว เธอไม่ต้องสนใจ อีกไม่นานนงก็จะรู้เองแหละ”

สุ่มสี่สุ่มห้า

คนในชนบทมีเครื่องมือจับปลาหลายชนิด  เช่น แห สุ่ม ฯลฯ  สุ่มที่ใช้ครอบปลาสานด้วยไม้ไผ่เป็นตาๆ  มีลักษณะโค้งกลม ยาวรีลงมา ส่วนล่างกว้างกว่าส่วนบน ตรงกลางของส่วนบนทำเป็นช่องสำหรับให้มือล้วงลงไปถึงด้านล่างได้  คนจะใช้สุ่มจับปลาตามแหล่งน้ำที่ไม่กว้างนัก มีน้ำลึกประมาณหัวเข่า และมีวัชพืชปกคลุมผิวน้ำ โดยการถือสุ่มลุยน้ำไปบริเวณที่คิดว่าจะมีปลาหลบอยู่ข้างใต้ และถ้าแน่ใจว่าจะมีปลาตรงไหนก็ใช้สุ่มครอบกดลงไปตรงนั้น แล้วเอามือล้วงลงไปควานหาก็จะได้ปลาสมใจ  แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะมีปลาอยู่แล้วเดาโดยใช้สุ่มครอบลงไป บางครั้งสุ่มไปสี่ทีห้าทีก็อาจไม่ได้ปลาสักตัว

เมื่อใช้ “สุ่มสี่สุ่มห้า” เป็นสำนวนเปรียบจะหมายถึงก่อนจะทำอะไรให้สำเร็จผลต้องมีความมั่นใจ  มิฉะนั้นอาจล้มเหลวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น พ่อถามลูกสาวที่จะไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแห่งหนึ่งว่า “ลูกรู้เส้นทางไปวัดดีแล้วหรือยัง ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าขับหลงทางไปจะยุ่ง ลูกกับเพื่อนที่จะไปด้วยก็ต้องช่วยกันหาข้อมูลให้แน่ใจ พ่อแม่จะได้ไม่ห่วง”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ:   ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!