กลั่นจากชีวิตและความสนใจ สารคดีแนะนำจากนักเขียนหญิงที่น่าจับตามอง (ตอนที่ 1)

-

ถนนวรรณกรรมครั้งนี้พิเศษกว่าเดิม เพราะเราจะสนทนากับเหล่านักเขียนหญิง เจ้าของผลงานสารคดีทั้ง 4 เล่ม ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น “หนังสือแนะนำ” ประเภทสารคดีทั่วไป เวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2565 หนังสือทั้ง 4 เล่มเปรียบเสมือนผู้หญิงสี่สไตล์ที่มีความสนใจแตกต่างกัน ค้นคว้าจนรู้ลึกรู้จริง เป็นผู้หญิงเก่งภูมิรู้แน่น แถมยังมีเสน่ห์ชวนติดตาม จนอ่านแล้ววางไม่ลง

รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด

เรื่องราวของหนูน้อยลินลา เด็กพรีมี่ ที่มีน้ำหนักแรกเกิดเพียง 555 กรัม และการต่อสู้ทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่คลอดก่อนกำหนดและครอบครัว เขียนโดย ‘หมอเป้’ แพทย์หญิงดาริน จตุรภัทรพร คุณแม่น้องลินลา ร่วมกับ ‘ตาล’ ชิดชนก ชูช่วย หญิงสาวผู้รักการเขียนและการทำขนม

ทั้งสองคนมาทำงานร่วมกันได้อย่างไร

หมอเป้: เราสองคนเคยร่วมงานกันมา และรู้สึกเข้าขา จึงชวนมาทำรักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด ชื่อเดียวกับเพจเฟซบุ๊กที่ทำ กลุ่มผู้อ่านหลักคือคุณแม่ที่มีลูกเกิดก่อนกำหนด เราทำมา 9 ปี เจอคำถามซ้ำๆ จึงคิดว่าน่าจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้พิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ แต่ไม่อยากพูดถึงแค่เรื่องความรู้ อยากเล่าสภาพจิตใจของคุณแม่และครอบครัวที่ต้องเผชิญสถานการณ์อันยากลำบากนี้ร่วมกันด้วย และความที่เป็นประสบการณ์ตรงของตัวเอง อาจมองเห็นภาพไม่รอบด้านเท่าคนนอก จึงอยากได้มุมมองของตาลมาช่วยถ่ายทอด 

ความท้าทายของการทำหนังสือเล่มนี้

หมอเป้: คงเป็นการเลือกประเด็น เราไม่รู้ว่าเรื่องไหนถึงจะดึงดูดคนทั่วไปให้อยากอ่าน เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กเกิดก่อนกำหนดซึ่งค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ทว่าความตั้งใจของเราจริงๆ คืออยากให้เรื่องเด็กเกิดก่อนกำหนดเป็นแค่ตัวนำ แต่ใจความหลักคือเรื่องการเผชิญปัญหาและแก้ปัญหา ซึ่งทุกเพศทุกวัยสามารถอ่านได้ โจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้คนมองข้ามเปลือกนอกไปสู่แก่นหรือสาระสำคัญของเรื่อง

ตาล: เรื่องราวในเล่มไม่ใช่ประสบการณ์ของตาลโดยตรง ความทุกข์ต่างๆ ไม่ได้สัมผัสด้วยตนเอง จึงไม่แน่ใจในบางช่วงว่า การเขียนบรรยายของเรา การใช้คำต่างๆ ตรงกับระดับความรู้สึกนั้นหรือไม่ โอเวอร์ไปรึเปล่า จึงต้องปรึกษาหมอเป้หลายครั้งเพื่อหาคำที่ลงตัวจริงๆ

ถ้อยคำที่ไม่ควรพูดกับแม่ที่คลอดก่อนกำหนด

หมอเป้: เป็นเรื่องแปลกที่คิดว่าคนน่าจะรู้ ประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่คนแชร์กันมากที่สุด ยกตัวอย่างตอนเราพาลินลาไปเยี่ยมญาติ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าลินลาเกิดมาด้วยน้ำหนักแค่ 5 ขีด แต่ก็ยังถามว่าทำไมตัวเล็กจัง กินอะไรบ้าง แม่เลี้ยงดีรึเปล่า หรือแม้แต่รอยเข็มที่ตัวลินลา มักทักว่าไปซนมาใช่ไหม อีกเรื่องที่โดนติบ่อยๆ คือ ตำหนิว่าเราไม่ดูแลตัวเอง ลูกเลยต้องคลอดก่อนกำหนด ในความเป็นจริงมากกว่าครึ่งคลอดก่อนกำหนดโดยไม่รู้สาเหตุ และหลายคนก็ดูแลตัวเองเต็มที่แล้วแต่ก็ยังเกิด คำพูดพวกนี้มีแต่สร้างความรู้สึกผิด หรือรู้สึกไม่ดีให้คุณแม่ พอได้ยินได้ฟังมากๆ ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย จนไม่อาจปั๊มนมให้ลูก ถ้าไม่รู้จะพูดอะไร ลองแสดงความยินดีกับการเกิดของสมาชิกใหม่ก็ได้ หรือเพียงแค่บอกว่า เราอยู่ตรงนี้นะ มีอะไรให้ช่วยก็บอก เท่านี้ก็สร้างกำลังใจให้คนเป็นแม่มากมายแล้ว

สารที่อยากส่งผ่านหนังสือเล่มนี้

หมอเป้: อยากเติมพลังให้แก่คน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด หรือคนที่กำลังเผชิญความทุกข์อยู่ อาจนำแง่มุมเล็กๆ ของหนังสือเล่มนี้ไปปรับใช้ได้บ้างก็คงดี หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเนื้อหาครอบคลุมคนหลายกลุ่ม ทว่าเพียงแค่มีแม่หนึ่งคนที่กำลังหมดหวัง ไม่รู้จะทำยังไงต่อ ได้อ่านเล่มนี้แล้วลุกขึ้นมาปั๊มนม มีเรี่ยวแรง ก็เป็นสิ่งที่เราภูมิใจและเป็นเป้าหมายของการเขียน

ตาล: ขอเพียงแค่คนที่ได้อ่านเกิดจุดเปลี่ยนเล็กๆ ในชีวิต รู้สึกดีกับตัวเอง และรักตัวเองมากขึ้นก็พอใจแล้ว


World War Tools สงครามโลกในสิ่งของ

‘เตย’ มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ ผู้เขียน เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่ใช้วิธีเดิมๆ เช่น การเล่าตามไทม์ไลน์หรือผ่านประวัติบุคคลสำคัญ แต่เป็นการเล่าโดยหยิบยกการเกิดขึ้นของบางสิ่ง เช่น น้ำหอม Chanel No.5 นางปลอบใจ โอลิมปิก 1940 ฯลฯ เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับสงครามโลกครั้งที่สอง และส่งผลกระทบภายหลังอย่างไร เตยซึ่งสนใจประวัติศาสตร์และเรียนจบทางด้านนี้โดยตรง ปรุงแต่งให้หนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองเล่มนี้อ่านสนุก และยังได้ความรู้ครบรส

ทำไมเตยถึงสนใจเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง

ตอนเด็กๆ เตยดูหนังของพ่อเกี่ยวกับค่ายกักกัน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยไม่รู้ว่านั่นคือเรื่องจริง จนมารู้ทีหลัง แล้วเกิดคำถามว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เลยศึกษาต่อจนรู้ว่าเกิดสงคราม แล้วไม่มีวิธีป้องกันเลยเหรอ ค้นคว้าจนเจอว่าในสมัยนั้นสงครามคือสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่ลงรอยต่างๆ

กว่าจะมาเป็น World War Tools สงครามโลกในสิ่งของ

เตยทำเพจชื่อ ‘พื้นที่ให้เล่า’ กับเพื่อน เขียนเล่าเรื่องสงครามต่างๆ ตามความรู้ที่เราเรียนมา และสนใจ ทางสำนักพิมพ์แซลมอนรู้สึกทึ่งก็ชวนให้เขียนเป็นหนังสือ ช่วงนั้นเฟซบุ๊กไล่ลบคอนเทนต์สุ่มเสี่ยง และสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นหนึ่งหัวข้อที่โดน ในเมื่อเขียนทางออนไลน์ไม่ได้ก็เขียนทางออฟไลน์แล้วกัน

กำหนดขอบเขตเนื้อหายังไง

เราทำเพจมาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงเล่าเหมือนคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย เลือกฮุกหรือประเด็นเด็ดขึ้นมาเล่า เช่น พูดถึงแฟชั่นก็เลือกลิปสติก และขยายสู่การต่อต้านสงคราม เตยอยากให้เล่มนี้ฉายภาพทุกส่วน ไม่ใช่แค่แนวหน้าเท่านั้น ผู้คนแนวหลังล่ะ เขาได้รับผลกระทบยังไง อยู่กันยังไง ไม่มุ่งเน้นแค่ฝั่งยุโรป พูดถึงเอเชียด้วย ทำไมญี่ปุ่นเลือกเดินเข้าสู่สงคราม เกิดอะไรขึ้นในจีน เตยว่าสงครามโลกครั้งที่สองมันครอบคลุมทั้งโลก โดนผลกระทบกันทั้งหมดจริงๆ อยากจะแสดงข้อมูลให้ครบทุกด้าน

ลิปสติกสีแดงและการต่อต้านสงคราม

บทนี้พูดถึงฝรั่งเศสซึ่งเป็นเมืองแฟชั่น แม้ถูกยึดแต่ยังมีศักดิ์ศรี ผู้หญิงยังคงแต่งตัวสวย แม้ไม่มีเสื้อผ้าดีๆ เราก็จะหาให้มี ไม่มีถุงน่องก็ทาสีที่ขาให้เหมือนถุงน่องแทน เพื่อให้กำลังใจผู้ชายแนวหน้าที่อยากกลับมาเจอเมียสวยๆ และต่อต้านแนวคิดของนาซีที่ผู้หญิงควรสวยธรรมชาติ ไม่แต่งแต้ม เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของสาวฝรั่งเศสที่จะสวยเพื่อศักดิ์ศรีของประเทศ และสีแดงของลิปสติกก็เหมือนสีของนักสู้ เป็นการให้กำลังใจคนที่พบเห็นด้วย ว่าเรายังไม่ยอมแพ้ เรายังสู้ด้วยกันอยู่นะ

ความท้าทายกว่าจะเป็นเล่มนี้

เรื่องความถูกต้อง เพราะกลัวคลาดเคลื่อน เป็นความยากของคนเขียน non-fiction คือการค้นคว้าข้อมูลเยอะมากๆ สำหรับเตย ไม่สนุกยังดีกว่าไม่ถูกต้อง เราไม่อยากผลิตคอนเทนต์ขยะ

เป้าประสงค์ที่อยากสื่อสารผ่านหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อสอนใคร แต่เพื่อให้แรงบันดาลใจมากกว่า เพราะเตยก็ไม่ใช่อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ เราแค่อยากเป็นผู้จุดประกายให้คนที่สนใจไปศึกษาเพิ่มเติม เตยไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะบรรลุเป้าหมายไหม แต่อยากให้เราวางตัวเป็นกลางกับทุกอย่าง เตยเล่าจากทุกมุมมอง ญี่ปุ่น นาซี ให้เหตุผลว่าเขาทำเพราะอะไร มันมีเหตุผลในการก่อสงคราม แน่นอนมันไม่ถูกต้อง แต่ทำไมล่ะ ไม่อยากให้คนตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี ทุกตัวละครในสงครามก็คือมนุษย์ มีความเป็นคน

คุณูปการของสงครามโลกครั้งที่สองคืออะไร

คือการที่ประชาคมโลกหันมาคุยกันแล้วหารือว่าจะอยู่ร่วมกันยังไง สงครามโลกครั้งที่สองสร้างความเสียหายย่อยยับจนถ้าเกิดอีกก็ไม่ไหวแล้วนะ จึงเห็นความพยายามที่จะอยู่ร่วมกันด้วยทรัพยากรอันมีจำกัด เลยเกิด UN เกิดแนวคิดสิทธิมนุษยชน หลายคนอาจพูดว่า UN ไม่เห็นทำอะไร แต่มันป้องกันสงครามได้นานขนาดนี้ก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว หรือการเกิดขึ้นของ EU กล่าวกันว่ายุโรปจะเกิดสงครามทุกๆ 10-15 ปี เพราะเขาอยู่กันยาก มันใหญ่คับที่ แต่การที่ยุโรปไม่เกิดสงครามนานจนเกิดเรื่องยูเครน-รัสเซีย แสดงว่า EU ก็ประสบความสำเร็จพอควรเลย นอกจากนั้นยังเห็นการจัดการปัญหาด้วย ผู้แพ้สงครามอย่างเยอรมนีเขาก้าวผ่านยังไง เตยไปงาน Holocaust Day ทูตอิสราเอลกับเยอรมนีนั่งเคียงข้าง จับมือกัน ในขณะที่ฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยังเกลียดกันอยู่ การแก้ปัญหาต่างกันก็นำไปสู่ผลลัพธ์ต่างกัน และการแก้ปัญหาไม่ถูกต้องก็นำไปสู่ความเสียหายได้ เช่น การลงโทษผู้แพ้อย่างหนักในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

สิ่งที่ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์

เป็นคนไม่ตัดสิน ไม่ประณามว่าผิดก่อนที่จะรู้ต้นสายปลายเหตุ พยายามเข้าใจสถานการณ์และรับฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย มองโลกอย่างเป็นกลางมากขึ้น และไม่สร้างความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!