ทำไมต้องลงทุนหุ้นต่างประเทศ

-

การลงทุนหุ้นต่างประเทศเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผม

ในช่วงต้นปี 2018 หลังจากที่ผมขาดทุนหนักจากหุ้นไทยตัวหนึ่งและสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยดูจะไม่สู้ดีนัก ผมแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อน 50 เปอร์เซ็นต์แรกผมลงทุนในตลาดหุ้นไทย และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ผมลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ พอร์ตที่ผมไปลงทุนในต่างประเทศโตขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไปลงทุนในหุ้นรายตัวประมาณ 10 ตัว และหุ้น 7 ตัวให้ผลตอบแทนกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดให้ผลตอบแทนประมาณ 500 เปอร์เซ็นต์

ข้อดีของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ

1) ความหลากหลายของหุ้น

หากนั่งนับหุ้นทั้งตลาดหุ้นไทย คุณจะพบว่ามีหุ้นให้เลือกไม่ถึง 1,000 ตัว น้อยกว่าหุ้นในตลาดหุ้นเวียดนามที่เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่เสียอีก ยิ่งถ้านับทั้งโลก คุณจะมีหุ้นให้เลือกลงทุนได้หลายหมื่นตัว นั่นหมายถึงโอกาสการลงทุนอันมากมายก่ายกอง คิดง่าย ๆ ว่าหากคุณอ่านหุ้น 100 ตัวเจอหุ้นที่ลงทุนได้แค่ 1 ตัว การอ่านหุ้น 1,000 ตัวอาจมีหุ้นให้ลงทุนเพียง 10 ตัว แต่การอ่านหุ้น 10,000 ตัวอาจมีหุ้นให้ลงทุนถึง 100 ตัว ซึ่งคุณก็สามารถคัดหุ้นที่ดีที่สุด 10 ตัวมาจากหุ้นที่ดีที่สุด 100 ตัวได้

การไปอ่านหุ้นต่างประเทศจะเปิดหูเปิดตาคุณให้พบหุ้นแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ตลาดหุ้นไทยไม่มี เช่น หุ้นเรือนจำ หุ้นบ่อนการพนัน หุ้นสโมสรกีฬา หุ้นเรือสำราญ และอื่น ๆ อีกมากมายเกินคาด การได้เห็นหุ้นใหม่ ๆ จะช่วยเพิ่มความรู้ด้านการวิเคราะห์ธุรกิจและยังพาคุณไปเจอโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ด้วย ยกตัวอย่าง หากคุณรู้สึกว่าธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับปัญญาประดิษฐ์จะเป็นอนาคตของมนุษยชาติและน่าลงทุน คุณอาจหาหุ้นแบบนี้ไม่ได้ในตลาดหุ้นไทย แต่ในต่างประเทศกลับมีให้คุณเลือกจนตาลาย

นอกจากนี้คุณยังสามารถนำความรู้ที่เคยใช้กับตลาดหุ้นไทยไปใช้กับตลาดหุ้นได้ทั่วโลก เช่น คุณชอบท่าอากาศยานของประเทศไทย แต่รู้สึกว่าหุ้นแพง คุณก็อาจไปมองหาหุ้นท่าอากาศยานของประเทศอื่นที่ราคาถูก หรือหากคุณรู้สึกว่าหุ้นร้านสะดวกซื้อของไทยเติบโตได้ดีในอดีตแต่เริ่มขยายกิจการได้ช้าในปัจจุบัน คุณก็อาจไปลงทุนในประเทศที่ยังพัฒนาช้ากว่าไทย และเลือกซื้อหุ้นร้านสะดวกซื้อไว้ล่วงหน้าเพื่อเก็บเกี่ยวผลกำไรในลักษณะเดียวกันกับที่เคยเกิดในตลาดหุ้นไทย

2) การเติบโตภายในประเทศ

อย่างที่ทราบกันดีว่าแต่ละประเทศก็มีศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไม่เท่ากัน หากธุรกิจอยู่ในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจดี บริษัทก็อาจไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก รายได้และกำไรก็สามารถเติบโตได้ ต่างกับธุรกิจในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทอาจต้องดิ้นรนหนักเพื่อความอยู่รอด ในฐานะนักลงทุน การไปเลือกลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจดี ๆ จึงดูง่ายกว่าการหาผู้ชนะในประเทศที่ย่ำแย่

หากย้อนมาพิจารณาสภาพเศรษฐกิจไทยก็จะพบว่าอัตราการเติบโตของ GDP ไม่ได้สูงนัก เฉลี่ยได้สัก 2 – 3 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าไม่ได้ดึงดูดใจในการลงทุนมาก เพราะค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP โลกก็เฉลี่ยแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยังมีหลายประเทศในโลกที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี อย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือจีน ที่มีอัตราการเติบโตของ GDP ตกประมาณปีละ 6 – 7 เปอร์เซ็นต์ และถือว่าน่าลงทุนกว่า

GDP Per Capita ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งซึ่งคุณควรจะสนใจ นั่นเป็นตัวเลขที่หมายถึงรายได้โดยเฉลี่ยของประชากรหนึ่งคนต่อปี ประเทศที่มี GDP Per Capita สูง ๆ ย่อมคาดหวังการเติบโตได้ยากกว่า ส่วนประเทศที่มี GDP Per Capita ต่ำ ๆ ย่อมคาดหวังการเติบโตได้มากกว่า ทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำจนดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่อาจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ คุณสามารถใช้ช่องว่างของตัวเลขมาคาดการณ์การเติบโตได้

3) การเติบโตภายนอกประเทศ

ในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูง บริษัทมีแนวโน้มที่จะขยายการทำธุรกิจไปได้ทั่วโลก อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทมากมายประกอบธุรกิจอย่างกว้างขวาง เช่น โซเชียลมีเดีย Facebook ค้าปลีกออนไลน์ Amazon เครื่องดื่ม Coca Cola ร้านกาแฟ Starbucks เครื่องแต่งกาย Adidas ร้านอาหาร McDonald ประเทศอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน อย่าง Uniqlo ของญี่ปุ่น Tencent ของจีน Samsung ของเกาหลีใต้ Louis Vuitton ของฝรั่งเศส

บริษัทที่มีความสามารถในการขยายธุรกิจไปทั่วโลกย่อมได้เปรียบในเรื่องของการเติบโต เพราะไม่ได้อาศัยการเติบโตแค่ในขนาดเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่มีช่องทางการเติบโตทั้งโลก แนวโน้มการเติบโตจึงมากกว่าและยาวนานกว่าการเติบโตในประเทศเดียว นั่นหมายถึงการซื้อหุ้นแบบนี้ คุณอาจถือได้เป็นสิบปีโดยไม่ต้องเปลี่ยนหุ้นเลย เฉกเช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็ถือหุ้นบางตัวมาเป็นเวลากว่า 70 ปี

สำหรับประเทศไทย คุณอาจไม่ค่อยเห็นหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกนัก หุ้นแข็งแกร่งส่วนใหญ่จะพึ่งพิงภาคบริโภคภายในประเทศซึ่งอิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ส่วนหุ้นที่ขยายตลาดไปต่างประเทศโดยมากก็เป็นหุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์ หุ้นซึ่งทำผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้าขายจึงอยู่ในตลาดขนาดไม่กว้างและมักเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือกลาง การถือยาวหุ้นไทยเลยเป็นเรื่องที่ยากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตดี

ผมพูดเสมอว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากต้องใช้ความสามารถในการลงทุนพื้นฐานไม่ต่างจากหุ้นไทยแล้ว คุณยังต้องมีความรู้ ความตั้งใจ และความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อที่จะลงทุนให้สำเร็จ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เรียกได้ว่าความเสี่ยงสูงกว่าแต่ผลตอบแทนคาดหวังก็สูงกว่า หากใครมีความพร้อม ผมมักแนะนำให้ลองศึกษาเพิ่มเติมดู แต่ถ้ายังไม่พร้อมจริงๆ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน


คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน

เรื่อง: ‘ลงทุนศาสตร์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!