‘ข่าวปลอม’ ปัญหาใหญ่ในการรับมือโรคโควิด

-

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจ อันเกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกกันว่า โรคโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา อย่างรุนแรงนั้น ยังดำเนินต่อไป และไม่มีแนวโน้มให้เห็นว่าจะสิ้นสุด หรือหายไปได้ในเร็ววันนี้ แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการกำเนิดขึ้นของสายพันธุ์ไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นอีก

อุปสรรคในการต่อสู้รับมือ ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาเชื้อไวรัสเองที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มาตรการควบคุมโรคที่ไม่ทันท่วงที วัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด และกลไกการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ที่ยังทำได้ไม่ทั่วถึง แต่ “ข่าวปลอม ซึ่งแชร์กันผิดๆ ในโลกโซเชียล” ยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญต่อการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ตลอดจนการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยโรคโควิด

ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แห่งประเทศไทย หรือ Anti Fake News Center Thailand ของกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่รวบรวมข่าวปลอมต่างๆ เอาไว้ ระบุว่ามีข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งทางศูนย์ฯ ต้องออกมาแก้ข่าวอยู่หลายร้อยข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิดแบบผิดๆ  หรือวิธีการผิดๆ ในการป้องกันหรือรักษาโรคโควิด

 

ข่าวปลอม อ้างชื่อคณบดี คณะเพทยศาสตร์ศิริราชฯ แนะนำวิธีตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง โดยการกลั้นหายใจ
ข่าวปลอม อ้างชื่อคณบดี คณะเพทยศาสตร์ศิริราชฯ แนะนำวิธีตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง โดยการกลั้นหายใจ

ตัวอย่างเช่น ข่าวปลอมวิธีตรวจการติดเชื้อโรคโควิดด้วยการกลั้นลมหายใจ ซึ่งเป็นคลิปเสียงที่แชร์กันผ่านโซเชียลมีเดีย อ้างว่าเป็นเสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่แนะนำวิธีตรวจสอบปอดด้วยตัวเองว่าติดเชื้อโคโรนาไวรัสหรือไม่ ด้วยวิธีหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที (หรือให้ดูจุดกราฟฟิกในคลิป เคลื่อนที่จากตำแหน่ง A ไป B ) ถ้าไม่มีอาการไอ แน่นหน้าอก แสดงว่าไม่ติดเชื้อ

แต่ความจริงแล้ว วิธีดังกล่าวไม่ใช่วิธีที่จะเช็คการติดเชื้อไวรัสโควิด เพราะตามปกติ แพทย์วินิจฉัยด้วยการฟังเสียงการทำงานของปอด ว่ามีความปกติในการหายใจหรือไม่ ร่วมกับการเอกซเรย์ปอดว่ามีฝ้าขาวผิดปกติไหม แถมทางคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เสียงของบุคคลในคลิปดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีฯ และไม่เคยแนะนำวิธีตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง

หรือกรณีข่าวปลอมที่แชร์กันมาจากประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาด ว่าเราสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโควิดลงปอดจนเป็นอันตรายได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงแค่เอาน้ำอุ่นมาผสมกับเกลือ แล้วใช้น้ำเกลือนี้กลั้วคอทุกวัน เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จะไปอยู่ที่บริเวณลำคอเป็นเวลา 4 วันก่อนเข้าสู่ปอด​ การกลั้วคอจึงช่วยทำลายเชื้อโรคได้  ให้เชื้อไหลลงสู่กระเพาะและสลายไป

 

พวกผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปากและลำคอไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิดลงปอดได้จริง
พวกผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปากและลำคอไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิดลงปอดได้จริง

แต่ข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องเลยเมื่อพิจารณาการทำงานของร่างกาย เพราะถ้าสมมติว่าน้ำเกลือสามารถล้างเอาเชื้อไวรัสโควิดออกจากช่องปาก ช่องคอ และหลอดอาหารได้ แต่เชื้อส่วนมากก็ยังอยู่ในระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก หลอดลม ซึ่งเป็นคนละส่วนกับระบบทางเดินอาหาร การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (หรือของเหลวอื่นๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว) จึงไม่อาจช่วยกำจัดเชื้อที่อยู่ในหลอดลม รวมถึงเนื้อเยื่อปอดได้

เรื่องการกลั้วน้ำเกลือนี้ ใช้อธิบายได้กับอีกหนึ่งประเด็นข่าวปลอม คือ การนำเอาผลิตภัณฑ์สเปรย์ฉีดพ่นแก้เจ็บคอ มาแอบอ้างโฆษณาขายเกินจริงว่าทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนลงปอดได้ มีการโฆษณาขายสเปรย์พ่นปากยี่ห้อต่างๆ ที่ใส่ตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน (povidone iodine) หรือตัวยาพรอพอลิส (propolis) ไอโอดีน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ ลดอาการระคายคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิดได้

 

แม้แต่ใบกระท่อมก็มีผู้สร้างข่าวปลอม ว่าใช้เสพเพื่อป้องกันโควิดได้
แม้แต่ใบกระท่อมก็มีผู้สร้างข่าวปลอม ว่าใช้เสพเพื่อป้องกันโควิดได้

ที่ไปกันใหญ่คือข่าวปลอมที่อ้างว่า การเสพกัญชา หรือใบกระท่อมสามารถช่วยต้านโรคโควิดได้  เพราะกัญชามีสารเอนโดแคนนาบินอยด์ (endocannabinoid) เมื่อโดนความร้อนจากการเผาไหม้ จะกระจายโมเลกุลไปเคลือบผิวของถุงลมในปอด จนเชื้อไวรัสไม่สามารถฝังตัวที่ปอด ส่วนใบกระท่อมก็มีสารไมทราไกนีน (mitragynine) จึงสามารถนำไปใช้ป้องกันรักษาโรคโควิดได้  แต่ทั้งกัญชาและกระท่อมนั้น ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถใช้รักษาหรือป้องกันโรคโควิดได้ ซ้ำร้ายกลับต้องระมัดระวังถึงผลข้างเคียงที่ตามมาต่อระบบร่างกายและระบบประสาทจากพืชทั้งสองตัวนี้

ดังนั้น ความพยายามในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เท่านั้น คงไม่เพียงพอ แต่จะต้องให้ความสำคัญแก่การต่อต้าน “ข่าวปลอม” ต่างๆ ที่จะทำให้คนไทยเข้าใจผิด หลงเชื่อหลงแชร์กัน และนำไปสู่การป้องกันรักษาที่ผิดวิธี หรือละทิ้งเพิกเฉยต่อคำแนะนำที่ถูกต้องทางการแพทย์ได้ในที่สุด


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!