อิสรภาพเราราคาเท่าไหร่กัน

-

อิสรภาพเราราคาเท่าไหร่กัน

ไม่ว่าใครก็คงอยากมี “อิสรภาพทางการเงิน”

อิสรภาพทางการเงินหมายความว่าเรามีรายได้โดยไม่ต้องทำงานมากพอที่จะเลี้ยงชีพของเราไปจนถึงวาระสุดท้าย หากจะเขียนให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้นก็ต้องบอกว่า อิสรภาพทางการเงินคือภาวะซึ่งรายได้ต่อเดือนที่ไม่ได้มาจากการทำงาน (passive income) มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน

passive income มีที่มาได้หลากหลายแบบ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แล้วได้ผลตอบแทนเป็นเงินสดกลับมา เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า หรือรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแฟรนไชส์ รวมถึงเงินได้เพื่อการดำรงชีวิตต่างๆ เช่น เงินบำนาญ เบี้ยผู้สูงอายุ เงินรายเดือนจากกองทุนประกันสังคม

แต่รายได้บางอย่างไม่ได้มาเป็นรายเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการลงทุนต่างๆ เช่น เงินปันผลหุ้น เงินปันผลกองทุนรวม ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร หรือดอกเบี้ยตราสารหนี้ ผลตอบแทนเหล่านี้มักจ่ายเป็นเงินสดประมาณปีละครั้งหรือสองครั้ง

คำถามคือหากวันนี้เราอยากเกษียณ หรืออยากรู้ว่าตัวเองมีอิสรภาพทางการเงินหรือยัง เราจะคำนวณได้อย่างไรว่าเกินก้อนที่เรามีในมือนั้นเพียงพอแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคิดลาออกจากงาน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินก้อนที่มีอยู่ในมือนั้นเพียงพอที่จะทำให้เรามีใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

การคำนวณแบ่งได้ง่ายๆ 2 วิธี คือ คิดจากเงินต้น และคิดจากผลตอบแทน

คิดจากเงินต้น นั่นก็คือการคำนวณว่าเราคาดว่าจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ และมีอายุอยู่ได้อีกกี่เดือน นำค่าใช้จ่ายต่อเดือนมาคูณกับจำนวนเดือนที่เหลือ เราก็จะรู้เลยว่าเราต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอแก่การใช้ชีวิต ข้อเสียคือการคาดเดาว่าจะมีอายุเท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้อย่างแน่นอน

เช่น ถ้าเราอายุ 60 ปี ต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท และคิดว่าจะอยู่จนถึงอายุ 80 ปี แบบนี้แปลว่าเราเหลือเวลาอีก 20 ปีหรือ 240 เดือน นำ 20,000 บาท ไปคูณกับ 240 เดือน ก็จะได้ผลลัพธ์เป็น 4,800,000 บาท  ถ้าเรามีเงินก้อนใหญ่เราก็เกษียณได้

คิดจากผลตอบแทน นั่นก็คือการคำนวณเปรียบเสมือนว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนเป็นผลตอบแทนต่อเดือนที่เราต้องได้รับ คิดย้อนกลับมาเป็นผลตอบแทนต่อปี หลังจากนั้นจึงเทียบกับเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะทำได้ ลงท้ายเราก็จะได้จำนวนเงินต้นที่เราจำเป็นต้องมี

เช่น ถ้าเราอายุ 60 ปี ต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท และคาดว่าจะหาผลตอบแทนได้ปีละ 5% นั่นหมายถึง ต่อปี เราต้องหาผลตอบแทนให้ได้ 240,000 บาท (20,000 บาท จำนวน 12 เดือน) หลังจากนั้นจึงเทียบกลับว่าเงินต้นเท่าไหร่ที่ให้ผลตอบแทน 5% แล้วเท่ากับ 240,000 บาท โดยคำนวณจาก 240,000 บาท หารด้วย 5% จะได้ผลลัพธ์เป็น 4,800,000 บาท

สังเกตว่าผลลัพธ์ของทั้ง 2 วิธีมีจำนวนเท่ากัน ต่างกันที่หากเราใช้แต่เงินต้นอย่างเดียว เงินต้นจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ จนหมดเข้าวัน ทำให้เรามีอายุจำกัดถ้าเทียบกับเงิน

แต่วิธีที่ใช้เงินจากผลตอบแทน เราแค่ลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย ไม่ต้องหยิบเอาเงินต้นออกมาใช้เลย แบบนี้เราจะมีชีวิตอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ หลังจากเสียชีวิตก็ยังเหลือมรดกไว้ให้ลูกหลานอีก แต่ถ้าเดือนไหนปีไหนลงทุนพลาดเป้า เราก็อาจดึงเงินต้นออกมาใช้ แผนอาจผิดพลาดไปบ้าง แต่ก็ยากมากที่เงินต้นจะหมดไปทั้งก้อน

ถึงแม้ว่าตัวเลขอาจดูไม่แตกต่างกันนัก แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งสองวิธีแตกต่างกันมาก เพราะวิธีใช้เงินแบบหนึ่งอยู่ได้โดยมีอายุอันจำกัด ในขณะที่อีกแบบหนึ่งไม่จำกัดอายุ การลงทุนจึงเป็นทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบั้นปลายชีวิตซึ่งเราไม่สามารถออกไปทำงานหาเงินได้ตามปรกติแล้ว

ส่วนผลตอบแทนที่คาดหวัง เราควรคาดหวังไว้ประมาณ 5% เพื่อไม่ให้เสี่ยงจนเกินไป หากเราอยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ เราจำเป็นต้องไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น นั่นอาจหมายถึงโอกาสที่จะขาดทุน แต่ในวัยเกษียณ เราอาจไม่มีช่องว่างให้ขาดทุนมากนัก เพราะเราไม่สามารถหาเงินมาเติมได้เรื่อย ๆ เหมือนช่วงทำงานแล้ว

สินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการวางแผนเกษียณกัน ได้แก่ ตราสารหนี้และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ผลตอบแทนจะค่อนข้างแน่นอนและมีความมั่นคงพอสมควร โดยตราสารหนี้เอกชนที่มีระยะเวลาการถือครองนานหน่อย อาจให้ผลตอบแทนได้สูง 3–5 เปอร์เซ็นต์

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกตัวเลือกซึ่งเป็นที่นิยม เพราะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เน้นรายได้จากการให้เช่าเป็นหลัก รายได้ค่อนข้างแน่นอน ต่างจากธุรกิจสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายซึ่งมีความผันผวนมากกว่า

โดยปรกติกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลปีละประมาณ 4–6 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับความนิยมและผลประกอบการด้วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่างจากตราสารหนี้ตรงที่ราคาของกองทุนรวมสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วย นักลงทุนอาจได้กำไรทั้งจากส่วนต่างราคาและเงินปันผล

แต่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงด้วย สินทรัพย์บางอย่างที่มีความผันผวนของรายได้ตามฤดูกาล เช่น โรงแรม สนามบิน อาจเหมาะกับการลงทุนเป็นจังหวะมากกว่า (แต่ถ้าสามารถรับความผันผวน จะลงทุนยาวก็ย่อมทำได้)

สำหรับการวางแผนเกษียณ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนจะเป็นกลุ่มสินทรัพย์ซึ่งมีอัตราการจับจองพื้นที่เช่าสูงอย่างต่อเนื่อง มีสัญญาระยะยาว หรือมีผู้เช่ารอเข้ามาทำสัญญาอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศให้เช่า

อิสรภาพของเราไม่ใช่ของราคาถูกและไม่ใช่ของง่ายที่จะได้มา ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนต่างก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเรียนรู้และรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งเตรียมตัวล่วงหน้านานเท่าไหร่ การวางแผนเกษียณก็ยิ่งยืดหยุ่นและมีเวลาให้สั่งสมความมั่งคั่งได้นานเท่านั้น


คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน เรื่องโดย: ลงทุนศาสตร์ 

All Magazine ตุลาคม 2565

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!