หนังปลานิลกับคุณภาพชีวิต

-

ไม่น่าเชื่อว่าบางสิ่งที่เราโยนทิ้งไปอย่างไม่เห็นค่านั้น แท้จริงแล้วอาจมีประโยชน์อเนกอนันต์แก่คุณภาพชีวิตมนุษย์ ผมกำลังพูดถึงหนังปลานิลซึ่งงานวิจัยพบว่าสามารถช่วยให้เซลล์ของอวัยวะงอกได้อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ถูกไฟไหม้ ซ่อมแซมลิ้นหัวใจหรือผนังไส้เลื่อน หรือแม้แต่ช่วยการผ่าตัด ‘ทำสาว’

ปลานิลอยู่ในตระกูลของปลาพันธุ์ Tilapia (ทิลาเพีย) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด ปัจจุบันพัฒนาเป็นสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ปลานิลจิตรลดา ปลานิลแดง ปลาทับทิม ฯลฯ ปลาพันธุ์นี้มนุษย์รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ มันเติบโตได้ดีในหนองคลองบึงในทวีปแอฟริกาและแพร่ไปทั่วโลกในปัจจุบันโดยเป็นแหล่งอาหารสำคัญ

ประวัติของปลานิลในบ้านเราเริ่มจากมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นได้ถวายปลานิลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2508  และทรงทดลองเพาะเลี้ยงในบ่อปลาในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นเวลาปีกว่า ก่อนที่จะพระราชทานให้ทางการรับไปแจกจ่ายให้ราษฎรเลี้ยง จนต่อมากลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวไทย ในปัจจุบันไทยผลิตปลานิลได้ไม่น้อยกว่า 220,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท

เป็นที่ทราบกันดีว่าหนังของปลานิลมีคอลลาเจนอยู่เป็นปริมาณมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ จนมีการทดลองเอาหนังปลานิลไปพอกแผลไฟไหม้ และแผลอื่นๆ ที่ต้องการให้เซลล์อวัยวะงอก ล่าสุดมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุ ชื่อ Mirza Melo ในรัฐ Ceará ของบราซิล ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้หนังปลานิลซ่อมแซมแผลเรื้อรังและแผลจากการฉีกขาดของกระจกตาของสุนัขในปี 2019 การรักษาก่อนหน้านี้ใช้รกม้าซึ่งมีคอลลาเจนปริมาณมากเช่นเดียวกันแต่ไม่หนาแน่นเท่าหนังปลานิล

Melo แห่ง Burn Support Institute ของบราซิล ซึ่งมี Tilapia Skin Project ได้ผลิตเยื่อ ADM (Acellular Dermal Matrix) ที่ผลิตจากคอลลาเจนบริสุทธิ์ของหนังปลานิล เยื่อนี้ช่วยกระตุ้นการงอกของเซลล์อีกครั้งได้ดีกว่ารกม้าที่มีคุณภาพแปรผันตามอายุและน้ำหนักของเจ้าของ

สัตวแพทย์แช่แผ่น ADM ซึ่งมีลักษณะคล้ายแผ่นกระดาษหนาในน้ำเกลือบริสุทธิ์ และทาบลงไปบนแผลในกระจกตา แล้วเย็บปะลงไป Melo ทดลองกับสุนัขกว่า 400 ตัว และพบว่าไม่ทำให้เจ็บปวดและไม่ติดเชื้อหลังผ่าตัด เขาประสบความสำเร็จเพราะแผลหายอย่างเร็วและมีแผลเป็นที่เล็กมาก ซึ่งต่างจากการใช้รกม้าแบบเดิมที่แผลเป็นยังคงเป็นปัญหา

โครงการต่อไปคือการทดลองด้วยเทคนิคแบบเดียวกันในแมว และต่อไปคือดวงตามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ retina หรือจอตา ซึ่งถือว่าท้าทายมากเพราะเป็นส่วนสำคัญของดวงตาที่ทำให้มองเห็น และในบริเวณนั้นมีเซลล์ประสาท (neurons) ซึ่งมีความอ่อนไหวสูงอยู่หนาแน่น

หากมีการทดลองกับดวงตามนุษย์และประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในด้านการมองเห็นได้ ไม่น่าเชื่อว่าหนังปลานิลที่โยนทิ้งกัน จะมีประโยชน์แก่มนุษย์อย่างมากมายถึงเพียงนี้ ทั้งหมดเป็นไปได้ก็เพราะการศึกษาวิจัย

ระหว่างนี้หากใครอินกับการใช้คอลลาเจนเพื่อความเต่งตึงของผิวหน้าก็ควรใส่ใจกับการบริโภคหนังปลานิล อย่าไปไกลถึงกับเอาหนังปลานิลมาปะบนผิวก่อนนอนเลยครับ เพราะมันเหม็นคาวมาก ท่านอาจถูกหนูแทะหน้าจนเสียโฉมได้


คอลัมน์: สารบำรงสมอง

เรื่อง : รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!