พอประเทศไทยเราเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ราคาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่างๆ แพงขึ้นทีไร พวกสินค้าหลอกลวงว่าช่วยประหยัดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้มได้ ก็จะกลับมาหลอกขายกันใหญ่ แถมยังขายได้จริงๆ ด้วย ทั้งที่บางตัวดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ เช่น “การ์ดประหยัดพลังงาน” เป็นแค่แผ่นการ์ด ขนาดบัตรเอทีเอ็ม ให้เอาไปแปะตามตู้ไฟบ้าน ถังแก๊ส ฝาถังน้ำมันรถยนต์ ลดค่าใช้จ่ายได้ (ซึ่งดูยังไงก็ไม่น่าเชื่อว่าจะจริง) แต่ยังมีคนหลงซื้อตาม
สินค้าหลอกลวงพวกนี้มักมีวิธีการหลอกขายคล้ายๆ กัน ตั้งแต่การโฆษณาอวดอ้างจนเกินจริง โดยการใช้คำพูดเชิงวิทยาศาสตร์ลวงโลก (pseudo science) ให้คนฟังศรัทธา ตามด้วยการอ้าง “ผู้ใช้” ที่เกิดอุปาทานหลงเชื่อ หรือเป็นหน้าม้า หรือจ้างคนมีชื่อเสียงมาช่วยกันโปรโมต แล้วก็สาธิตให้ดูด้วยเทคนิคที่เตรียมมาใช้หลอกโดยเฉพาะ
มีกรณีตัวอย่างของพวก “กล่องประหยัดไฟฟ้า” ซึ่งมีคนไปซื้อมาจากย่านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า อ้างว่าแค่เอาไปเสียบไว้กับเต้าไฟบ้านแล้วทิ้งไว้ จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 20-40 % ซึ่งแม้เป็นไปไม่ได้ แต่คนขายก็สาธิตหลอกด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งมิเตอร์ของการไฟฟ้าเอาไว้ บอกให้ลูกค้าดูความเร็วของจานหมุนในมิเตอร์ แล้วก็เอากล่องของเขามาเสียบปลั๊ก พบว่าจานนั้นหมุนช้าลง คนซื้อเลยหลงเชื่อว่ามันจะทำให้ค่าไฟบ้านลดลงได้จริงๆ
แต่พอเอากลับมาใช้จริงที่บ้าน นอกจากค่าไฟจะไม่ลดแล้ว กลับเพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นหน้าหนาว อากาศเย็น ค่าไฟไม่น่าสูงเหมือนช่วงหน้าร้อน พอเอามิเตอร์วัดไฟไปไล่เช็กตามส่วนต่างๆ ในบ้าน ก็พบว่าเจ้ากล่องประหยัดไฟฟ้านั่นเอง ที่กินไฟอยู่ประมาณ 1.8 แอมป์ และเพิ่มค่าไฟฟ้าโดยใช่เหตุ ยิ่งใช้นานยิ่งต้องเสียเงินเยอะ
อุปกรณ์พวกนี้ถ้าดีจริง การไฟฟ้าคงแนะนำให้ใช้ไปแล้ว และที่จริง ถ้าได้ลองแกะเปิดกล่องอุปกรณ์ที่หลงซื้อมาดูข้างใน ก็มักพบว่า ข้างในนั้นไม่ได้มีวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อะไรที่จะช่วยประหยัดพลังงานได้ บางทีก็มีแค่วงจรสำหรับหลอดแอลอีดี (LED) ให้มีไฟสวยๆ หรือใส่ตัวเก็บประจุ (capacitor) ซึ่งมีประโยชน์เพียงแค่ทำให้กระแสไฟฟ้าเดินเรียบขึ้น จึงดีสำหรับสถานประกอบการและโรงงาน แต่ไม่ได้มีผลในการลดค่าไฟฟ้าของบ้านเรือน เพราะค่าไฟบ้านนั้นคิดจากปริมาณวัตต์ไฟฟ้าตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้ไป ไม่เกี่ยวกับความเรียบของกระแส
ในส่วนของอุปกรณ์หลอกลวงที่อ้างว่าช่วยให้รถยนต์ประหยัดน้ำมันได้นั้น ก็มีหลากหลายแบบและวิธีการ อย่างเช่น “สายรัดประหยัดน้ำมัน” เอาไปพันกับพวกท่อในห้องเครื่องรถยนต์ แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ถึง 40 % อีกทั้งอ้างว่าเกิดจากพลังงานสเกลาร์ หรือพลังงานควอนตัม ซึ่งเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้เครื่องยนต์เดินอย่างสมดุล ทั้งที่ “พลังงานควอนตัม” นั้นไม่มีจริง แต่เป็นการนำเอาคำศัพท์ทางฟิสิกส์มาตู่อ้างมั่วๆ ให้คนฟังคล้อยตาม
ซ้ำร้ายยังคือมีการผสมแร่ธาตุกัมมันตรังสี เช่น แร่โมนาไซต์ เข้าไปในเนื้อวัสดุ จนเกิดการปลดปล่อยรังสีต่างๆ ออกมา เวลาเอาเครื่องมือเฉพาะด้านนิวเคลียร์มาวัดค่า ก็จะได้ตัวเลขที่ดูน่าตื่นใจในสายตาของผู้สนใจซื้อ แต่รังสีดังกล่าวนั้นไม่ได้มีผลต่อการประหยัดน้ำมันสำหรับรถยนต์ที่ติดตั้ง แถมเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสและใกล้ชิดด้วย
นอกจากสายรัดประหยัดน้ำมัน ก็ยังมี “กล่องโอบีดีทู (OBD2)” ซึ่งอ้างว่าแค่เอาไปเสียบกับปลั๊ก OBD2 ที่อยู่ตรงแถวที่นั่งคนขับ และมีไว้ต่อกับอุปกรณ์ซึ่งใช้อ่านข้อมูลการทำงานของรถยนต์ หรือไว้สั่งการบางอย่างกับรถยนต์ (เช่น ล็อกประตูรถ เปิดไฟฉุกเฉิน) ก็สามารถประหยัดน้ำมันรถยนต์ได้ เพราะมันจะบันทึกพฤติกรรมการขับขี่ แล้วเอาไปวิเคราะห์ ก่อนส่งคำสั่งไปปรับจูนเครื่องยนต์ให้ประหยัดน้ำมันขึ้น ช่วยลดมลพิษ ฯลฯ แต่พอลูกค้าลองซื้อไปแกะดูด้านในกล่อง ก็ไม่พบว่ามีวงจรใดๆ ที่จะตรวจวิเคราะห์ปรับจูนเครื่องยนต์ได้อย่างที่อ้าง
“ชุดอุปกรณ์สายสร้อยลูกปัดมิราเคิล (Miracle)” มีทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้เอาไปติดวัดค่าความต่างศักย์ตรงขั้วบวกลบของแบตเตอรีรถยนต์ และอุปกรณ์รูปจานที่ให้เอาไปวางบนกรองอากาศ รวมถึงสายสร้อยลูกปัดที่ให้เอาไปหย่อนลงในหม้อน้ำรถ โดยอ้างว่าเมื่อใช้รวมกันทั้งระบบ จะสร้างสนามแม่เหล็กขึ้น ทำให้ประหยัดน้ำมันรถยนต์ได้ นอกจากชุดอุปกรณ์นี้ซึ่งมีพิรุธว่าเป็นของหลอกลวง ด้วยการอ้างอิงพลังเหนือธรรมชาติในสายสร้อยลูกปัดแล้ว การติดตั้งกล่องอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรไว้ที่แบตเตอรีของรถยนต์ ก็ดูน่าเป็นห่วงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายหลังด้วย
“ปลั๊กเสียบที่จุดบุหรี่” ก็เป็นอุปกรณ์หลอกลวงอีกชนิดที่พบบ่อย โดยทำเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เสียบกับที่จุดบุหรี่ในรถยนต์ แล้วอ้างว่ามีตัวเก็บประจุที่ช่วยกรองสัญญาณรบกวนทางกระแสไฟฟ้า และปรับสมดุลความต่างศักย์ระหว่างอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถ จนเกิดความเสถียรของไฟฟ้าในรถ แบตเตอรีไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งก็เป็นการอ้างไปเรื่อย นอกจากไม่ได้ช่วยประหยัดน้ำมันแล้ว มันยังดูดไฟฟ้าจากรถยนต์ไปใช้ด้วย
“กล่องแม่เหล็กต่อท่อน้ำมัน” เป็นกล่องที่อ้างว่ามีแม่เหล็กอยู่ด้านใน ให้เอากล่องไปต่อเชื่อมกับท่อส่งน้ำมันของรถยนต์ แล้วแม่เหล็กจะเปลี่ยนโครงสร้างน้ำมัน ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น ฯลฯ แต่ความจริงแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ รวมถึงแก๊สแอลพีจี (LPG) หรือซีเอ็นจี (CNG) ล้วนเป็นสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีโมเลกุลส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนและคาร์บอน ไม่ได้เป็นสารเฟอร์โรแมกเนติกที่ถูกดูดด้วยแม่เหล็กได้ และไม่มีผลต่อโครงสร้างโมเลกุลน้ำมันดังที่อ้าง
“ชุดใบพัดลมหมุน” เป็นใบพัดโลหะที่อ้างว่าสามารถหมุนเอาอากาศดีเข้าสู่เครื่องยนต์ได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มแรงม้า เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง แต่ที่จริงใบพัดนี้กลับกีดขวางทางเดินของอากาศที่เข้าสู่เครื่องยนต์ต่างหาก แถมถ้ามันเกิดแตกหัก หลุดเข้าไปในเครื่องยนต์ได้ ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นอีก
จะเห็นได้ว่า อุปกรณ์หลอกลวงพวกนี้ไม่สามารถประหยัดพลังงานได้จริงตามคำอวดอ้างโฆษณาสินค้า ไม่มีหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องมาสนับสนุน อีกทั้งการทดสอบอุปกรณ์ก็เป็นวิธีการซึ่งผู้ขายหรือผู้ใช้ทำกันเอง ไม่ใช่วิธีการอันเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกัน
ในโลกความเป็นจริงแล้ว ทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงผู้จำหน่ายเชื้อเพลิง ต่างก็ทุ่มเทกำลังคนและงบประมาณในการวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าต่างๆ ให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด หากมีการคิดค้นนวัตกรรม ได้อย่างที่แอบอ้างกัน สิ่งเหล่านี้ก็คงถูกนำมาติดตั้งแต่แรกแล้ว เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์