รวมข่าวปลอม โรคโควิด -19

-

จนถึงวันนี้ โรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งเคยระบาดอย่างหนักในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้แพร่ระบาดลุกลามไปทั่วทุกทวีปของโลกแล้ว อย่างที่ไม่คาดคิดกันมาก่อน และพบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้แล้วถึงกว่า 3 ล้านคน ใน 200 กว่าประเทศ มีผู้เสียชีวิตรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ยังดีที่ว่าในประเทศไทยของเรา ตรวจพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อแล้วแค่ประมาณ 3 พันคน และมีผู้เสียชีวิตยังไม่ถึง 100 ราย

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะมีอาการป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับปานกลาง และสามารถหายได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังกลับมีความเสี่ยงมากที่จะมีอาการรุนแรงได้ เชื้อไวรัสมักแพร่กระจายผ่านทางละอองน้ำลายเมื่อไอหรือจาม ดังนั้น วิธีชะลอการแพร่ระบาดของโรค ก็คือการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ต้องปิดปากเมื่อไอจาม และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ชุมนุมชน ในขณะที่ป้องกันการติดเชื้อด้วยการล้างมือบ่อยๆ และไม่จับต้องใบหน้าของเรา

ลักษณะของเชื้อโคโรน่าไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

อาจจะด้วยกระแสความวิตกกังวล และความตระหนกตกใจกันในสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีข้อมูลข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 แพร่ไปทั่ว ไม่แพ้การระบาดของเชื้อโรคเอง ตั้งแต่เรื่องจุดกำเนิดของเชื้อไวรัส จนถึงความร้ายแรงของโรค แต่ประเด็นข่าวปลอมที่มีการแชร์กันมากอย่างน่าเป็นห่วง คือเรื่องวิธีการป้องกันและรักษาโรค ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“จิบน้ำบ่อยๆ จะป้องกันโคโรน่าไวรัสไม่ให้เข้าปอดได้” – มีการแชร์ข้อความกันว่า คุณหมอที่เคยรักษาคนไข้โรคโควิด-19 มาหลายเคสแล้ว ได้แนะนำให้ทุกคนจิบน้ำทุก 15 นาทีเพื่อให้ปากและคอชุ่มชื้นไว้ อย่าให้แห้ง  เพราะเมื่อเชื้อไวรัสเข้าปากของคุณแล้ว น้ำที่ดื่มเข้าไปจะช่วยล้างเชื้อไวรัสให้ลงคอไปสู่กระเพาะอาหาร และน้ำย่อยในกระเพาะจะช่วยฆ่าเชื้อได้ แต่ถ้าดื่มน้ำไม่บ่อยพอ เชื้อไวรัสจะเข้าหลอดลมไปสู่ปอดได้!

เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร ถึงแม้ว่าการดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายของคนเราที่ติดเชื้อโรค (ชนิดใดก็ตาม) นั้นรู้สึกดีขึ้น ลดอาการเจ็บคอ-กระหายน้ำลง แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ สนับสนุนว่าการจิบน้ำจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสติดต่อสู่ระบบทางเดินหายใจของเรา ซึ่งเป็นคนละส่วนกับระบบย่อยอาหาร

 

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มักมีอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส

ถ้ากลั้นหายใจได้โดยไม่ไอ ไม่รู้สึกอึดอัด แปลว่าปอดของคุณไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19” – อันนี้อ้างว่า เชื้อโคโรน่าไวรัสนั้นอาจจะอยู่ในระยะฟักตัวที่ไม่แสดงอาการของโรคเป็นเวลาหลายวัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อแล้ว ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำวิธีตรวจสอบตัวเองอย่างง่ายๆ ที่ควรจะทำทุกเช้า โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นเอาไว้ให้นานกว่า 10 วินาที ถ้าคุณทำได้โดยไม่ไอออกมา ไม่รู้สึกอึดอัดแน่นหน้าอก แสดงว่าคุณไม่มีพังผืดเกิดขึ้นในปอด และก็แปลว่าคุณยังไม่ได้ติดเชื้อ!?

การกลั้นหายใจไม่ใช่วิธีทดสอบพังผืดในปอดแต่อย่างไร ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าการกลั้นหายใจได้ 10 วินาทีแสดงถึงภาวะที่ปอดไม่ได้ติดเชื้อโรค และถึงแม้ว่าจะเกิดอาการหายใจติดขัดระหว่างกลั้นหายใจ ก็ไม่ได้แปลว่าสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ลดความสามารถในการทำงานของปอดลง เช่น อาการภูมิแพ้ หอบหืด โรคทางเดินหายใจอักเสบ และการติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆ แถมเวลาที่แพทย์ตรวจการทำงานของปอดนั้น แพทย์ก็ไม่ได้ใช้วิธีให้กลั้นหายใจแบบนี้ด้วย

 

น้ำมะนาว แม้ว่ามีวิตามินซีสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดื่มเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคโควิดได้

ดื่มน้ำร้อนใส่มะนาวและโซดาไบคาร์บอเนต จะทำให้ร่างกายเป็นด่าง และรักษาป้องกันโรคโควิด-19 ได้– ข้อความนี้ก็นิยมแชร์กันมาก ไม่แพ้สองข้อความแรก บอกถึงความเชื่อเกี่ยวกับการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายด้วยการกินน้ำด่าง อาหารด่าง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวคิดแบบ pseudo science หรือวิทยาศาสตร์เทียม ที่มีผู้เสนอไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 และผู้ที่อ้างตนว่าเป็นกูรูด้านสุขภาพยังคงนิยมเอามาเผยแพร่จนถึงทุกวันนี้

แต่ความจริงแล้ว ร่างกายของคนเราตามปรกติ ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงบางอย่างนั้น จะมีระดับค่าพีเอชของความเป็นกรดด่างที่คงที่มากๆ คือมีค่าเป็นด่างอ่อน ประมาณ 7.36-7.44 ในเลือดของเรา (ค่าพีเอชที่เป็นกลาง จะเท่ากับ 7) เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นปรกติ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นด่างเข้มขึ้นจากอาหารที่เรากิน มีเพียงปัสสาวะเท่านั้นที่มีระดับพีเอชเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารและเครื่องดื่มที่กินเข้าไป แต่ก็ไม่มีผลต่อการป้องกันหรือต่อสู้กับเชื้อไวรัสอยู่ดี

นอกจากตัวอย่างทั้งสามนี้แล้ว ยังมีข่าวปลอมอีกมากมายที่แพร่กระจายอยู่ในสถานการณ์โรคโควิด-19 หวังว่าทุกท่านจะติดตามข่าวสารที่ถูกต้องจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เพื่อที่จะได้มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยจากโรคระบาดนี้กัน

 


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!