Fast & Feel Love ‘ถ้าเรารักอะไรซักอย่าง มันจะพาเราไปซักที่’

-

Fast & Feel Love เป็นหนังดราม่าคอเมดี้ที่มีจังหวะเล่าเรื่องตามสไตล์ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เสียดสีหน้าตาย มุกตลกจับกระแสสังคมและ meme คนรุ่นใหม่ พล็อตเรื่องโฟกัสไปที่ตัวละครหลักสองคนที่เป็นคนรักกันคือเกากับเจ

เกา เป็นเด็กหนุ่มที่รักกีฬา sport stacking เขาทุ่มเททั้งชีวิตตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์ทำสถิติโลก ตั้งแต่เรียนมัธยมปลายจนจบมา เกาแทบไม่ได้ใช้ชีวิตด้านอื่นเลย เวลาว่างเมื่อไหร่ก็จะตรงไปซ้อมกีฬาเล่นแก้ว  ชีวิตครอบครัวก็ช่วยแม่แค่เมื่อโดนเรียกใช้ (แถมบางทีฝากแฟนไปช่วยแทน) ชีวิตคู่ก็แทบไม่มีโมเมนต์โรแมนติกหรือวางแผนชีวิตคู่ที่จะนำไปสู่อนาคต ชีวิตส่วนตัว เช่น ซักผ้า หาของกิน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ก็มีแฟนช่วยจัดการให้หมดทุกอย่าง ฯลฯ

เกาโชคดีที่รายรอบด้วยคนที่รักเขา ผู้หญิงที่อุทิศชีวิตเพื่อช่วยให้เขาไปถึงฝัน ไม่ว่าจะแม่หรือเจ เพียงแต่ถ้ามองแบบคนแบบเกาในมุมมองที่ไม่ใช่หนังตลก เกาจะเป็นตัวละครที่ไม่น่ารักเลย ในความเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องไปถึงฝันของตัวเอง ในขณะที่ทุกคนอุทิศชีวิตให้เขาแต่เราไม่เห็นเลยว่าเขาอุทิศชีวิตด้านใดให้คนที่เขารัก

การไม่ค่อยดูแลแม่กับการใส่ใจแฟนลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เขาวิ่งไล่ตามความฝัน Sport Stacking คือทางเลือกใช้ชีวิตที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด เพราะการไปถึงฝัน การทำลายสถิติ การเป็นแชมป์หรือผู้ประสบความสำเร็จในหลายสายวิชาชีพ มีหลายคนรักษาสมดุลชีวิตไว้ได้ แต่ก็มีคนแบบเกาที่ทิ้งทุกอย่างได้แล้วอุทิศตนให้เป้าหมาย โดยมีราคาที่ต้องแลกคือชีวิตด้านอื่นๆ ที่เสียโอกาสใช้ กับการสูญเสียคนใกล้ตัวที่ค่อยๆ หายไปจากชีวิต

เพียงแต่เกาไม่เหมือนตัวละครในหนังไล่ตามฝันแบบ Whiplash ที่คนแบบพระเอกยอมสละทุกอย่างเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ฝัน  เกาไม่ใช่คนที่ยินดีสละความสัมพันธ์ เขาแค่ “ไม่รู้ตัว” ว่ากำลังทอดทิ้งคนอื่น เขาแค่เคยชินกับการไม่ต้องใส่ใจคนรอบข้างเพราะคนรอบข้างคอยช่วยเหลือเขาทุกด้าน ไม่ว่าจะทำบ้านให้เงียบเพื่อให้เกามีสมาธิหรือเคลียร์ปัญหาชีวิตยิบย่อยที่คอยกวนใจ เขาไม่เคยถูกเรียกร้องจากคนรักหรือเรียกได้ว่าถูกสปอยล์มาตลอด

งานของเกาตลอดมาจึงมีแค่ทำสถิติ จนเมื่อรู้ตัวว่าการไล่ตามฝันจนจะสูญเสียคนรัก ครั้นจะเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ก็สายเกินไปเพราะอีกฝ่ายก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน

น่าเสียดายที่นอกจากเกาไม่รู้ตัว เจเองก็ดีกับเกามากจนละเลยที่จะดีกับตัวเอง เพราะไม่ใช่แค่เกาที่มีความฝัน เจเองก็มีความฝัน แต่ที่ผ่านมาการใช้ชีวิตเป็นแฟนกัน เจก็เอา “ฝันของเกา” มาใส่ไว้เสมือนฝันของตัวเอง เธอคอยผลักดันเกาให้ไปถึงฝันแต่ไม่ได้พูดคุยกันเพื่อเติมเต็มฝันของตัวเองบ้าง ฝันที่อยากมีครอบครัว มีลูก หรือการใช้ชีวิตแบบครอบครัว

ที่ผ่านมา เจดูจะเป็นโค้ชหรือผู้จัดการส่วนตัวมากกว่าจะเป็นแฟน มองไม่เห็นวี่แววของการจะเป็นพ่อแม่คนด้วยกันเลย จนถึงจุดหนึ่งที่เจเริ่มกลับมาสนใจฝันของตัวเอง เธอจึงรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะไม่มีเกาหรือใครมาสนับสนุน เหมือนที่เธอช่วยเหลือเกาให้ไปถึงฝั่งฝัน

“ถ้าเรารักอะไรซักอย่าง มันจะพาเราไปซักที่”

เป็นคำกล่าวของเจที่เคยบอกกับเกาครั้งแรกตอนเป็นนักเรียนมัธยมปลาย พล็อตหลักของหนังก็ทำให้เห็นแล้วว่าคำพูดนี้ของเจเป็นจริง ความรักกีฬา sport stacking เหนือสิ่งอื่นใดก็ทำให้เกาเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นเรื่อยๆ ความรักที่เจกับเกามีให้กันก็พาให้เขาได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันหลายปี

แต่หนังก็ทำให้เห็นว่าการเดินทางไปพร้อมรักก็อาจถูกสกัดได้เช่นกัน ไม่ได้ถูกสกัดจากตัวร้ายหรือเจตนาร้าย หากแต่มาจากความหวังดี

เช่น ตอนต้นเรื่องเราเห็นเด็กนักเรียนแต่ละคนเข้ามาบอกเล่าความฝันของตัวเองให้อาจารย์ฟัง บางคนรักการร้องเพลง บางคนหลงใหลอยากแกะสลักหิมะ ฯลฯ แต่ครูล้วนเตือนคนที่มีฝันผิดไปจากค่านิยมหลักของสังคมให้เลิกฝัน

คำแนะนำของครูล้วนเป็นความหวังดี ไม่ว่าจะเตือนว่าการร้องเพลงอาจไม่ได้ทำให้เป็นอาชีพหลักที่จะสร้างรายได้ หรือประเทศไทยไม่ได้มีหิมะก็ไม่น่าฝันที่จะเอาดีทางนี้ ฯลฯ หากมองในแง่ตรรกะกับความน่าจะเป็น คำแนะนำของครูนั้นก็ตั้งอยู่บนความเป็นไปได้

เพียงแต่หากคำแนะนำตั้งอยู่บนเหตุผลส่วนบุคคลมากไป มันก็กลายเป็นการสกัดความฝันโดยไม่รู้ตัว เพราะเหตุผลของผู้ใหญ่ก็อาจตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ของตัวเองที่เติบโตมา ครูไม่ใช่ตัวร้าย ครูไม่ได้พูดผิด แต่กรอบที่ครูเติบโตมาทำให้ครูมอง “ตรรกะของความฝัน” เป็นแบบนั้น คือฝันต้องมีความเป็นไปได้ ฝันต้องมีตัวชี้วัดเป็นรูปธรรมเช่นรายได้ที่จะตามมาเป็นหลักประกัน ความฝันของครูอิงกับ “ความมั่นคง”

ที่บอกว่าคำแนะนำของครูก็ไม่ผิด เพราะฝันของคน 100 คนที่อยากเป็นนักร้องประสบความสำเร็จอาจมีคนล้มเหลวเกินครึ่ง ฝันของคนไทยที่อยากแกะสลักหิมะอาจไปถึงฝันแค่ 1%

ดังนั้นคำแนะนำของครูก็คือคำแนะนำที่อิงตามสถิติส่วนใหญ่ เช่น คนเรียนหมอหรือวิศวกรก็อาจมีโอกาสได้ความมั่นคงมากกว่า เพียงแต่ว่าชีวิตของคนไม่ได้อิงสถิติ บางคนก็ไม่ได้ต้องการความมั่นคงเป็นอันดับแรกเสมอไปแต่เส้นชัยของชีวิตคือการได้มีความพยายามจนถึงที่สุดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

และแม้จะ 1% ที่เป็นส่วนน้อยในการประสบความสำเร็จ มันก็คือ % ของความเป็นไปได้ ที่จะกลายเป็น 0 ทันทีเมื่อตัดสินใจหยุดเดินตามฝันตามคำแนะนำที่หวังดี (เพราะตัวละครที่รับบทนักเรียนตอนต้นเรื่องล้วนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จตามฝันในชีวิตจริง เช่น มิลลิ หรือความจริงที่ว่าประเทศไทยสามารถชนะรางวัลแกะสลักหิมะมาหลายต่อหลายครั้งทั้งที่ญี่ปุ่นและจีน)

“ถ้าเรารักอะไรซักอย่าง มันจะพาเราไปซักที่” จึงเป็นคำแนะนำที่ครูอาจให้ลูกศิษย์ได้ สร้างภาพความเป็นไปได้ ทำให้เห็นว่าถ้าสำเร็จแล้วจะได้อะไร หรือหากล้มเหลวแล้วก็จะพาเราไปพบกับอะไร สร้างภาพความน่าจะเป็นแล้วปล่อยให้แต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกโดยไม่ต้องรู้สึกผิด และโอกาสประสบความสำเร็จแม้จะมีแค่ 1% แต่ก็อย่าเพิ่งดับฝันนั้น เพราะผู้ประสบความสำเร็จมากมายในสังคมก็คือคนที่เลือกเดินตามโอกาสที่มีแค่ 1%


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!