ถังดับเพลิงก็ระเบิดได้ ถ้าไม่ระวังเพียงพอ

-

มีรายงานข่าวอันน่าสลดและน่าแปลกใจมากว่าถังดับเพลิง ได้เกิดระเบิดอย่างรุนแรงระหว่างการซ้อมอพยพหนีภัยเพลิงไหม้ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จนส่งผลให้มีนักเรียนบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตหนึ่งราย ท่ามกลางความหวาดกลัวและความโศกเศร้าเสียใจของทุกฝ่าย คำถามใหญ่ที่ตามมาภายหลังก็คือ ถังดับเพลิง (ไม่ใช่ถังแก๊สหุงต้มที่เอามาใช้สาธิตการดับเพลิง) เกิดระเบิดเช่นนั้นได้อย่างไร

ตามรายงานข่าวระบุว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กำลังอบรมวิธีการดับเพลิงให้แก่นักเรียนและคณะครู การอบรมแบ่งเป็น 3 รอบเนื่องจากนักเรียนมีเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ถังดับเพลิงถึง 14 ถังในการฝึกซ้อมนี้

ระหว่างสาธิตรอบที่ 2 นั้นเอง ถังดับเพลิงสีแดงถังหนึ่งในหลายถังที่วางเรียงอยู่บริเวณลานหลังครูฝึก และเตรียมไว้ใช้อบรมการดับเพลิงในรอบต่อไป กลับระเบิด แล้วแรงปะทุได้กระแทกนักเรียนซึ่งนั่งชมอยู่ห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 10 เมตรจนเสียชีวิต ส่วนถังดับเพลิงดังกล่าวมีสภาพเสียหาย ฉีกขาดตรงกลาง 

การฝึกซ้อมใช้งานถังดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

จากการตรวจสอบพบว่า ถังดับเพลิงนี้เป็นชนิดที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งใช้ตามอาคารหรือสำนักงานใหญ่ๆ ไม่ใช่ชนิดพ่นผงสารเคมีซึ่งใช้ตามบ้านเรือนชุมชนทั่วไป ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์มีความดันของก๊าซที่อยู่ภายในสูงกว่าถังดับเพลิงแบบผงเคมีเป็นอย่างมาก ถังคาร์บอนไดออกไซด์มีความดันประมาณ 800 ถึง 1,200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) แต่ถังดับเพลิงแบบผงเคมีมีความดันของก๊าซเพียงแค่ 100 กว่า PSI

นอกจากนี้ ถังดับเพลิงแบบคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีข้อแตกต่างตรงที่สามารถนำมาใช้เติมก๊าซซ้ำได้ เบื้องต้นพบว่าถังที่ระเบิดดังกล่าวมีอายุราว 6 ปี และได้เอาไปเติมก๊าซมาเพื่อใช้ในการสาธิต ที่เลือกใช้ถังแบบนี้ในการฝึกอบรม ก็เพราะว่าเวลาฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้ว จะไม่ฟุ้งกระจายมากนัก ก๊าซจะระเหยหายไปทันที ไม่เหมือนชนิดผงเคมี ซึ่งเมื่อฉีดแล้ว ควันขาวของสารเคมีจะฟุ้งกระจายไปทั่ว

อีกประเด็นที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของการระเบิดครั้งนี้ก็คือ ถังนั้นถูกวางรอการใช้งานไว้กลางแดดจัดเป็นเวลานาน จนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้แรงดันภายในถังสูงขึ้นด้วย แถมถังชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ก็มีเกจวัดความดันภายในเหมือนถังแบบผงเคมี เนื่องจากตามปกติใช้วิธีวัดน้ำหนักของถังหลังจากเติมก๊าซแล้วเท่านั้น จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าความดันภายในถังที่ตั้งตากแดดไว้นั้นสูงกว่าที่ตัวถังจะทานไหวไหม และเกิดระเบิดขึ้นในที่สุด 

ตามมาตรฐานแล้ว ถังดับเพลิงนับว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยสูง มีไว้สำหรับนำไปดับไฟตามที่ต่างๆ ในระยะแรกที่ไฟยังไม่ได้ไหม้ลุกลามนัก ถังดับเพลิงมีส่วนประกอบหลัก คือ ถังแรงดัน ซึ่งบรรจุน้ำ ก๊าซ หรือสารเคมีดับไฟอื่นๆ มักมีมือจับและกลไกสำหรับควบคุมการปิดเปิดให้สารข้างในออกมา รวมถึงการมีสลักนิรภัยสำหรับป้องกันไม่ให้พลาดฉีดโดยไม่ตั้งใจ และมีสายฉีดเพื่อควบคุมทิศทางของสารเคมีที่ใช้ดับไฟ

นักเคมีชาวอังกฤษเป็นผู้ประดิษฐ์ถังดับเพลิงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1723 หรือกว่า 300 ปีแล้ว มีการพัฒนาเทคโนโลยีและรูปทรงให้หลากหลาย ตัวถังนั้นอาจมีได้หลายสี แต่ที่คุ้นเคยมากที่สุด น่าจะเป็นสีแดงหรือสีอื่นๆ ที่มองเห็นได้ง่าย สะดุดตา และมักติดตั้งไว้ตามที่ต่างๆ ของอาคารบ้านเรือนหรือชุมชน เพื่อให้สะดวกแก่การไปหิ้วเคลื่อนย้ายมาใช้งานเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ วิธีการใช้ก็มักทำได้โดยง่าย เพียงแค่ดึงสลักนิรภัยออก จับสายฉีดเล็งทิศทางไปยังเปลวไฟ แล้วบีบกลไกเปิดให้สารเคมีข้างในถัง พุ่งไปยังบริเวณไฟไหม้ และดับไฟลงได้ถ้ามีปริมาณสารมากพอ 

ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะสังเกตว่าไม่มีเกจวัดความดันภายในถัง

ประสิทธิภาพของการดับเพลิงย่อมแล้วแต่ประเภทของถัง ว่าเหมาะกับการดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงชนิดใด โดยดูได้จากตัวอักษรที่ฉลากข้างถัง ได้แก่ 1. ประเภท A ( ash ขี้เถ้า) ใช้ดับไฟที่เกิดจากของแข็งทั่วไป เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก ฯลฯ 2. ประเภท B (barrel ถังน้ำ) ใช้ดับไฟที่เกิดจากของเหลวและก๊าซ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สารระเหยไวไฟ ก๊าซหุงต้ม ฯลฯ 3. ประเภท C (current กระแสไฟ) ใช้ดับไฟที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งน่าจะมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด 4. ประเภท D (dynamite ระเบิด) ใช้ดับไฟที่เกิดจากธาตุโลหะชนิดที่สันดาปติดไฟได้ และ 5. ประเภท K (kitchen ห้องครัว) สามารถดับไฟที่เกิดจากน้ำมันหรือไขมันสัตว์ซึ่งใช้ประกอบอาหาร

หรือถ้าพิจารณาจากชนิดของสารดับเพลิงที่ใช้อยู่ในถังดับเพลิง จะพบว่า ถังที่บรรจุน้ำ (บรรจุแบบอัดความดันสูง) สามารถดับได้แค่แบบ A คือเชื้อเพลิงแข็งเท่านั้น ส่วนถังบรรจุโฟม สามารถดับได้แบบ A และ B (ดับไฟจากของเหลวและก๊าซได้ด้วย) ส่วนถังที่ใส่ผงเคมีแห้ง และถังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถดับได้ทั้งแบบ A, B และ C (เพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร) 

ควรเลี่ยงการติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย ไม่ควรปล่อยให้ตากแดดตากฝน ควรตรวจสอบถังดับเพลิงอย่างสม่ำเสมอ ว่ายังพร้อมใช้งานอยู่ไหม โดยดูที่เข็มในเกจวัดของถัง ซึ่งควรชี้ที่ช่องตรงกลางสีเขียว แต่ถ้าเข็มเอียงไปทางซ้าย แสดงว่าแรงดันไม่พอ ต้องนำไปเติมแรงดัน หรือถ้าเข็มเอียงไปทางขวา แสดงว่าแรงดันมากเกิน ควรติดต่อบริษัทมาแก้ไข หมั่นตรวจสายฉีดและหัวฉีดเป็นประจำว่าไม่มีผงอุดตัน ตรวจสอบคันไกบีบและสลักของถัง ตัวถังต้องไม่บุบ ไม่บวม ไม่ขึ้นสนิม ไม่เคยตกกระแทกรุนแรง และถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งมีอายุ 5 ปีเท่านั้น ควรเปลี่ยนใหม่เมื่อหมดอายุ หรือเคยฉีดใช้งานแล้ว

อุทาหรณ์จากอุบัติเหตุถังดับเพลิงระเบิดครั้งนี้ คือการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้และการเก็บรักษาถังดับเพลิงให้ปลอดภัย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวิธีฝึกอบรมเรื่องอัคคีภัยในโรงเรียน โดยเลิกใช้ถังดับเพลิงที่มีแรงดันสูงภายในการสาธิต และเน้นซ้อมแผนการอพยพหนีไฟให้นักเรียนมากกว่าการดับเพลิงไหม้ด้วยตัวเด็กเอง


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!