กลั่นจากชีวิตและความสนใจ สารคดีแนะนำจากนักเขียนหญิงที่น่าจับตา (ตอนที่ 2)

-

ในตอนที่ 2 นี้เราจะพาไปพบกับ “หนังสือแนะนำ” ประเภทสารคดีทั่วไป เวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2565 อีก 2 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นเรื่องราวของกลิ่น เริ่มตั้งแต่การใช้กลิ่นของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ กลิ่นในความทรงจำ จนถึงกลิ่นในจักรวาล ส่วนอีกเล่มหนึ่งนั้นว่าด้วยการตามรอยเครื่องเคลือบลายคราม (porcelain) สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่จะบอกเล่าความสัมพันธ์ไทย-จีนในขณะนั้น รวมทั้งฉายภาพความรุ่งเรืองของอยุธยาให้ชนรุ่นหลังเห็นอย่างแจ่มชัดขึ้น

Nose Note บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูก

ฝนตกข้างบ้าน ถึงจักรวาลอันไกลโพ้น

‘น้ำ’ กันต์นที นีระพล แอร์โฮสเตสสาวที่มีประสาทสัมผัสการรับกลิ่นไว จึงมักจดจำรายละเอียดของสิ่งรอบตัวจากกลิ่น เมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินรุนแรง เธอจึงต้องหยุดงานประจำและมองหาอาชีพเสริม น้ำนำจุดเด่นของเธอมาต่อยอดด้วยการเปิดสตูดิโอสอนปรุงกลิ่นชื่อว่า Qraft by AQUA ซึ่งได้รับผลตามที่ต้องการเป็นอย่างดี และนำมาสู่การเขียนหนังสือที่บอกเล่าเรื่องกลิ่นที่เธอสนใจ

จุดเริ่มต้นการศึกษาเรื่องกลิ่น

ตอนที่น้ำแต่งงานได้แจกของชำร่วยคือสบู่ทำมือ เรายังไม่มีความรู้เรื่องน้ำหอมเลยเลือกใช้ fragrance oil ซึ่งเป็นเคมี เนื่องด้วยราคาไม่แพงและหาง่าย เราทำสบู่ไป 3-4 วัน เลือดกำเดาไหล จึงได้รู้ว่าตัวเองแพ้เคมี เลยหันไปศึกษาน้ำหอมธรรมชาติหรือ essential oil  พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ชักสนุก กลิ่นนี้ได้จากเปลือกไม้ กลิ่นนี้จากผลไม้ แล้วแต่ละกลิ่นก็มีสรรพคุณต่างกัน เลยศึกษาต่อเนื่องมา

กว่าจะมาเป็นหนังสือ Nose Note

ครูทอมจากสำนักพิมพ์อะโวคาโดบุ๊กส์มาลงเรียนที่สตูดิโอสอนปรุงกลิ่นของน้ำ แล้วบอกว่าน้ำเล่าเรื่องสนุก ลองเปลี่ยนจากการเล่ามาเป็นการเขียนแทนสิ ลึกๆ น้ำมีความฝันอยากเป็นนักเขียนอยู่แล้ว เลยลองดูแล้วกัน หกเดือนแรกน้ำพยายามจะเขียน ก็ได้แต่เปิดคอมฯ แล้วนั่งมองจอเฉยๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี  จนสำนักพิมพ์โทร.มาบอกว่า หา บก. ที่จะดูแลต้นฉบับเราได้แล้ว เอาละ ต้องลงมือเขียนให้ได้ หนังสือเล่มนี้จึงเริ่มจากการตั้งคำถามไปเรื่อยๆ กลิ่นที่คนมักชอบกันคือกลิ่นอะไร กลิ่นเด็กคืออะไร เล่าเรื่องราวของกลิ่นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ตื่นนอนยันเข้านอน ในบ้านจนออกไปไกลยันจักรวาล ให้ความรู้และความบันเทิง มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง อ่านเพลิน

ย่อยเรื่องวิทย์ให้เข้าใจง่าย

เรื่องกลิ่นนั้นเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มาก แล้วน้ำก็ไม่เก่งวิทยาศาสตร์ด้วย อ่านยังไม่อยากอ่านเลย เรามองจากตัวเองว่า ถ้าเป็นเราอยากอ่านหนังสือแบบไหน เลยพยายามเขียนเพื่อให้คนที่ไม่สนใจก็อ่านสนุกด้วย  ตอนหนังสือออกใหม่ๆ คนคอมเมนต์ว่าอ่านแล้วเหมือนมีเพื่อนกะเทยมาเล่าเรื่องให้ฟัง ถ้าเป็นคนรู้จักกันจะรู้ว่าเวลาน้ำพูดก็มีน้ำเสียงเหมือนที่เขียน บก.ก็แก้น้อยมากเพราะอยากให้สะท้อนตัวเราอย่างเต็มที่

ย้อนรอยการใช้กลิ่นของมนุษย์

ในยุคดึกดำบรรพ์มนุษย์ใช้กลิ่นเพื่อหาอาหาร หาที่อยู่ หรือแม้กระทั่งเตือนภัยจากอันตรายต่างๆ ต่อมาเมื่อเจริญขึ้นในสมัยอียิปต์ เริ่มใช้กลิ่นเป็นเครื่องหอม ยารักษาโรค และบูชาเทพเจ้า เพราะเชื่อว่ากลิ่นขจรขจายและสามารถสื่อสารไปยังสิ่งที่มองไม่เห็น มีการนำกลิ่นกุหลาบและกลิ่นน้ำมันหอมระเหยใส่ลงไปในโรงเก็บมัมมี่ เมื่อเปิดโรง กลิ่นแรกที่เตะจมูกคือกลิ่นหอมของกุหลาบที่ยังอบอวลอยู่

กลิ่นสัมพันธ์กับความทรงจำ

อวัยวะรับกลิ่นคือจมูก แล้วจมูกจะส่งไปยังสมองโดยตรง แล้วสมองมีส่วนที่เรียกว่าลิมบิก (limbic system) ซึ่งควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม และความทรงจำ เจ้าลิมบิกเก็บความทรงจำระยะยาวไว้ และกลิ่นก็กระตุ้นสมองส่วนนี้โดยตรง บางครั้งเราดมกลิ่นบางกลิ่น อุ๊ย เหมือนกลิ่นโรงแรมที่เคยไป เหมือนคนที่เคยเจอ เหมือนสถานที่ที่เคยอยู่

ความประทับใจและความท้าทายในการทำงาน

ประทับใจที่สำนักพิมพ์ให้น้ำมีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์ ไม่ใช่แค่เขียน แต่รวมถึงการทำภาพประกอบ หน้าปก เลือกกระดาษ เลือกฟอนต์ กลายเป็นเรามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเลย ขอบคุณสำนักพิมพ์มาก ส่วนอุปสรรคสำคัญในการทำงานคือ การเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เป็นภาษาของเราเอง ไม่ง่ายเลย อันที่จริงแค่แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษก็คงได้ แต่น้ำไม่อยากเล่าในสิ่งที่เราเองยังไม่เข้าใจ จึงต้องทำความเข้าใจก่อนค่อยเขียน เลยใช้เวลานานมาก อันไหนอ่านไม่รู้เรื่องก็ข้ามไปก่อนแล้วค่อยกลับมาทำความเข้าใจใหม่อีกครั้ง

เป้าประสงค์ที่อยากสื่อสารผ่านหนังสือเล่มนี้

อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตให้มากขึ้น หมายถึงใช้ผัสสะคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรื่องกลิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่คนสนใจน้อย แต่มันอยู่รอบตัวเราจริงๆ คนเพิ่งมาตระหนักถึงผัสสะนี้ช่วงโควิด-19 ระบาด  เพราะผัสสะส่วนนี้หายไป

กลิ่นของ Nose Note

สำหรับน้ำคือกลิ่นของความสนุก กลิ่นของการค้นพบสิ่งใหม่ กลิ่นที่รู้สึกอยากค้นหาต่อไปเรื่อยๆ และเป็นกลิ่นของความฝันที่เป็นจริง

ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เป็นนักเขียนสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับหลายเล่ม ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ เล่มนี้เป็นผลได้จากการศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของคนจีนในประเทศไทยย้อนไปถึงสมัยอยุธยา ประกอบกับมีความสนใจในเครื่องลายครามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอจึงเก็บสะสมเครื่องลายครามสมัยอยุธยาอันเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชนิดหนึ่ง และเล่าความสัมพันธ์ไทยจีนผ่านของโบราณเหล่านั้น

ความสนใจในเครื่องลายครามอยุธยา

เดิมทีดิฉันสะสมเฉพาะเครื่องกระเบื้องยี่ห้อโปจูลี่กี่ ซึ่งเป็นของที่บรรพบุรุษนำมาขาย สมัยรัชกาลที่ 4 ที่บ้านค้าสำเภา เป็นพ่อค้าข้าว ส่งข้าวไปขายจีน ขากลับก็นำสินค้าจีนมาด้วย หนึ่งในนั้นคือเครื่องกระเบื้อง หลังจากดิฉันเขียนหนังสือเรื่อง กระเบื้องถ้วยกะลาแตก เสร็จ ก็มีฝรั่งมาจ้างดิฉันและสามีเขียนหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์คนจีนในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา เล่มนี้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษชื่อ A History of the Thai Chinese ดิฉันก็ต้องค้นคว้าเรื่องคนจีนในสมัยอยุธยา ได้เดินทางไปอยุธยาด้วย ตอนนั้นคิดว่าเกษียณแล้วจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่อยุธยา สงบดี เลยไปสร้างโรงแรมเล็กๆ ที่นั่น ระหว่างอยู่ที่นั่นดิฉันก็เดินเก็บเศษกระเบื้อง หรือซื้อเศษกระเบื้องที่ชาวบ้านเก็บมาเจียรขาย เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่นำมาใช้เขียนหนังสือได้ เก็บไปเก็บมาก็พบว่าสมัยอยุธยามีสั่งทำเครื่องกระเบื้องลายไทยด้วย ไม่ได้เพิ่งมีสมัยรัตนโกสินทร์นะ พอเก็บหลักฐานเหล่านี้มากๆ ก็มีข้อมูลเยอะพอจนนำมาเขียนเป็นเล่มนี้

แกะรอยหลักฐานที่ถูกเก็บงำ

คนไทยกับคนจีนมีนิสัยเป็นนักสะสม สมัยดิฉันเด็กๆ ตรุษจีนหรือวันปีใหม่ คุณพ่อคุณแม่มักพาไปกราบผู้ใหญ่ ซึ่งในบ้านของท่านก็มี “โก๋วต้ง” คือโบราณวัตถุที่มีค่า บางบ้านเป็นหยก บางบ้านเป็นเครื่องเคลือบ บางบ้านเป็นภาพเขียน ส่วนใหญ่มีคละๆ กัน เขาเก็บสะสมเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดประกวดประขันของมีค่าประจำปี ขุนนางคนไหนมีเครื่องเคลือบ มีหยก มีโบราณวัตถุ ก็เอามาแข่งกัน แล้วมอบรางวัลให้คนชนะ ดังนั้นของโบราณเหล่านี้โดยมากจึงอยู่ตามบ้าน พิพิธภัณฑ์เพิ่งสร้างในรัชกาลที่ 7 ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ไทยคือไม่มีกองทุนสำหรับจัดซื้อโบราณวัตถุเข้าพิพิธภัณฑ์ มีแค่ช่วงเริ่มก่อตั้ง ดังนั้นของโบราณอันมีค่าจึงเป็นสมบัติของเอกชน เก็บอยู่ตามบ้านเรือน ถ้าลูกหลานเขาไม่นำออกมาสู่สายตาสาธารณชน ก็ไม่มีใครรู้แหล่งที่เก็บไว้ การที่เราจะได้หลักฐานเพื่อเขียนถึงนั้นจึงยากมากๆ เล่มนี้จึงใช้เวลาเขียนค่อนข้างนาน

ต้องเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย

ปัญหาปัจจุบันของนักประวัติศาสตร์คือส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ ข้าราชการ ผู้ที่ทำวิทยานิพนธ์ จึงใช้ภาษาที่อ่านยาก คนก็ไม่อยากอ่าน สิ่งหนึ่งซึ่งนักเขียนสารคดีพึงสำนึกคือ ต้องถ่ายทอดความรู้ให้คนทั่วไปอ่านง่าย ถ้าอ่านไม่เข้าใจ งานชิ้นนั้นก็ล้มเหลว ถ้าผู้อ่านของฉันเป็นเพียงเด็กเล็ก หรือเป็นหลานที่ดิฉันอยากสอนเรื่องบรรพบุรุษ ก็ต้องใช้เทคนิคนั่งคุยเหมือนเขียนนิยาย  สร้างแคแรกเตอร์ครูอ้อย เป็นคลาสเรียน เล่าทีละตอนให้เรียงร้อยกัน

ขอบเขตเรื่องราวที่อยากเล่า

เราเจออะไรที่สนุก เราก็เล่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือกำหนดยุค แต่เป็นหนังสือซึ่งเล่าเรื่องที่ชาวโลกเขารู้กันแต่เราอาจยังไม่รู้ เช่น โดยหลักการแล้วคนจีนเป็นคนติดถิ่น ประเพณีจีนเน้นสอนให้อยู่ติดถิ่น ต้องอยู่ประจำหมู่บ้าน ต้องดูแลบรรพบุรุษ ไม่ใช่สังคมอพยพแบบชาวยิว จึงมีวลี “ใบไม้คืนสู่ราก” ถึงเขาจะออกไปไกลแค่ไหนก็หวนคืนสู่ราก ทว่าการอพยพของคนจีนส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์ช่วงล้มชิงกู้หมิง คนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ก็ออกโพ้นทะเล และอีกเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้คือจีนมีการปิดประเทศ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าอารยธรรมอยู่แล้ว ช่วงที่เปิดประเทศในสมัยพระเจ้าคังซี ตรงกับสมัยพระนารายณ์ ซึ่งการค้าสำเภารุ่งเรือง ทว่าช่วงปิดประเทศก็มิใช่จะไม่มีการค้า เป็นการลักลอบค้า เครื่องกระเบื้องอยุธยาที่พบจึงไม่ใช่ของเกรดดี เป็นฝีมือชาวบ้าน ผลิตในเตาถิ่นฮกเกี้ยน ถ้าเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ก็จะเข้าใจผิดไปว่าของที่เห็นในเมืองไทยมีแต่ของห่วยๆ และในช่วงเปิดประเทศ ราชสำนักสมัยอยุธยาก็รุ่งเรืองและร่ำรวยมากพอที่จะสั่งผลิตเครื่องเคลือบลายครามจากจีน รอเป็นปีกว่าจะได้ของ

เหตุการณ์ประทับใจที่เจอระหว่างทำหนังสือ

ได้ของ (หัวเราะ) จานที่ทุกคนคิดว่าเป็นของเปอร์เซีย ดิฉันพบว่านี่เป็นของอยุธยานะ จะเห็นว่ามีลวดลายเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งขัดกับศาสนาในเปอร์เซีย จึงต้องเป็นงานที่อยุธยาสั่งผลิต ลวดลายเครื่องลายครามสมัยอยุธยานั้นมีการวาดลายอย่างอิสระ ต่างกับสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการตีช่องอย่างเป็นระบบระเบียบ จึงดูแล้วรู้สึกถึงพลังและจิตวิญญาณของศิลปินมากกว่า พอเรามองออก เราก็ได้ของ

เป้าประสงค์ที่อยากสื่อผ่านหนังสือเล่มนี้

ส่งต่อให้ลูกหลาน ถึงผู้สนใจสืบทอดองค์ความรู้ ผู้ที่ไขว่คว้า ให้เขาได้มีเอกสารไว้ศึกษาต่อ ก็พอใจแล้ว

คุณูปการของการศึกษาเครื่องลายคราม

เครื่องลายครามถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างอยุธยากับจีน ทั้งผ่านทางเอกชนและรัฐ แต่โดยมากแล้วความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นเกิดขึ้นเพราะเอกชน เช่น คนจีนในไทยช่วยให้เศรษฐกิจไทยทรงพลัง น่าเสียดายที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาเฉพาะความสัมพันธ์เชิงรัฐ แล้วละทิ้งภาคเอกชนไป ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ขาดหาย

เครื่องลายครามอยุธยาชิ้นโปรด

ยกให้ชิ้นแรกที่เก็บสะสม คือ ถ้วยหมายเลขหนึ่ง ทรงมะนาวตัดฐานสูง จิ่งเต๋อเจิ้น รัชศกซุ่นจื้อถึงต้นรัชศกคังซี ความงามของถ้วยใบนี้ดึงดูดดิฉัน จนสะสมเครื่องเคลือบสมัยอยุธยาเรื่อยมา


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!