รายการชิงช้าสวรรค์ เป็นรายการประกวดร้องเพลงระดับมัธยมศึกษาของบริษัทเวิร์คพอยท์ จำกัด เริ่มออกอากาศครั้งแรกใน พ.ศ.2547 ทางสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่วงแรกเป็นรายการปกิณกะ ให้ความรู้และความบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับเพลงลูกทุ่ง แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งระดับมัธยมศึกษาเต็มรูปแบบ ครั้บถึง พ.ศ.2558 ได้ย้ายไปออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ แต่เพียงปีเดียวก็ยุติการออกอากาศ และได้กลับมาผลิตรายการใหม่เมื่อ พ.ศ.2565 ในชื่อรายการว่าชิงช้าสวรรค์ 2022 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
หากนับจากปีที่ออกอากาศถึงปีปัจจุบัน จะเห็นว่ารายการนี้ได้สร้างตำนานมาถึง 20 ปี แม้จะหยุดการผลิตไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อนำกลับมาผลิตใหม่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการเพื่อให้ทันสมัยยิ่งขึ้นตามบริบทของยุคสมัย
แรงบันดาลใจของรายการนี้น่าจะมาจาก ‘งานวัด’ เพราะฉากของเวทีเน้นการตกแต่งเสมือนอยู่ในงานวัด อันเป็นกิจกรรมบันเทิงที่แนบเนื่องอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยในชนบท ซึ่งผูกพันอยู่กับวัดและความบันเทิงแบบชาวบ้าน มีมหรสพต่างๆ การออกร้านจำหน่ายสินค้า การแข่งขันพื้นบ้าน รวมถึงความบันเทิงจาก ‘เครื่องเล่น’ ที่ได้รับความนิยมอย่างหนึ่งก็คือ ‘ชิงช้าสวรรค์’
เมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์สังคมแล้ว รายการชิงช้าสวรรค์ มีบทบาทในฐานะผู้บันทึกการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ในปีที่รายการนี้เริ่มออกอากาศคือ พ.ศ.2547 นั้น เป็นปีที่รัฐบาลไทยส่งเสริมนำความเป็นไทย เพื่อให้ท้องถิ่นมีบทบาทในโลกของสากลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาสินค้าโอทอป การฟื้นฟูเรื่องเล่าของท้องถิ่น การแสดงท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรม ประเพณี การตั้งศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แม้แต่ภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นในช่วงปีดังกล่าว ก็ยังนิยมในการสืบค้นเรื่องเล่า ตำนาน ผี ไสยศาสตร์ต่างๆ มาผูกเรื่องขึ้นเพื่อให้ท้องถิ่นได้มี ‘ตัวตน’ ในสื่อต่างๆ
ส่วนในปี 2559 รายการยุติการออกอากาศซึ่งน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงสื่อแล้ว ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเข้าสู่ยุคดิจิทัล รายการโทรทัศน์มีการปรับตัวมากมายเพื่อรับมือกับการนำเสนอความบันเทิงผ่านสื่อออนไลน์ ตลอดจนแพลตฟอร์มสื่อบันเทิงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกระแสความนิยมซีรีส์จากต่างประเทศ รายการไหนที่ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ก็อาจจะต้องปรับตัวเพื่อรับกระแสใหม่หรือต้องยุติไปโดยปริยาย
รายการชิงช้าสวรรค์ในช่วงแรกได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้แก่สังคมไทยหลายประการ โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศพากันตื่นตัวที่จะสร้างวงดนตรีลูกทุ่งเพื่อมาแข่งขันในรายการ โรงเรียนซึ่งอาจมีชื่อเสียงแค่ในจังหวัด เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ จากการส่งวงดนตรีลูกทุ่งมาประกวดในรายการชิงช้าสวรรค์ ดังเช่น โรงเรียนจ่านกร้องวิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งแต่เดิมอาจเป็นที่รู้จักกันเพียงในพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง แต่หลังจากที่โรงเรียนนี้ได้แชมป์ถึง 3 ครั้ง ก็เป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ ผลพลอยได้ก็คือ ทำให้ ‘วัยรุ่น’ เข้าถึงและผูกพันกับเพลงลูกทุ่งยิ่งขึ้น
แม้จะมีกระแสต่างๆ ในเชิงดรามาว่า รายการนี้ทำให้นักเรียนมุ่งทำกิจกรรมมากกว่าเรียนหนังสือ แต่ในทางหนึ่ง การรวมตัวกันฝึกซ้อม การทำงานเป็นทีม และการระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์รายการให้ดีที่สุดเพื่อนำมาแข่งขัน ก็ก่อให้เกิดการฝึกฝนการทำงานร่วมกันของนักเรียนทั้งโรงเรียน โดยมีผู้ปกครองและคนในท้องถิ่นสนับสนุน
การกลับมาครั้งใหม่ในรายการชิงช้าสวรรค์ 2022 และดำเนินเรื่อยมาจนถึงปีนี้ มีการพัฒนารูปแบบรายการช่วงหนึ่งซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือช่วงที่มีชื่อว่า ‘ลูกทุ่งคืนถิ่น’ วงดนตรีที่เข้ารอบจะต้องนำเสนอเพลงและการแสดงที่สร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับเรื่องราวในท้องถิ่นของโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงต้องค้นหาเรื่องราวต่างๆ เพื่อมานำเสนอให้ตรึงตาตรึงใจ
โรงเรียนในกรุงเทพฯ อาจค้นหาเรื่องราวที่เป็นท้องถิ่นยากหน่อย เพราะความเป็นเมืองได้กลืนความเป็นท้องถิ่นไปเกือบหมดแล้ว แต่ผู้เขียนก็ยังประทับใจโรงเรียนโยธินบูรณะที่นำเสนอเรื่องราวจากนวนิยายเรื่องคู่กรรม ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามเอเชียบูรพา เกิดเป็นนิยายรักอมตะของไทยขึ้น หรือสามารถนำจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์มานำเสนอผ่านเรื่องเล่าในเพลงทศกัณฐ์ โรงเรียนปทุมวิไลฯ นำเสนอประวัติความเป็นมาของจังหวัดปทุมธานี เล่าเรื่องสมัยรัชกาลที่ 2 เสด็จประพาสแล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ให้ว่าปทุมธานี โดยผูกโยงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอญด้วยว่ามาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดนี้อย่างผาสุกได้อย่างไร
โรงเรียนในชนบทยิ่งมีความได้เปรียบ เช่น โรงเรียนจากร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา ได้นำเสนอเรื่องเล่าของท้องถิ่น ทั้งในแง่ของกลุ่มชาติพันธุ์และตำนานที่เล่าขานกันสืบมา โรงเรียนจากสงขลานำเสนอเรื่องราวตำนานนางเงือกทองที่หาดสมิหรา และเชิญชวนให้ไปท่องเที่ยว ที่น่าประทับใจยิ่งก็คือโรงเรียนปากน้ำปราณวิทยาคม ซึ่งมีนักเรียนเพียง 200 กว่าคน แต่เมื่อผ่านออดิชันก็ต้องแข่งขันอย่างเต็มที่ ได้นำเสนอชีวิตของชาวประมงที่ปากน้ำปราณ
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างในรอบที่ชิงชัยไปสู่รอบชิงชนะเลิศเท่านั้น แต่โรงเรียนเหล่านี้ได้ทำสิ่งที่ ‘ปิด’ ให้ ‘เปิด’ ออก ท้องถิ่นที่ดูเหมือนจะถูกความเป็นเมืองกลืนหายจึงได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการแสดงและเสียงเพลงฝีมือของเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
คุณูปการของรายการชิงช้าสวรรค์ ก็คือ การสืบสานวิญญาณเพลงลูกทุ่ง การฟื้นฟูท้องถิ่นให้มีตัวตนอย่างผ่าเผยในโลกสมัยใหม่ การสร้างนักแสดง นักร้อง และนักสร้างสรรค์รายการ ออกแบบเวที และการเต้นประกอบเพลงที่สวยงามแล้ว การสร้างความผูกพันระหว่างครูกับนักเรียน การร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นระยะเวลาหลายเดือน เพื่อนำมาโชว์ในรายการเพียง 10 นาที เป็นการแสดงพลังที่ยิ่งใหญ่ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
จะว่าไปแล้ว ดนตรีลูกทุ่ง หมอลำ ซึ่งมีการแสดงอย่างอลังการ มีหางเครื่องนับร้อยชีวิต เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ไปเปิดการแสดงมาแล้วในหลายประเทศ รายการชิงช้าสวรรค์มิใช่เพียงนำลูกทุ่งคืนถิ่นเท่านั้น แต่กำลังแสดงพลังของท้องถิ่นผ่านการแสดงที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์อันน่าตื่นตาตื่นใจด้วย
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’