จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นกำเนิดโรคโควิด-19 (COVID-19) ในเวลานี้ นอกจากยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ต้องติดตามกันทุกวันแล้ว วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในวงกว้าง ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งตัว จำนวนคนตกงานเพิ่มมากขึ้น และจากมาตรการของรัฐที่ต้องการสกัดกั้นโรคระบาดนี้ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบากได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก จนยากที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหา กระตุ้นเร้าให้สภาพจิตใจบังเกิดความย่ำแย่หดหู่ แต่ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ นั้น ยังมีเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้น
“Food For Fighters: ข้าวเพื่อหมอ” คือโครงการที่ริเริ่มมาจากคนตัวเล็กๆ อย่าง เต้-พันชนะ วัฒนเสถียร ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรวมรวบเงินบริจาค ก่อนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปจัดจ้างร้านอาหาร ผลิตข้าวกล่องส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งร้านอาหารขนาดเล็กที่กำลังเผชิญความยากลำบากระหว่างการตัดสินใจที่จะเปิดหรือจะปิดในช่วงที่รัฐบาลมีคำสั่งล็อกดาวน์ และยังช่วยส่งแรงใจให้คณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งถือเป็นด่านหน้าต่อสู้วิกฤติครั้งนี้ไปได้ในคราวเดียว
จุดเริ่มต้นของ Food For Fighters
พันชนะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหาร “เป็นลาว” ที่เขาใหญ่ เธอจึงได้สัมผัสกับปัญหาที่ร้านค้าต่างๆ ต้องเผชิญด้วยตนเอง เธอตระหนักดีว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเพียงคนเดียว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พันชนะครุ่นคิดถึงวิธีแก้ไข
“วันที่ 25 มีนาคม เต้จึงโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กของตัวเองว่าเต้มีโครงการหนึ่งมานำเสนอ หากสามารถรวบรวมเงินระดมทุนได้สำเร็จ เต้จะนำเงินส่วนนี้ไปจัดจ้างร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผลิตข้าวกล่องราคากล่องละ 50 บาท จำนวน 50 กล่อง โดยขอเครดิตร้านอาหารเป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อส่งมอบข้าวกล่องนี้แก่โรงพยาบาลต่างๆ จะมีใครสนใจร่วมโครงการนี้กับเต้ไหม พอเต้โพสต์ลงไป คนที่สนใจก็เข้ามากันเต็มเลย”
กระแสตอบรับที่ได้คือมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เธอจึงไม่รอช้า ลงมือดำเนินการในทันที โดยนำโครงการนี้ขึ้นแพลตฟอร์มระดมทุน Sinwattana Crowdfunding ภายใน 24 ชั่วโมง และในวันต่อมา (26 มีนาคม) พันชนะและพี่ๆ ก็สามารถส่งมอบอาหารจำนวน 400 ชุดให้แก่โรงพยาบาลปากช่องนานา จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก
กลุ่มคนตัวเล็กๆ ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างแรงพลังอันยิ่งใหญ่
นอกจากผู้มีจิตศรัทธาส่งเงินร่วมบริจาคแล้ว โครงการยังได้รับแรงสนับสนุนจากพันธมิตรต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง บริจาคสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำมันพืช หรือแม้กระทั่งการใช้แรงงาน พันชนะกล่าวว่า “กลุ่มคนจากหลากหลายที่มา หลากหลายอาชีพติดต่อเข้ามาขอเป็นอาสาสมัครเยอะแยะมากมาย เต้ได้ทำงานร่วมกับคนเป็นร้อยๆ คน การแบ่งหน้าที่ใครสะดวกจะทำอะไร เต้ก็มอบหมายหน้าที่นั้นให้ ทุกคนพร้อมเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าแรงใดๆ” ธารน้ำใจหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เมื่อร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ จากเรี่ยวแรงเล็กๆ ก็ก่อให้เกิดกลุ่มก้อนพลังอันยิ่งใหญ่
ปัจจุบันโครงการ Food For Fighters มีร้านอาหารที่เข้าร่วมกว่า 100 ร้าน พนักงานร้านค้ารวมกันทั้งสิ้น 1,400 คน ตั้งเป้าหมายวันละ 1,000 กล่องเป็นอย่างน้อย เพื่อส่งมอบแก่โรงพยาบาลในเครือข่าย 20 แห่ง แบ่งเป็นเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สัดส่วน 50 ต่อ 50 ส่งมอบไปแล้วกว่า 30,000 กล่อง ได้รับเงินบริจาคจากการระดมทุนมากกว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท โดยทุกกิจกรรมสามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ @FoodForFightersTH หรือเฟซบุ๊กส่วนตัวของพันชนะเอง( panchana vatanasathien)
โครงการที่ชาวต่างชาติยังให้การยอมรับ
พันชนะเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า “เต้ได้รับการติดต่อจากน้องคนไทยที่เป็น marketing director ของเฟซบุ๊กที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ว่า เรื่องราวของ Food For Fighters ได้รับคัดเลือกจากเฟซบุ๊กระดับโลก โดยเหตุผลที่ได้รับคัดเลือกคือ โครงการของเราแม้จะเป็นโครงการเล็กๆ ก็จริง แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความช่วยเหลือ ความร่วมมือร่วมใจของคนตัวเล็กๆ จำนวนมากที่สามารถรับมือกับปัญหาในรูปแบบที่ตนเองถนัดในสถานะผู้ประกอบการ จึงขอสัมภาษณ์และขออนุญาตนำภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ @FoodForFightersTH ไปเผยแพร่
“นอกจากนี้ Food For Fighters ยังได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 เรื่องราวการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 จากทั่วโลก โดย Coca-Cola จัดทำเป็นหนังสั้นในแคมเปญ For the Human Race เพื่อฉายผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดีมากสำหรับคนที่ทำโครงการเล็กๆ ในประเทศไทยของเรา”
ก้าวต่อไปของ Food For Fighters
ระหว่างดำเนินโครงการพันชนะพบว่า “กล่องพลาสติก” ที่ใช้ในการบรรจุอาหารคือปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข จึงต่อยอดโครงการสู่ “ปิ่นโตเพื่อหมอ” ขึ้นด้วยความคิดริเริ่มจาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่ได้รับสามารถนำปิ่นโตที่ได้รับส่งคืนสู่โครงการ เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้งานอีกครั้ง
โครงการนี้เริ่มดำเนินการกับโรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์รังสิตเป็นแห่งแรก โดยพันชนะเล่าให้เราฟังว่า “เรื่องที่น่าดีใจคือทางโครงการได้ปิ่นโตมาจากพระครูรัตนโสภณ (สุรัฐ สิริปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดนายโรง ท่านมอบปิ่นโตเป็นจำนวนถึง 118 เถา ให้โครงการได้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้จากวัดอุทัยธารามอีก 65 เถา ทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กล่องอาหารแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” ปัจจุบันการจัดส่งปิ่นโตเพื่อหมอสามารถดำเนินการกับโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลปากช่องนานาได้สำเร็จผลตามเป้าหมายแล้ว และจะขยายการใช้งานสู่โรงพยาบาลอื่นๆ อีกต่อไป
นอกจากรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว คนบางส่วนเริ่มตระหนักถึงอนาคตในภายภาคหน้าว่าเราจะใช้ชีวิตหลังโควิด-19 กันอย่างไร พันชนะมีความเห็นว่า “เราไม่สามารถแยกได้ว่าช่วงต่อจากนี้มันคือก่อนหรือหลังโควิด-19 เพราะการเกิดวิกฤติครั้งนี้กินเวลายาวนานและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะต้องอยู่บ้าน 24 ชม. ไปอีก 365 วันหรือ? สิ่งที่เราควรเริ่มต้นคิดกันคือเราจะออกมาพบปะผู้คนอย่างไร เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การใส่หน้ากากป้องกัน หรือการล้างมือ สิ่งเหล่านี้คือชีวิตไม่ปกติที่เราจะต้องทำมันจนเป็นปกติ” เพราะฉะนั้นพันชนะเองก็วางแผนถึงการรับมือในอนาคตด้วยเช่นกัน
ก่อนดำเนินโครงการ Food For Fighters พันชนะมีธุรกิจร้านอาหาร “เป็นลาว” ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนเขาใหญ่ พันชนะอยากให้ร้านเป็นลาวเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในแบบเดียวกัน จึงนำเสนอไอเดีย “Food For Fighters cloud kitchen” ขึ้นมา
“cloud kitchen” หรือครัวที่ใช้ร่วมกัน คือแนวคิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ โดยนำสถานที่เช่นโรงแรมหรือร้านอาหารที่ต้องปิดกิจการลงหลังได้ผลกระทบจากโควิด-19 มาใช้เป็นพื้นที่ฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาตกงานหรือได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว งานบริการ หรือฟรีแลนซ์ โดยมีร้านอาหารในกลุ่มคอยให้ความช่วยเหลือและทำงานร่วมกับเกษตรกรในชุมชนนั้นๆ ด้วย พันชนะกล่าวว่า “Food For Fighters cloud kitchen สามารถดำเนินการได้ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่จะได้คือมอบวิชาความรู้ในการสร้างอาชีพ ในขณะเดียวกันอาหารที่ผลิตออกมาก็สามารถส่งต่อไปยังทีมบุคลากรทางการแพทย์ เด็ก คนแก่ หรือผู้ยากไร้ในแต่ละจังหวัดนั้นๆ” ซึ่งไอเดียนี้จะเริ่มดำเนินการในช่วงเฟส 2 หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
นับเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจที่โครงการ Food For Fighters แสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของคนไทย และความสามัคคีนี้เองจะทำให้พวกเราทุกคนสามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
ติดตามโครงการ Food for fighters ได้ที่
เฟซบุ๊ก: @FoodForFightersTH
https://social.sinwattana.com/foodforfighters
สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0 2016 9910
สนับสนุนโครงการ
บัญชี “พันชนะ วัฒนเสถียร” ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 33
เลขบัญชีออมทรัพย์ 003 2 916 724
หรือร่วมสนับสนุนเสื้อในโครงการ (รายละเอียดในรูปภาพ)