ฟางข้าวคือส่วนลำต้นของข้าว เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะกลายเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่ต้องกำจัดเพื่อเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชอย่างอื่นต่อไป การกำจัดสามารถทำได้โดยใช้เป็นอาหารปศุสัตว์หรือฝังกลบ ทว่าจำนวนที่มากเกินไปและมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มักใช้วิธีการเผาทำลาย ซึ่งตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงพลังงานระบุว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกิดจากการเผาในที่โล่ง เราจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร “สินค้าเด่นไอเดียเด็ด” ขอพาไปรู้จักกับ ‘นุ๊ก’ จารุวรรณ คำเมือง ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ หจก.ฟางไทย แฟคตอรี่ เจ้าของไอเดียนำวัสดุเหลือทิ้งอย่างฟางข้าวมาสร้างประโยชน์ เกิดเป็น “เยื่อฟางข้าว” ที่สามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย
จุดเริ่มต้นของฟางไทย แฟคตอรี่ เกิดขึ้นที่ชุมชนบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง บ้านเกิดของจารุวรรณ เธอเห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาตั้งแต่เด็ก แม้ช่วงมหาวิทยาลัยเธอจะเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ แต่เมื่อกลับบ้านมาอีกครั้ง เธอก็ยังเห็นว่าคนในชุมชนยังคงดำรงวิถีดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ “การทำนา” จารุวรรณเล่าว่าชุมชนบ้านสามขาไม่ได้มองว่าการทำนาเป็นเพียงอาชีพ แต่เปรียบเสมือนวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมา ด้วยเหตุผลว่า “ต่อให้ค้าขายไม่ได้กำไร ชาวบ้านก็ยังทำนาต่อไปค่ะ ชุมชนของเราเข้มแข็งเรื่องสิ่งแวดล้อม เราใช้น้ำจากภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีมาตรการเคร่งครัดถือปฏิบัติกันมาช้านานว่าห้ามใช้สารเคมีในนา ดังนั้นต่อให้ข้าวที่อื่นจะถูก แต่อย่างน้อยชาวบ้านก็มั่นใจได้ว่าข้าวที่เขาปลูกเองปลอดภัยกว่าแน่นอน เขารู้สึกภูมิใจกับการได้มีข้าวปลอดภัยไว้กินเองจากพื้นที่ซึ่งสืบทอดกันมา ดีใจที่ได้ใช้พื้นที่ของบรรพบุรุษให้เกิดประโยชน์”
ทว่าการทำนานั้น เมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว ฟางข้าวจะกลายเป็นวัสดุเหลือทิ้งซึ่งส่วนใหญ่กำจัดด้วยวิธีการเผา จากการที่จารุวรรณได้พูดคุยกับเกษตรกร พบว่าพวกเขาไม่ได้อยากตกเป็นจำเลยในการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้จารุวรรณครุ่นคิดถึงวิธีการแก้ไข ประเด็นสำคัญคือเธอไม่ได้ต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำนาของคนในชุมชนที่ดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน เพราะตระหนักดีว่าการสร้างอาชีพใหม่ไม่ใช่การทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา แต่เป็นการมองหาโอกาสเพื่อต่อยอด นั่นจุดประกายให้เธอริเริ่มความคิดใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งนี้
ช่วงตั้งต้น จารุวรรณนำฟางข้าวมาทำเป็นกระดาษแฮนด์เมดสร้างผลิตภัณฑ์ทำมือ เช่น พวงกุญแจ กรอบรูป และลองสำรวจตลาดด้วยการออกบูธแสดงสินค้าตามงานต่างๆ จนพบว่าผู้ร่วมงานหยิบสินค้าของเธอไปเพราะคิดว่าแจกฟรี เธอจึงรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า “ช่วงสามปีแรกที่ออกบูธ เราไม่ได้กำไรเลยนะคะ แต่นุ๊กมองว่าสิ่งที่เราได้รับกลับมาไม่ใช่กำไรที่เป็นตัวเงิน แต่เป็น ‘ความคิดเห็นจากลูกค้า’ ที่เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขา โจทย์ที่ได้รับทำให้เรากลับมาคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์” จารุวรรณรวบรวมความเห็นจากลูกค้า พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์มาเรื่อยๆ จนกลายเป็น “เยื่อฟางข้าว” ของฟางไทย แฟคตอรี่อย่างทุกวันนี้
เนื่องจากเยื่อฟางข้าวเป็นเยื่อใยสั้น หลายคนอาจกังวลเรื่องความแข็งแรง แต่ด้วยกระบวนการของฟางไทยฯ สามารถช่วยเสริมความแข็งแรงให้เยื่อจนมีความคงทนไม่ต่างจากเยื่อกระดาษจากวัสดุชนิดอื่น การันตีคุณภาพผลิตภัณฑ์และไอเดียด้วยรางวัลมากมายจากทั้งในและต่างประเทศ จารุวรรณเล่าถึงขั้นตอนการทำงานของฟางไทยฯ ว่าแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ต้นน้ำคือกลุ่มเกษตรกร หลังฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำงานรับจ้างทั่วไปและมีรายได้ไม่แน่นอน ฟางไทยฯ จึงเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านรวบรวม “ฟางข้าวสะอาด” ส่งขายให้แก่บริษัท ราคาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความชื้น ความสะอาด
กลางน้ำคือฟางไทย แฟคตอรี่ รับฟางข้าวสะอาดมาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเยื่อ ในเมื่อต้นน้ำคือฟางข้าวที่ได้มาโดยปราศจากสารเคมี กลางน้ำก็ควรยึดหลักนั้นด้วย แม้กระดาษและเยื่อจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาน้ำเสีย แต่จารุวรรณอยากให้ทุกขั้นตอนช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง จึงใช้เวลาทดลองอยู่หลายปีเพื่อให้กระบวนการต่างๆ ปราศจากสารเคมีเจือปน โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการเข้ามาช่วยตรวจสอบคุณภาพเพื่อความปลอดภัย
ก่อนจะส่งต่อให้ปลายน้ำ คืออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานกระดาษ โรงงานขึ้นรูป ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย อาทิ จาน ชาม แก้วน้ำ แผ่นรองซับสำหรับผู้สูงอายุ แผ่นเมลต์โบลวสำหรับหน้ากากอนามัย เป็นต้น จารุวรรณเพิ่มเติมอีกว่าถึงแม้งานหลักของฟางไทยฯ คือการผลิตเยื่อฟางข้าว กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือต่างประเทศซื้อวัสดุไปผลิตสินค้าเอง แต่ก็มีลูกค้าในประเทศบางส่วนที่ต้องการงานเป็นตัวผลิตภัณฑ์ ฟางไทยฯ จึงรับงานเมดทูออเดอร์ (made to order) บางประเภทด้วย โดยรับโจทย์จากลูกค้ามาเพื่อประเมินความเป็นไปได้ก่อนว่าสามารถผลิตให้ได้หรือไม่ ตัวอย่างงาน เช่น นามบัตร กล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
ความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเกินความคาดหมาย ทำให้ฟางไทยฯ ต้องเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งเท่ากับต้องใช้ปริมาณฟางข้าวมากขึ้นตามไปด้วย จนต้องขยายการรับซื้อฟางข้าวสะอาดไปยังจังหวัดข้างเคียง เป็นการช่วยส่งเสริมรายได้แก่เกษตรกรอีกหลายครัวเรือน และที่สำคัญการนำฟางข้าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์จะลดปัญหาเรื่องการเผาฟางข้าว เพราะการเผาฟางข้าวไม่ได้สร้างปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลกด้วย เนื่องจากทำให้เกิดก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) มลพิษทางอากาศ สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน
จารุวรรณมองถึงการเติบโตของบริษัทในอนาคตว่าฟางข้าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เธอสามารถนำวัสดุเหลือทิ้งอื่นๆ มาสร้างเป็นเยื่ออีก เช่น ข้าวโพด โดยคงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิมคือลดขยะและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตร เพื่อช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์ให้ชุมชน ประเทศ และโลกอย่างยั่งยืน
ติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Line ID: 0959269280
โทรศัพท์: 0 5426 0109
คอลัมน์ : สินค้าเด่นไอเดียเด็ด
เรื่อง: กัตติกา
ภาพ: จารุวรรณ คำเมือง
All Magazine กุมภาพันธ์ 2564