หนึ่งปีผ่านไป ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เยอะที่สุด แพงที่สุด อย่างหนึ่งของคนไทย คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้เติมรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์เดินทางไปไหนมาไหน ถ้าหวังพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ ก็ยังไม่ได้มีทั่วถึงทุกที่ทุกจังหวัด แถมราคาค่าโดยสารก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้กัน
ราคาน้ำมันที่จำหน่ายกันตามสถานีน้ำมันในประเทศไทยนั้น มีผลกระทบหลักจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และความต้องการใช้น้ำมันในประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายปีจะมีความต้องการใช้พลังงานกันทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเขตหนาว ทั้งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับสร้างความอบอุ่น และใช้กับยานพาหนะเดินทางไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนท่องเที่ยวกัน ในช่วงฉลองวันหยุดคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
โครงสร้างของราคาน้ำมันที่คนไทยต้องจ่าย ไม่ได้มีเพียงราคาของเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่ผ่านการกลั่นจากน้ำมันดิบมาแล้ว (หรือราคาหน้าโรงกลั่น) เท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพสามิต ตามพิกัดอัตราภาษีของน้ำมันแต่ละชนิด, ภาษีเทศบาล ที่จ่ายให้หน่วยงานท้องถิ่น, หักเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน, หักเข้ากองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสุดท้ายคือ ค่าการตลาด ซึ่งเป็นกำไรโดยตรงให้แก่ผู้ค้าน้ำมันแต่ละยี่ห้อ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้ราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศไทย แตกต่างกับของประเทศเพื่อนบ้าน และมักจะแพงกว่าประเทศที่มีการชดเชยค่าบางส่วนให้แก่ประชาชนของเขา
ทางออกหนึ่งสำหรับท่านที่เริ่มทนแบกค่าน้ำมันแพงไม่ไหว คือการหันไปใช้ยานยนต์ทางเลือก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV, electric vehicle) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง เนื่องจากการชาร์จไฟฟ้า มีราคาถูกกว่าเติมน้ำมัน จะชาร์จไฟตามสถานีชาร์จหรือชาร์จเองที่บ้านก็ได้ แถมเป็นรถยนต์ที่มีอัตราเร่งดี ออกตัวได้ดี เงียบ ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ปล่อยก๊าซไอเสียออกมาเหมือนรถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพียงแต่ข้อเสียก็คือจุดบริการชาร์จไฟสาธารณะ ที่ยังมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือรถยนต์ชนิดไฮบริด ซึ่งมีการทำงานร่วมกันทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาป ก็น่าจะยังเป็นที่นิยมไปอีกหลายปี ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถอีวีอย่างพร้อมสรรพ และคำถามเกี่ยวกับ “การเติมน้ำมันเต็มถังดีหรือไม่? ” ก็น่าจะยังเป็นประเด็นที่ควรทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง
ตัวอย่างเช่น มีการแชร์ข้อความเตือนภัยในโซเชียลว่า “เวลาไปเติมน้ำมันรถยนต์นั้น ให้เติมแค่ครึ่งถัง อย่าเติมจนเต็มถัง เพราะสุ่มเสี่ยงจะเกิดอันตรายจากการขยายตัวของไอน้ำมันเมื่ออากาศร้อน เนื่องเครื่องหมายที่ติดไว้กับถังน้ำมันไม่ใช่ความจุสูงสุดที่แท้จริง เมื่อน้ำมันเต็มถัง อาจเกิดการระเบิดขึ้นได้เองในวันที่อากาศร้อนจัด”!?
แต่ไม่เป็นความจริงอย่างที่แชร์กัน ถ้ารถยนต์ของเราอยู่ในสภาพสมบูรณ์ การเติมน้ำมันให้เต็มถังจนน้ำมันล้นเข้าไปที่ท่อระบายไอนั้น ย่อมเป็นไปได้ยากมาก ผู้ผลิตรถยนต์เองก็ได้ออกแบบมาเผื่อไว้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันล้นไปถึงจุดระบายไอระเหย ยิ่งถ้าบอกว่าเติมน้ำมันเต็มถังแล้วจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายนั้น ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย
การเติมน้ำมันจนถึงระดับสูงสุดของถังน้ำมัน ไม่ได้เป็นต้นเหตุให้ถังน้ำมันเกิดระเบิดขึ้น อันที่จริง ถึงแม้เราจะบอกให้เจ้าหน้าที่สถานีน้ำมันเติมน้ำมันให้เต็มถัง ทว่าปริมาณน้ำมันที่ผ่านหัวจ่ายมาย่อมแล้วแต่เซนเซอร์ที่จะตัดการทำงานตามแรงดันของไอน้ำมันในถัง น้ำมันจึงไม่ได้ถูกเต็มเข้าไปจนเต็มความจุของถังจริงๆ หรือต่อให้พยายามเติมเข้าไปอีกจนเต็มเปี่ยม น้ำมันก็จะล้นออกมาผ่านช่องระบายของถัง นอกจากนี้ รถยนต์ทุกคันได้รับการออกแบบมาให้เป็นระบบปิด มีถังดักไอน้ำมันเชื้อเพลิง ตัวถังน้ำมันเลยมีความแข็งแรงสูง สามารถรองรับแรงดันจากไอน้ำมันในถังได้ การเติมน้ำมันเต็มถังจึงไม่เป็นชนวนให้เกิดการระเบิดอย่างที่กล่าวอ้างกัน
ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงในถังน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล ต่อให้สภาพอากาศร้อนจัดแค่ไหน ก็ไม่สามารถติดไฟลุกไหม้ขึ้นเองได้ เพราะถ้าน้ำมันจะสันดาปติดไฟลุกไหม้ ต้องอาศัยตัวที่สร้างความร้อนขึ้นในห้องเครื่อง อย่างเช่นหัวเทียน มาสปาร์กสร้างประกายไฟสร้างความร้อนให้เกิดการเผาไหม้ไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิงจะลุกไหม้ติดไฟเองได้ ต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 250 องศาเซลเซียส ดังนั้น ถึงเราจะจอดรถตากแดดไว้ในบริเวณที่อุณหภูมิสูงถึง 40-50 องศาเซลเซียส ก็ยังคงปลอดภัยแน่นอน
ที่แปลกไปกว่านั้นคือ มีการเตือนกันอีกด้วยว่า “อย่าเติมน้ำมันให้เต็มถัง เราจะขาดทุนเป็นร้อย เพราะน้ำมันค้างสายจะไหลกลับคืนเข้าตู้ของปั๊ม เด็กปั๊มจะได้ครั้งละสิบบาท ฯลฯ” เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เพราะเงินค่าน้ำมันซึ่งเราจ่ายตามตัวเลขที่แสดงบนหน้าปัดตู้จ่ายน้ำมันนั้น คิดจากปริมาณน้ำมันที่ผ่านหัวจ่ายออกมา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับน้ำมันที่ค้างอยู่ในสายเติมน้ำมัน ซึ่งภายในของสายมีน้ำมันเต็มตลอดเวลาอยู่แล้ว อากาศจากภายนอกไม่สามารถเข้าไปในสายน้ำมันได้ จึงเกิดเป็นระบบ close loop คือน้ำมันจ่ายออกได้อย่างเดียว ไม่ไหลย้อนกลับ
คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเติมน้ำมันรถยนต์ก็คือ เราไม่ควรรอจนกระทั่งน้ำมันหมดถังและมีไฟเตือน เพราะถ้าน้ำมันเหลือน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการหล่อลื่นและควบคุมอุณหภูมิการทำงานของอุปกรณ์ในระบบเครื่องยนต์ เช่น ปั๊มติ๊ก ก็จะทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนัก และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จึงควรจะเติมทันทีเมื่อน้ำมันเหลือแค่ 1 ใน 4 ของถัง และเติมจนถึง 3 ใน 4 ของถังน้ำมัน เพื่อถนอมการทำงานของเครื่องยนต์ และยังช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้ เพราะการปล่อยให้น้ำมันหมดถังนั้น ก็จะเกิดพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำมันระเหยกลายเป็นไอได้ง่ายและรวดเร็ว
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ภาพ: อินเทอร์เน็ต