อึ้งกันไปทั้งโซเชียล กับเมนูเปิบพิสดาร “กบชาบู สดขนาดที่ตัดหัวแล้ว ก็ยังดิ้นได้อยู่” คลิปวิดีโออาหารประหลาดผ่านแอปพลิเคชัน Tiktok ที่มีการเอากบมาตัดหัว ลอกหนัง ควักเครื่องในออก แล้วทำเป็นวัตถุดิบอาหาร ให้ลูกค้าเอาไปใส่หม้อชาบูต้มด้วยตนเอง ทั้งที่มันยังคลานกระดืบๆ หนีตะเกียบอยู่เลย เหมือนวัดใจลูกค้าว่าจะกล้าลองกินไหม
ถึงแม้ว่าเมนูชาบู “กบหัวขาด กลับดิ้นได้” นี้ดูน่าหดหู่ ไม่น่ากินเอาเสียเลย แต่ในความเป็นจริง มันเป็นกบที่ตายแล้ว เนื่องจากไม่มีส่วนหัวและสมอง ที่พอจะนับว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ว่าลูกค้ากำลังเอากบเป็นๆ มาต้มน้ำซุปกินกัน
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมเจ้ากบหัวขาดนี้ถึงขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ได้ ยังกับมีชีวิต ทั้งที่สมองไม่อาจสั่งการได้แล้ว คำตอบคือ มันเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทต่างๆ ของร่างกายกล ที่ยังยืดและหดตัวได้เมื่อถูกกระตุ้น ผ่านกลไกของร่างกายที่เรียกว่า reflex reaction หรือปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ ในขณะที่มันพึ่งตายไม่นานนัก
เรื่อง “กบซอมบี้” นี้ จะคล้ายกันไหมกับเรื่องที่เคยได้ยินตอนเด็กๆ ว่า สมัยก่อนเวลาคนเชื้อสายจีนเตรียมไหว้เจ้าตรุษจีน ก็จะซื้อไก่มาฆ่าเอง แล้วมีหลายบ้านที่เจอว่า เอาไก่มาตัดคอจนหัวหลุดไปแล้ว ไก่มันยังวิ่งหนีได้ !?
โดยทั่วไปสัตว์ต่างๆ มีสมองตรงส่วนหัว สมองมีหน้าที่ควบคุมการทำงานแทบทุกอย่างของอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย ยกเว้นระบบประสาท (nervous system) ซึ่งเป็นเครือข่ายเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างสมองกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผ่านเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord) และทำให้ร่างกายสามารถขยับเขยื้อนได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าไก่ถูกตัดหัวแล้ว แต่ถ้าไขสันหลังและระบบประสาทยังใช้การได้ ไก่ตัวนั้นก็ย่อมสามารถเคลื่อนที่ วิ่งไปมาได้ เพียงแต่ว่าอีกไม่นานนัก มันก็จะหยุดวิ่ง และล้มลงตายเพราะไม่มีสมองสั่งการ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ อันเกิดจากการที่กระแสประสาท ซึ่งคล้ายกับไฟฟ้าและเกิดขึ้นเมื่อร่างกายถูกกระตุ้น ได้ถูกส่งผ่านเส้นประสาทไปยังไขสันหลัง แล้วส่งกลับมายังกล้ามเนื้อร่างกาย ให้ตอบสนองด้วยการหดตัวหรือคลายตัว โดยอยู่นอกการควบคุมของจิตใจและเกิดขึ้นอย่างแทบฉับพลันทันที ไม่จำเป็นต้องผ่านการคิดในสมอง คล้ายๆ กับการที่เราถูกจักจี้ที่เท้า แล้วเท้าขยับเองได้ โดยไม่ต้องคิดว่า “ฉันโดนจักจี้เท้า ฉันต้องขยับหนีนะ”
แต่ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ของร่างกายคนจะหยุดการทำงานเมื่อสมองตายหรือไม่มีสมองแล้ว เราไม่สามารถมีชีวิตรอดได้โดยไม่มีสมอง เพราะสมองนั้นทำงานร่วมกันกับระบบประสาทส่วนกลางที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ แม้แต่การหายใจก็ยังถูกควบคุมการทำงานด้วยสมอง เช่นเดียวกับไก่ที่ถูกตัดหัว อาจดูเหมือนมีชีวิตอยู่ได้ชั่วขณะก่อนจะตาย ขนาดเจ้าไมค์ (Mike) ไก่หัวขาดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1945 ก็ถูกตรวจพบภายหลังว่า จริงๆ แล้ว มันยังมีสมองบางส่วนติดอยู่กับต้นคอที่คงเหลือ มันจึงมีชีวิตต่อมาถึง 1 ปีครึ่งโดยไม่มีส่วนหัว ก่อนตายในที่สุด
ย้อนมายังเจ้ากบซอมบี้ตัวนั้น มีการทดลองให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า ถึงกบจะโดนตัดหัวทิ้ง มันก็ยังคงเตะขาถีบได้ ถ้ามีการกระตุ้นที่ตัวของมัน แถมปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ของกบ ยังเกิดขึ้นเมื่อมันถูกผ่าตัดเอาสมองออกจากหัวด้วย ผลการทดลองของนักประสาทวิทยา ชื่อ เดวิด เฟอร์เรียร์ (David Ferrier) ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 พบว่า กบที่ยังมีหัวอยู่ แต่ถูกผ่าเอาสมองออกและถือว่าตายแล้วนั้น กลับพฤติกรรมคล้ายกับกบปรกติ กล่าวคือ ถ้าจับมันหงายท้อง มันก็จะพลิกตัวกลับเองได้ หรือถ้าจิ้มที่เท้า มันก็จะกระโดดหนี แล้วถ้าโยนลงอ่างน้ำ มันก็สามารถว่ายไปจนถึงขอบอ่างและปีนออกมาได้ แถมถ้าไปจิ้มหลัง มันก็สามารถส่งเสียงร้องด้วย เพราะยังมีอวัยวะที่สร้างเสียงได้อยู่
เฟอร์เรียร์รายงานเพิ่มเติมว่า ถ้ามีการให้พลังงานแก่กบที่ถูกผ่าเอาสมองออกแล้ว กบตัวนั้นก็จะสามารถตอบสนองแรงกระตุ้นของสิ่งเร้าต่อไปได้อีกนาน มันเลยแสดงพฤติกรรมคล้ายกบที่ยังมีชีวิตอยู่เรื่อยๆ จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะรู้สึกเบื่อที่ต้องค่อยจิ้มกระตุ้นมันเล่น อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์นี้คือ กบที่ไม่มีสมองแล้วกลับแสดงพฤติกรรมต่างๆ ตามที่ถูกกระตุ้นอย่างคงที่ และคงที่สม่ำเสมอยิ่งกว่ากบที่ยังมีสมองอยู่เสียอีก นั่นสะท้อนว่า สมองอาจเป็นตัวกดหรือตัวกีดขวางการแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นเอาไว้ในชีวิตปรกติ
นอกจากกบแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่สามารถแสดงพฤติกรรมได้ แม้ดูเหมือนว่ามันตายไปแล้ว อันเป็นผลจากปฏิกิริยาของอวัยวะในร่างกาย ตัวอย่างเช่น หัวใจของเต่า ซึ่งแม้จะออกมานอกตัว ก็ยังเต้นต่อไปได้นานหลายสิบนาที หรือแมลงหวี่ตัวเมียที่ถูกตัดหัว กลับยังเดินยังบินได้ รวมถึงแมงมุมบางชนิดที่แม้ตายแล้ว แต่ตัวผู้ก็ยังผสมพันธุ์ได้อยู่
เมื่อเราเจองูพิษ หลายคนคิดว่าต้องหาทางฆ่ามันด้วยการตัดหัวทิ้งเสีย จะได้ไม่โดนกัด แต่หารู้ไม่ว่าเราอาจคิดผิดอย่างมหันต์ เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับที่ถูกตัดหัว แต่หัวของมันยังพยายามจะกัดใครก็ตามที่เข้าไปใกล้ แม้ว่ามันได้ตายมาสักระยะหนึ่งแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทั้ง 2 ด้านของหัวงูมีอวัยวะที่เซนซิทีฟต่อความร้อน และถ้าเราเข้าไปใกล้เพียงพอที่ความร้อนจากร่างกายจะถูกมันตรวจจับได้ เราก็จะกลายเป็นภัยคุกคามมันโดยอัตโนมัติ อวัยวะนี้สามารถทำงานต่อไปได้หลายชั่วโมงหลังจากงูตาย และหัวงูที่ขาดแล้วนั้นก็เหมือนกับเป็นซอมบี้ที่ยังพร้อมจะสู้อยู่ แถมพิษของงูก็สามารถออกฤทธิ์ต่อไปได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าเจองูที่ตายแล้ว ก็ไม่ควรประมาทเมื่อเข้าไปใกล้หัวของมัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนน่าจะเคยเห็นถ้าได้ไปประเทศเกาหลี คือ เมนูหนวดหมึกยักษ์ ซึ่งเป็นการตัดเอาหนวดของมันออกมาจิ้มน้ำจิ้มกินกันสดๆ ทั้งที่หนวดนั้นยังขยับไปมาได้ แถมสู้กับคนที่พยายามจะกลืนมันเข้าไปด้วย นั่นเป็นเพราะว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเส้นประสาทในระบบประสาทส่วนกลางของหมึกยักษ์อยู่ในส่วนหนวด หนวดจึงสามารถขยับได้เอง ประมวลผลของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้เอง รวมทั้งมีถ้วยดูดบนหนวดที่ทำงานได้โดยไม่ต้องมีสมองมาสั่งการ และเชื่อหรือไม่ว่า มีคนเสียชีวิตกว่า 6 คนในแต่ละปีเมื่อพยายามกลืนกินอาหารพิสดารนี้เข้าไป
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์