Fair Play จุดเปราะบางของชีวิต

-

ลุค (Alden Ehrenreich) กับเอมิลี (Phoebe Dynevor) เป็นคู่รักทำงานเป็นนักวิเคราะห์ประจำบริษัท Crest Capital ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเงินการลงทุนแบบ hedge fund ทั้งคู่สองอยู่กินกันฉันผัวเมียและมีแผนแต่งงาน แต่พอถึงตอนเช้า พวกเขาต้องแยกกันเดินทางไปทำงาน แล้วเมื่อถึงที่ทำงาน หากเจอกันก็จะทักเหมือนเป็นแค่เพื่อนร่วมงาน เพราะกฎบริษัท ‘ห้ามคบกัน’ จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้ที่ทำงานจับได้

แม้จำใจปกปิดแต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เร่าร้อนและมั่นคง จนมาสะดุดเมื่อหัวหน้าแผนกโดนไล่ออก มีข่าวลือว่าลุคจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าคนใหม่ แต่แล้วเกิดเซอร์ไพรส์ที่ตำแหน่งนี้ตกเป็นของเอมิลี

ลุคดีใจที่เอมิลีได้เลื่อนขั้น แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มชืดชา ห่างเหิน จมอยู่ในความอึดอัด

ผู้กำกับ Chloe Domont บอกว่านี่คือหนังที่จงใจพูดถึง ‘ความเปราะบางของเพศชาย’ (male fragility)


ในความสัมพันธ์ ถ้าไม่เจอการทดสอบจุดเปราะบางในตัวแต่ละคน หลายคู่ก็ครองรักกันจนแก่เฒ่า เช่น ถ้าลุคได้เลื่อนเป็นหัวหน้า หรือทั้งคู่แยกกันทำคนละบริษัท ก็อาจไม่เจอปัญหาอะไรไปอีกพักใหญ่

แต่เมื่อเอมิลีเป็นใหญ่ในที่ทำงาน ลุคกลายเป็นลูกน้อง

ความรู้สึกด้อย (sense of inferiority) ที่อาจแฝงอยู่ในใจลุคโดยไม่รู้ตัวก็เริ่มปรากฏ เพราะสิ่งที่ลุคชื่นชมเอมิลีตั้งแต่แรก ก็คือเอมิลีเก่งกว่าเขาจริงๆ ในแง่การทำงานสายอาชีพเดียวกัน แถมยังเกิดการเปรียบเทียบตลอดเวลาเพราะทำงานที่เดียวกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้รู้สึกแย่นักเพราะสถานะยังเท่ากันคือเป็นพนักงาน

แต่เมื่ออีกฝ่าย ‘เหนือกว่า’ แบบชัดเจน คือเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้า และลุคอยู่ในฐานะลูกน้อง แล้วยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ แถมยังมีเรื่องของการเงินที่เอมิลีกก็ดูเหนือกว่า ยิ่งทำให้ลุครู้สึกต่ำต้อย

เอมิลีไม่ได้ข่มหรือกดลุคเลย เธอกลับหาทางผลักดันลุคให้เลื่อนขั้นด้วยอำนาจบังคับบัญชาในตำแหน่งของเธอ

แต่เอมิลีหารู้ไม่ว่า ความหวังดีเพื่อช่วยคนรักโดยอาศัยตำแหน่งที่เหนือกว่าของเธอ ยิ่งซ้ำเติมให้ลุครู้สึกสมเพชตัวเองที่ต้อง ‘พึ่งพา’ หาใช่ว่าเขามีความสามารถคู่ควรแก่การเลื่อนขั้นจริงๆ

ชื่อหนัง Fair Play เหมาะที่จะหมายถึงเส้นทางก้าวหน้าของเอมิลี

คราใดที่ผู้หญิงได้เป็นใหญ่เป็นโตในองค์กรก็มักถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพราะความสามารถจริงๆ หรือเพราะมีความเป็นผู้หญิง (เช่น ได้คะแนนสงสาร, ใช้เรื่องเพศเป็นเครื่องมือ, ผู้บริหารจงใจใช้ความเป็นหญิงเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรว่าเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ) เหมือนกับที่ลุคตั้งข้อสงสัยต่อเอมิลีว่าเธอได้ตำแหน่งนี้เพราะ ‘ความเป็นผู้หญิง’

ทั้งๆ ที่เอมิลีได้เลื่อนตำแหน่งเพราะเธอเก่งจริง เธอไม่ได้หว่านเสน่ห์หรือใช้ความเป็นหญิงไต่เต้าแต่อย่างใด เมื่อเธอทำผิดพลาดเธอก็โดนด่ายับ (ซึ่งจะว่าไปความผิดพลาดร้ายแรงครั้งเดียวของเธอก็มาจากการวิเคราะห์ของลุคที่เธออยากสนับสนุนเขา) แต่เมื่อเธอสามารถหาเงินเข้าบริษัทได้ก็เลยเป็นที่รักของผู้บริหาร

เธออาจหลงอำนาจบ้าง พยายามปรับตัวเข้ากับเหล่าผู้บริหารเพศชายเพื่อให้ได้การยอมรับ แต่อย่างน้อยเธอก็ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา

เป็นลุคเสียอีกที่ไขว่คว้าหาโอกาสก้าวหน้าโดยใช้เอมิลีเป็นบันได ไม่ได้เป็น fair play เหมือนเอมิลี

ปัญหาใหญ่ของลุคคือ ‘คุณภาพการทำงานในบทบาทนักวิเคราะห์’ ซึ่งยังไม่ดีพอ แทนที่จะหาทางพัฒนาจุดนี้ให้แข็งแกร่ง

แต่ลุคกลับไปสนใจเข้าคอร์สเสริมสร้างความเป็นผู้นำกับโค้ชผ่านหลักสูตรเน้นเรื่องเล่า (narrative)  เขาหาโอกาสสร้างสปีชเด็ดๆ ให้หัวหน้าประทับใจโดยหวังได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ต่อให้พูดเก่งแค่ไหน สร้าง narrative ใหม่ๆ อย่างไรก็ไร้ค่า เพราะสิ่งสำคัญของบริษัทการเงินคือการหาเงินเข้าบริษัทให้ได้มากๆ ซึ่งเขาไม่ดีพอจริงๆ 

ยิ่งแก้ปัญหาผิดทาง ก็ยิ่งถูกผู้บริหารตอกย้ำให้รู้สึกอับอาย และสวนทางกับคนรักที่กำลังก้าวหน้า

ความเปราะบางในสถานะผู้ชายของลุคที่ถูกทุบให้แตกกระจาย ก็ทำลายทั้งความมั่นคงด้านการงานและความสัมพันธ์

Fair Play เปิดเรื่องด้วยเซ็กซ์อันเร่าร้อน ผู้กำกับเข้าใจนำเสนอให้เห็นว่าทั้งที่ฝ่ายหญิงอยู่ในช่วงมีรอบเดือน แต่ลุคก็พร้อมจะมีเซ็กซ์โดยไม่แคร์อะไรเพราะเขารักและหลงใหลเธอมาก แต่เมื่อความเป็นชายของลุคถูกกระทบจนสูญเสีย self esteem สวนทางกับเอมิลีที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น จากที่ทำงานก็นำมาสู่ปัญหาเรื่องบนเตียง เราจึงได้เห็นความชืดชาที่จะมีเซ็กซ์ รวมถึงปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นผลจากอำนาจอีกฝ่ายข่มความเป็นชายที่เคยมีไว้แม้เอมิลีจะไม่ได้ตั้งใจทำ

และไม่ใช่แค่การร้องไห้อ่อนแอ แต่ความเปราะบางของเพศชายหลายคนก็แสดงออกเป็นความก้าวร้าว เช่น การใช้คำพูดทิ่มแทงแบบ toxic ต่อคนรักผ่านการตั้งคำถามว่าเธอได้ดีเพราะใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ หรือเพราะยอมอ่อนข้อให้ผู้บริหารเอาเปรียบ ฯลฯ รวมทั้งการมีเซ็กซ์โดยใช้กำลังบังคับขืนใจ แม้อีกฝ่ายจะบอกให้หยุด

เมื่อชายแท้อย่างลุคไม่ตระหนักถึงความเปราะบางของตัวเอง ไม่นำพาความรู้สึกของคนรัก จมอยู่กับความแตกสลายในอัตตา หากทำผิดไปก็จะไม่มีกระทั่งถามไถ่หรือขอโทษ ผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งหมกมุ่นกับตัวเองแบบลุคจึงยากที่จะหาทางกอบกู้ 


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

(www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!