กริยาอาหารลาว

-

อาหารลาวกับอาหารอีสานนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ผิดแผกกันเล็กน้อยตามภูมิภาค แต่ภาษาที่ใช้เรียกชื่ออาหารและกริยาของการกินนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ ภาษาลาวใช้กริยานำหน้านามในการประสมคำเพื่อให้กลายเป็นคำใหม่สำหรับเรียกชื่ออาหาร และคำนามหรือคำวิเศษณ์ในภาษาลาวมีความเป็นกริยาอาการ วิธีทำอาหารนั้นๆ ด้วย เมื่อคนไทยภาคกลางได้ยินได้ฟัง อาจเข้าใจสับสนได้ รวมถึงคำกริยาบางคำก็ใช้แตกต่างจากภาษาไทย

ຈ້ຳ จ้ำ หมายถึง การกดย้ำซ้ำๆ เป็นกริยาที่ใช้ในการรับประทานอาหารชนิดน้ำพริกหรือเครื่องจิ้ม เอาข้าวเหนียวหรือผักกดลงไปในน้ำพริกหรือเครื่องจิ้มนั้น โดยไม่ตักเอาเนื้อน้ำพริกแต่ให้ติดของที่นำลงไปจ้ำขึ้นมาเอง แตกต่างจากภาษาไทยที่ใช้คำว่า จ้ำ กับกริยาการเดินเร็วๆ ถี่ๆ เช่น จ้ำอ้าว แต่ภาษาลาวใช้กับการกินอาหารมากกว่า

ປົ່ນ ป่น หมายถึง อาหารที่ใช้การตำโขลกผสมกันจนแหลกละเอียด เช่น ປົ່ນປານ້ອຍ ป่นปลาน้อย คือ น้ำพริกที่โขลกปลาน้ำจืดขนาดเล็กลงไปจนแหลก ป่นยังหมายถึงกริยาการตำโขลกส่วนผสมให้แหลกละเอียด และการทำเรื่องให้วุ่นวายสับสนจนเละเทะด้วย

ສົ້ມ ส้ม ในภาษาลาวนอกจากหมายถึงรสเปรี้ยวแล้ว ยังใช้ในความหมายของกริยาการหมักดองให้มีรสเปรี้ยว และอาหารที่ถูกหมักดองให้มีรสเปรี้ยว หรือแหนมจากเนื้อสัตว์ เช่น ສົ້ມປາ ส้มปลา ສົ້ມຜັກ ส้มผัก คือ แหนมปลา และผักดองเปรี้ยว คำว่า ส้มผัก นี้ ภาษาลาวหมายรวมถึงกิมจิเกาหลีอีกด้วย

ຈຸ່ມ จุ่ม หมายถึง กริยาการเอาอาหารสดลงไปลวกในน้ำเดือดหรือน้ำซุปให้สุก และยังหมายถึงชื่ออาหารประเภทลวกจิ้ม และจิ้มจุ่มหม้อไฟร้อน ส่วนมากใช้กับเนื้อสัตว์ ต่างจากในภาษาไทยที่มีความหมายเพียงแค่การเอาสิ่งของหย่อนลงไปในของเหลวเท่านั้น

ໝ່າ หม่า หมายถึง กริยาการแช่อาหารทิ้งไว้เพื่อให้นุ่ม อ่อน พร้อมจะปรุงหรือประกอบอาหารต่อไป เป็นศัพท์ที่ไม่มีในภาษาไทย โดยมากใช้ในการแช่ข้าวเหนียวข้ามคืนก่อนจะนึ่ง หรือแช่ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ก่อนจะนำไปนึ่งและบดทำขนม


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!