รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีสำคัญที่โบราณนำมาปรุงเป็นบทสำหรับมหรสพยอดนิยมคือ หนังใหญ่และโขน สาระสำคัญของเรื่องนี้คือการสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ และในที่สุดฝ่ายทศกัณฐ์ก็แพ้ไปอย่างราบคาบ มูลเหตุของสงครามครั้งนั้นปรากฏในคำพากย์รามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่า วรรณคดีเพชรน้ำเอกสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งประเดิมเริ่มเรื่องด้วยตอนสีดาหาย อันเป็นที่มาของสงครามรามเกียรติ์
ทศกัณฑ์พญายักษ์แห่งเกาะเเก้วพระนครลงกาทราบเรื่องจากนางสำมนักขาผู้เป็นน้องสาวว่า พระรามพระลักษณ์พร้อมด้วยนางสีดาจากบ้านเมืองไปบวชเป็นฤษีอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี สีดานั้นรูปงามนักควรเป็นศรีแห่งกรุงลงกา นางสำมนักขาพบเข้าจะฉวยอุ้มมาถวายทศกัณฐ์ แต่กลับถูกพระลักษณ์ตัดตีนสินมือจนบาดเจ็บสาหัส นางบรรยายรูปโฉมนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟังว่า
๏ วรพักตร์เพ็ญแผ้วเพียงจันทร์ ปรางเปล่งงามพรรณ
พิมลเกศก่องไร
๏ นาสิกแสล้มละไม เอี่ยมโอษฐ์วิไล
วิลาศเนตรปานนิล
๏ ขนงก่งกลวงศิลป์ กลีบบุษป์โกมิน
ลออดั่งกรรณกัลยา
๏ บงกชดุจถันกัณฐา สบสรรพอังคา
พยพอุดมสมกาย
๏ จะสรรโฉมเสมออย่าหมาย ทิพรูปอาจอาย
วิมลทรงสีดา
๏ แม้นได้ไว้กรุงยักษา จะเฉลิมลงกา
พิภพเป็นศรีเมือง ความจริงสำมนักขาหลงรูปพระรามอยากจะได้เป็นผัว จึงเข้าตบตีนางสีดาจนถูกพระลักษณ์ทำโทษ ทศกัณฐ์หลงใหลได้ปลื้มตามคำน้องสาว จึงให้มารีศแปลงเป็นกวางทองรูปงามไปลวงนางสีดา นางเห็นเข้าก็อยากได้มาเลี้ยง จึงทูลพระรามขอให้ตามจับ พระรามตามใจสีดา สั่งให้พระลักษณ์ดูแลสีดาอยู่ที่อาศรม แล้วออกติดตามกวางทอง “มาแปดโยชน์หย่อนวิถี เดชะกำลังพี ริยภาพหน่อภุชพงศ์” ระยะทางหนึ่งโยชน์เท่ากับประมาณ 16 กิโลเมตร พระรามตามกวางแปลงไปถึง 8 โยชน์ เท่ากับ 128 กิโลเมตร ไกลโขเชียวแหละ พระรามเห็นผิดสังเกตจึงแผลงศรไปยังกวางแปลง
๏ มารีศครั้นต้องศรศรี ตกยังธรณี
ก็ร้องด้วยเพโทบาย
๏ ศัพท์เรียกเฉกเสียงนารายณ์ ว่าพี่จำตาย
เพราะเลศอันกวางราญรอน
ระยะทางห่างไกลถึง 8 โยชน์ (128 กม.) เสียงมารีศร้องเป็นกลลวงได้ยินไปถึงสีดา นางจึงให้พระลักษณ์ตามไปช่วย สีดาอยู่อาศรมเพียงลำพัง ทศกัณฐ์ซึ่งซุ่มสังเกตการณ์สบโอกาสก็แปลงรูปเป็นโยคีเข้าไปหา สีดาที่อาศรม พูดจาหว่านล้อมชักชวนให้นางไปอยู่กรุงลงกากับทศกัณฐ์ ฝ่ายสีดาก็กล่าวตำหนิที่โยคีเป็นพวกพาลไปเข้ากับมารอาธรรม์ ทศกัณฐ์นึกโกรธแต่ข่มใจสาธยายปลอบโยนอีกยืดยาว ครั้นนางไม่เออออด้วยก็กลายร่างคืนเป็นยักษ์ร้ายใช้มือช้อนแผ่นดินเอานางสีดาขึ้นท้ายราชรถพาไปยังกรุงลงกา
๏ ปลอบพลางยื่นมือบไคล ช้อนแผ่นดินใน
สถานราชสีดา
๏ ขึ้นใส่บนท้ายรถา สถานนั้นคณนา
ได้โยชน์ในแคว้นมณฑล
ระหว่างทางได้พบกับพญานกสดายุ ซึ่งเป็นเพื่อนของท้าวทศรถบิดาของพระราม สดายุจำนางสีดาได้ก็เข้าขัดขวาง เกิดการต่อสู้กันเป็นโกลาหล จนราชรถของทศกัณฐ์ถูกทำลายย่อยยับ ทศกัณฐ์สู้สดายุไม่ได้ แต่ในที่สุดทศกัณฐ์ถอดแหวนพระอิศวรจากนิ้วของนางสีดาขว้างไปถูกสดายุพ่ายแพ้บาดเจ็บสาหัส ทศกัณฐ์จึงอุ้มนาง สีดาเหาะไปยังกรุงลงกา นั่นเป็นมูลเหตุของศึกชิงนางในรามเกียรติ์
ขณะที่สดายุต่อสู้ขัดขวางทศกัณฐ์นั้น ข้าวของต่างๆ ที่ติดตัวนางสีดาไปก็ร่วงหล่นอยู่ในป่า เช่น แหวนพระอิศวรที่ทศกัณฐ์ขว้างสดายุ สดายุคาบไว้คืนพระราม ต่อมาพระรามให้หนุมานนำไปถวายนางสีดา ข้าวของบางอย่างกลายสภาพเป็นต้นไม้ เช่น ช้องนาง (เครื่องประดับรวบผมด้านหลัง) กระเช้าสีดา สไบสีดา ดังที่ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ รัตนกวียุคปลายอยุธยา
๏ กระจายสยายช้องนาง ผ้าสไบบางนางสีดา
ห่อห้อยย้อยลงมา เเต่ค่าไม้ใหญ่สูงงาม
๏ กระจายสยายคลี่ซ้อง นงพงา
สไบบางนางสีดา ห่อห้อย
ยื่นเลื้อยเฟื้อยลงมา โบยโบก
แต่ค่าไม้ใหญ่น้อย แกว่งเยื้องไปมา ฯ
ยังมิหนำอวัยวะหลายส่วนที่นางสีดา (ทำ) หายคราวนั้น ยังแปรสภาพเป็นต้นไม้ได้อย่างประหลาด คือ นมทั้งสองข้าง กลายเป็นผลน้ำเต้า อวัยวะลึกลับที่ลักษณะเป็นกลีบๆ กลายเป็นผลมะเฟือง อวัยวะหลืบเร้น กลายเป็นผลละมุดสีดา ครูบาอาจารย์ทางเครื่องรางของขลังสั่งสอนสืบมาว่า “น้ำเต้าเหลือง มะเฟืองเปรี้ยว สะพานหัวเดียว ละมุดสีดา” เป็นของต้องห้าม เพราะเป็นอวัยวะที่นางสีดา (ทำ) หาย
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์