FAVI คือโรงหล่อชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในเมือง Hallencourt ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

ในปี 1983 ที่ ฌอง-ฟร็องซัว โซบริสต์ (Jean-Francois Zobrist) เข้ารับตำแหน่ง CEO ใหม่ๆ นั้น FAVI มีสภาพไม่ต่างจากโรงงานอื่นๆ

ทุกคนต้องตอกบัตรเข้า-ออก มาสายห้านาทีก็จะโดนหักเงินคิดเป็นรายนาที หน้าร้อนไม่อนุญาตให้เปิดแอร์ แถมยังต้องปิดหน้าต่างเพื่อประหยัดไฟในการผลิต

หากพนักงานอยากจะได้ถุงมือใหม่สักคู่ เขาต้องเขียนใบเบิกแล้วให้หัวหน้าเซ็นอนุมัติ จากนั้นเดินนำใบเบิกไปที่โกดังเพื่อแจ้งความจำนงแก่คนที่ดูแลสต็อก กว่าจะได้ถุงมือมาก็ต้องเสียเวลาทำงานมากโข เผลอๆ งานที่เสียไปมีมูลค่าสูงกว่าถุงมือคู่นั้นเสียอีก

ในวันแรกที่เขาได้เป็น CEO โซบริสต์จึงประกาศแก่พนักงานทุกคนว่า

“ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป พวกคุณไม่ได้ทำงานให้ผมหรือให้หัวหน้าแล้ว คุณต้องทำงานให้ลูกค้าเพราะเขาเป็นคนจ่ายเงินเดือนให้พวกคุณ ขอให้พวกคุณทำสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมและจำเป็นสำหรับลูกค้าก็แล้วกัน”

FAVI เริ่มแบ่งตัวเองเป็นโรงงานขนาดย่อม (minifactories) นับสิบโรงงาน ไม่มีการตอกบัตร ไม่มีเป้าการผลิต ไม่มีหัวหน้า มีแค่เพียงพันธสัญญาที่จะทำเพื่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน

เดี๋ยวนี้พนักงานสามารถซื้อเครื่องมือใหม่ได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ และไม่เคยส่งมอบงานล่าช้ามา 25 ปีแล้ว ทั้งนี้เพราะแต่ละทีมใน FAVI นั้นสามารถควบคุมงานของตัวเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ การส่งมอบงานให้ตรงเวลาไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นมารยาทสำหรับการอยู่ร่วมกัน

ในขณะที่โรงงานคู่แข่งในฝรั่งเศสและยุโรปเอาท์ซอร์สงานไปที่ประเทศจีนกันหมดแล้ว แต่ FAVI ยังคงผลิตทุกชิ้นส่วนด้วยตัวเอง แถมยังเป็นผู้ส่งออกไปยังประเทศจีนได้อีกต่างหาก

ในปี 1990 ช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียที่อิรักบุกคูเวต จำนวนลูกค้าของ FAVI หดหายไปมาก เมื่อยอดสั่งซื้อลดลง รายได้ก็ลดลง แถมต้องชะลอการผลิต

เมื่องานมีน้อยกว่าคน วิธีที่ง่ายที่สุดคือการปลดพนักงานชั่วคราว (temporary worker) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมด แต่โซบริสต์ก็รู้ดีว่าถ้าทำอย่างนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ยังอยู่

โซบริสต์จึงนัดประชุมคนงานเพื่อเล่าสถานการณ์ให้ทุกคนฟัง พร้อมทั้งขอความเห็นว่า พอจะมีทางไหนหรือไม่ที่เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้โดยที่ไม่ต้องทำให้ใครตกงาน

หลังจากพูดคุยและถาม-ตอบอย่างเปิดใจอยู่นาน พนักงานคนหนึ่งที่ชื่อว่าเชราร์ก็ถามขึ้นมาว่า

“แล้วถ้าพวกเราหยุดงานเดือนละหนึ่งสัปดาห์โดยที่ไม่รับเงินเดือน พนักงานชั่วคราวก็จะยังได้ทำงานต่อมั้ยครับ?”

โซบริสต์ยืนยันว่าวิธีนี้จะช่วยได้แน่นอน และขอให้ใครก็ตามที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ยกมือขึ้น

ปรากฏว่าเสียงโหวตเป็นเอกฉันท์ FAVI ทุกคนยอมลดรายได้ของตัวเองลงร้อยละ 25 อย่างเต็มใจ เป็นการเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวมโดยแท้

ไม่นานนัก ตลาดกลับฟื้นตัว และ FAVI ก็ผ่านพ้นวิกฤตินี้ได้โดยไม่ต้องปลดพนักงานเลยแม้แต่คนเดียว

เมื่อองค์กรและพนักงานต่างเคารพและดูแลซึ่งกันและกัน อุปสรรคใหญ่แค่ไหนคงไม่ยากเกินฝ่าฟัน


เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ Wongnai

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่