ฟ้าเพียงดิน บทประพันธ์ของเสนีย์ บุษปะเกศ เป็นนิยายที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่าน และได้รับความนิยมจากผู้ผลิตสื่อมากที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรณพิภพไทย ดังจะเห็นได้ว่าได้รับการแปรรูปเป็นสื่อละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อยูหลายครั้ง จากที่สำรวจดูพบว่าได้รับการผลิตเป็นภาพยนตร์ในปี 2510 จากนั้นก็ผลิตเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2524 และเมื่อหมดยุคทองของ “หนังไทย” ความบันเทิงจากจอโทรทัศน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย ฟ้าเพียงดินได้รับการผลิตเป็นละครโทรทัศน์ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ พ.ศ.2537 (ช่อง 3) พ.ศ. 2544 (ช่อง 3) พ.ศ. 2565 (ช่อง one) รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง แต่ดูเหมือนว่าฟ้าเพียงดินคงความเป็นอมตะและมีเสน่ห์ที่จะทำให้ผู้เสพรอคอย และพร้อมที่จะได้เห็นการนำเสนอครั้งใหม่อยู่เสมอ
เสนีย์ บุษปะเกศ เป็นนักประพันธ์ นักจัดรายการวิทยุ เป็นเจ้าของคณะละครวิทยุที่มีชื่อเสียง เป็นนักหนังสือพิมพ์ และนักผลิตสื่อมาตลอดชีวิต ดังนั้นเสนีย์จึงเป็นนักประพันธ์ที่ก้าวทันสังคมอยู่ตลอดเวลา ผลงานนิยายของเขาทุกเรื่อง โดดเด่นในเรื่องเนื้อหาที่สอดแทรกประวัติศาสตร์สังคมไทยไว้ในเรื่องอย่างแนบเนียน และสื่อนัยสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อาทิ เรื่องแก้วลืมคอน เสนอให้เห็นประเด็นช่วงรัฐไทยมีอิทธิพลต่อรัฐต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน เรื่องรุ่งทิพย์ เสนอให้เห็นถึงการเริ่มต้นของสังคมผู้ดีใหม่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อครั้งที่เกาะสีชังมีบทบาทเป็นเสมือนท่าเรือสู่ต่างประเทศ เรื่องฟ้าเพียงดิน เสนีย์ได้บันทึกเรื่องราวบางส่วนที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับเมืองพระตะบองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของไทย และรัฐไทยเคยจัดให้มีการเลือกตั้ง มีสิทธิสภาพไม่ต่างจากจังหวัดหนึ่งของไทย แต่แล้วเราก็ต้องสูญเสียดินแดนนี้ให้แก่ฝรั่งเศสในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
สีสันทางการเมืองและประวัติศาสตร์สังคมที่สอดแทรกเข้ามาในนิยาย ทำให้นิยายของเสนีย์มีความแตกต่างจากนิยายพาฝันในช่วงทศวรรษ 2510 แนวเรื่องปานดำ ปานแดง เพื่อแสดงสิทธิ์การเป็นทายาทตัวจริงของตัวละคร มีอยู่มากมาย แต่งานนิยายของเสนีย์กลับสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจ
เฉกเช่นในเรื่องฟ้าเพียงดิน นายพลโทสรายุทธ สรายุทธพิชัย ได้สักรูปนกสาริกาไว้ที่แผ่นหลังให้แก่ลูกสาวตัวน้อยเพื่อเป็นหลักฐานว่าเป็นเจ้าของมรดกตัวจริง รอยหมึกที่สลักลงที่แผ่นหลัง เป็นยิ่งกว่าพินัยกรรมซึ่งอาจปลอมแปลงได้ ความเจ็บปวดที่เด็กหญิงชมภู่ ได้รับในครั้งนั้น ตอกย้ำให้เด็กหญิงเชื่อมั่นในความเป็นสรายุทธพิชัยและรอคอยที่จะแก้แค้นเอาคืนอยู่ตลอดเวลา
พลโทสรายุทธลี้ภัยไปอยู่พระตะบอง จนเมื่อได้รับนิรโทษกรรม ความดีใจที่จะได้กลับสู่มาตุภูมิก็ต้องมลายสิ้น เมื่อถูกพิทักษ์ น้องเขยผู้มีแต่ความโลภทำร้ายจนสิ้นใจ ชมภู่ได้ไปอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่บุญทอง และกุมความลับของเด็กหญิงไว้ ขณะที่พิทักษ์อุปโลกน์ให้เทวราช ลูกชายของตนเป็นลูกชายของพลโทสรายุทธ ส่วนตนอยู่ในฐานะลุงที่จะเลี้ยงดูเทวราชให้เติบโต และเป็นเจ้าของมรดกของสรายุทธพิชัย
เทวราชจึงเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาจากความลวง และถูกฝังหัวให้เชื่อว่าเป็นความจริง ขณะที่ชมภู่รู้อยู่แก่ใจว่าตนเป็นทายาทตัวจริง เธอจึงต้องหาทางพิสูจน์ให้ได้ว่าเธอคือเจ้าของมรดกซึ่งพ่อผู้ล่วงลับมอบไว้ให้ อีกทั้งจะต้องตามหาคนที่ฆ่าพ่อของเธอด้วย และแน่นอนว่าชมภู่ถูกตามล่า เพื่อให้ทายาทตัวปลอมกลายเป็นทายาทตัวจริง ผู้ใหญ่บุญทองจึงเปลี่ยนชื่อเด็กหญิงชมภู่เป็นสาริกา ตามรอยหมึกสักของพลโทสรายุทธ
เสนีย์ บุษปะเกศ สร้างตัวละคร “พระเอก” กับ “นางเอก” ให้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เทวราชในฐานะ “ฟ้า” แต่ความจริงมิได้สูงส่ง ส่วนสาริกาคือ “ดิน” ที่มีแต่ความหนักแน่น อดทน เพื่อรอคอยรับฟ้าที่ต้องทลายลงมาสู่ดิน เมื่อความจริงต้องปรากฏขึ้นในวันหนึ่ง และส่วนที่เชื่อมโยงฟ้ากับดินให้มาบรรจบกันได้ก็คือความผูกพันในวัยเด็กที่ทั้งสองเติบโตด้วยกันที่พระตะบอง และฝ่าฟันเรื่องร้ายต่างๆ จนกลายเป็นความรัก ความผูกพันกับความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก มิใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทอง เทวราชได้เรียนรู้ว่ามีค่ามากกว่ามรดกมหาศาลที่พ่อของเขาอุปโลกน์ขึ้นมา
ฟ้าเพียงดินดำเนินเรื่องตามขนบนิยายพาฝันของไทย คือเล่นกับประเด็นเรื่อง “การซ่อนตัว” อันเป็นแนวเรื่องที่สืบทอดกันมาตั้งแต่นิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้เสนีย์ บุษปะเกศได้ผูกเรื่องได้อย่างแยบยล เทวราชคือทายาทตัวปลอม แต่ซ่อนตัวอยู่ในร่างของทายาทตัวจริง โดยที่เขา “ไม่รู้” ว่าสถานะที่แท้จริงของตนคืออะไร ส่วนสาริกาเป็นทายาทตัวจริง แต่จำเป็นต้องซ่อนตัวอยู่ในในสถานะต่ำต้อย รอคอยเวลาเพื่อพิสูจน์ความจริง เพราะสมบัติของสรายุทธพิชัยซึ่งเธอมีสิทธิ์อย่างชอบธรรมนั้น ยังสำคัญน้อยกว่าการพยายามค้นหาว่าใครเป็นคนฆ่าพ่อของเธอและฆ่าด้วยสาเหตุใด จนท้ายเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างคลี่คลาย เทวราชได้หนีหายไป “ฟ้า” ที่ถูกอุปโลกน์มาตลอดชีวิตได้กลายเป็น “ดิน” ที่พร้อมจะปรับตัวรับกับความต่ำต้อย เขาหนีไปอยู่บ้านคอกม้าที่โพธาราม สถานที่ที่เขาได้พบกับสาริกานั่นเอง ส่วนสาริกา ผู้ถูกชะตากรรมอุปโลกน์ให้เป็น “ดิน” แล้ววันหนึ่งได้เป็น “ฟ้า” กลับรู้สึกว่าสมบัติมากมายประดามี ยังด้อยกว่าความรักที่ชายคนหนึ่งมีให้ตั้งแต่วัยเยาว์ ฟ้าจึงมาหาดินและกลายเป็นฟ้าเพียงดินในที่สุด
เสนีย์ บุษปะเกศ ยังสร้างความแข็งแรงให้แก่แก่นเรื่องผ่านอาชีพของตัวละคร ดังจะเห็นว่ากลุ่มของผู้ใหญ่บุญทองคือเกษตรกรพึ่งพาตัวเอง สร้างฐานะจากน้ำพักน้ำแรง ต้องเผชิญกับกลุ่มโจรร้ายที่คอยปล้นชิง โดยไม่สามารถพึ่งพาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ พลโทสรายุทธ สรายุทธพิชัย คือข้าราชการที่ได้รับผลกระทบและต้องได้รับโทษเนรเทศ และรอคอยการนิรโทษกรรม เป็นชีวิตที่ต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งที่ตนถวายชีวิตจนวันตาย แต่ก็ไม่เคยลืมคุณของแผ่นดินเกิด แม้ว่าจะได้รับชะตากรรมอย่างไรก็ตาม เทวราชเป็นนักเรียนนอกที่ฉาบฉวย ไร้แก่นสารไปวันๆ ให้สมกับที่ถูกอุปโลกน์ให้อยู่บนฟ้ามาตั้งแต่เด็ก ด้านสาริกานั้น เรียนจบบัญชีเพื่อไว้ตรวจสอบมรดกของพ่อ อันน่าจะเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 2510
เมื่อพิจารณาจากตัวละครที่เสนีย์ บุษปะเกศสร้างขึ้นแล้ว ก็พบความน่าสนใจอย่างยิ่ง ตัวละครที่เป็นกลุ่มชนซึ่งเรียกตัวเองว่า “ผู้ดี” กลับเป็นเรื่องของ “ความปลอม” หวังครอบครองสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน ส่วนตัวละครที่เป็นกลุ่มชาวบ้านแวดล้อมสาริกา กลับเป็นตัวละครที่มีแต่ความจริงใจ ปกป้อง และต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของคนจนด้วยกัน
ฟ้าเพียงดินอาจได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกหลายครั้ง แต่ยังไม่มีเวอร์ชั่นไหนที่ผู้สร้างคิดจะปรับให้เป็นเรื่องในปัจจุบัน ยังคงทำเป็นพีเรียดทุกเวอร์ชั่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเสนีย์ บุษปะเกศได้สร้างองค์ประกอบของนิยายไว้อย่างลงตัว และตราบใดที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ ยังมีฟ้ากับดิน ยังมีความจริงมีความลวงอยู่ ฟ้าเพียงดินก็ยังคงความอมตะข้ามยุคข้ามสมัยอยู่ตลอดไป
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: “ลำเพา เพ่งวรรณ”