ได้ทีขี่แพะไล่
สำนวนไทยหลายสำนวนมีที่มาจากนิทานโบราณ บางสำนวนเก่าแก่ใช้กันมานานเนิ่นจนหาเค้ามูลที่มาของนิทานเดิมไม่ได้ ก็แลนิทานทั้งหลายนั้นมักเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน บางเรื่องแต่งขึ้นเพื่ออธิบายตำนานสถานที่ บางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานบันเทิง บางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนคติธรรม
นิทานที่ท่านแต่งขึ้นเพื่อเป็นคติสอนใจนั้นมีอยู่ทุกชาติภาษา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะได้แก่ผู้เยาว์ที่อยู่ในวัยชอบฟังนิทาน ตัวละครสำคัญในนิทานลักษณะนี้มักเป็นสัตว์ต่างๆ ที่สมมุติให้มีความรู้สึกนึกคิด พูดจากันรู้ภาษาแม้ว่าจะเป็นสัตว์ต่างจำพวก เช่น นิทานอีสป เป็นต้น การสอนคติธรรมแก่เด็กด้วยนิทานสัตว์บรรลุวัตถุประสงค์อย่างงดงาม นิทานสัตว์หลายเรื่องที่กระผมเคยรับรู้เล่าเรียนในวัยเด็ก ถึงวันนี้แม้เวลาล่วงเลยไปแล้วค่อนศตวรรษแต่ยังจำแม่นและเชื่อว่าชาวเราหลายท่านก็คงจำได้เช่นกัน
พฤติการณ์โดดเด่นของสัตว์ต่างๆ ในนิทานสอนคติธรรมเป็นที่มาของสำนวนต่างๆ ที่เราคุ้นชิน เช่น ลาโง่ กระต่ายตื่นตูม และได้ทีขี่แพะไล่ ฯลฯ สำนวนได้ทีขี่แพะไล่ที่จะเล่าขานสู่กันวันนี้มีที่มาจากนิทานไทย เคยปรากฏในหนังสือ ‘แบบเรียนเร็ว’ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือเรียนสำหรับเด็กตั้งแต่พุทธศักราช 2431 ต่อมาอาจารย์เจือ สตะเวทิน ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เป็นหนังสือที่ชนะการประกวดแบบเรียนครั้งที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2495 และกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์เป็นหนังสือแบบเรียนประถมศึกษา ‘ชุดอ่านประกอบภาษาไทย’ พุทธศักราช 2597
เรื่องได้ทีขี่แพะไล่ ในหนังสือ ‘แบบเรียนเร็ว’ และ ‘ชุดอ่านประกอบภาษาไทย’ มีที่มาจากนิทานสอนคติธรรมเรื่อง ‘กระต่ายขาเปลี้ยกับแพะตาบอด’ ซึ่งนิทานต้นเรื่องดังกล่าวจะแต่งขึ้นเมื่อไรนั้นหาทราบไม่ แต่พบสมุดไทยแต่งเป็นนิทานคำกลอน ระบุนามผู้แต่งไว้ว่า ‘จำเนียรคนตลก แต่งกระต่ายโกหกไว้อ่าน’ กระผมพิจารณาลักษณะลายมือและภาษาที่ใช้ สันนิษฐานว่านิทานคำกลอนสำนวนนี้น่าจะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวรัชกาลที่ 3-4 แม้สำนวนกลอนบางตอนจะดูไม่ราบรื่น แต่เนื้อหาครบบริบูรณ์ คำกลอนเรื่องนี้คงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในครั้งนั้น
นิทานคำกลอนเรื่องกระต่ายขาเปลี้ยกับแพะตาบอด ยกให้กระต่ายเจ้าปัญญารับบทเป็นตัวเอก สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ตนเองและมิตรรอดพ้นจากภัยพิบัติ เรื่องย่อมีว่า แพะตาบอดตัวหนึ่งเดินหลงฝูงพลัดเข้าไปในป่าอันเป็นที่อยู่ของกระต่ายขาเปลี้ย กระต่ายเห็นเข้าก็นึกกลัวจึงร้องข่มขู่ลวงว่าจะเอาชีวิตแพะ ฝ่ายแพะซึ่งมองไม่เห็น ไม่รู้ว่าเจ้าของคำขู่เป็นใคร ยิ่งตกใจหนักกว่ากระต่ายเป็นหลายเท่า จึงสารภาพว่าตนตาบอดหลงทางมา ขอให้ท่านโปรดเมตตาด้วยเถิด ในที่สุดกระต่ายก็ชวนให้แพะอยู่ด้วยกัน
อยู่ด้วยกันกับข้าอย่าไปไหน เราไซร้จะพึ่งกันตามเข็ญ
มิให้อดอยากยากเย็น เอ็งกลับเป็นตีนกูกูเป็นตา
กระต่ายขาเปลี้ยกับแพะตาบอดต่างอาศัยพึ่งพากันและกัน เมื่อจะเดินทางไปแห่งใด กระต่ายก็ขึ้นขี่หลังแพะ บอกให้เดินไปตามทางที่ตนปรารถนา กล่าวถึงนางช้างแม่ลูกอ่อนถูกเสือจับได้จะกินเป็นอาหาร นางอ้อนวอนขอกลับไปสั่งเสียลูกน้อยก่อน แล้วจะย้อนกลับมาให้กินภายหลัง เสือก็ไม่ขัดข้อง ระหว่างทางเมื่อนางช้างเดินกลับไปจะให้เสือกินนั้น ได้พบกับกระต่ายและแพะ กระต่ายรับจะช่วยให้พ้นภัย จึงออกอุบายให้นางช้างนอนลง กระต่ายทำท่ากัดส่วนไหนก็ให้นางยกอวัยวะส่วนนั้นขึ้นและร้องอย่างเจ็บปวด ฝ่ายเสือเห็นนางช้างหายไปนานก็ออกตามหา พบกระต่ายกำลังกัดช้างอยู่ก็ตกใจกลัว คิดว่ากระต่ายมีฤทธิ์เฝ้าแอบดูอยู่ กระต่ายก็ร้องขึ้นว่า ‘ช้างป่าตัวเดียวไม่พอกิน จับไอ้เสือสางที่กลางป่า มาเจือเนื้อช้างพอกินสิ้น’ ว่าแล้วก็กระโดดขึ้นหลังแพะตรงรี่เข้าใส่เสือ เป็นที่มาของสำนวนได้ทีขี่แพะไล่
เสือร้ายตื่นตายถอยหลังมา อ้ายนี่ฤทธามันพ้นที่
ตกใจวุ่นวายไม่สมประดี พยัคฆีวิ่งโลดโดดมา
มิได้หยุดหย่อนผ่อนพัก เพียงจักม้วยชีพสังขาร์
วิ่งวางผาดโผนโจนมา เข้าไพรพฤกษาพนาลี
ลิงทโมนตัวหนึ่งได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงลงมาบอกเสือว่าถูกกระต่ายหลอกและอาสาพาไปจัดการกระต่ายเจ้าเล่ห์ เสือยังไม่วางใจ ลิงจึงเอาหางของตนผูกเข้ากับหางเสือตรงไปยังกระต่ายต้นเหตุ กระต่ายเห็นดังนั้นก็ทำอาการโมโหจัด พูดกับลิงว่า
เอ็งเป็นหนี้เสือกูสามเสือ ทำไมส่งเสือตัวเดียวหวา
ผัดส่งเร่งส่งเสือกูมา ให้ทันสัญญากินวันนี้
เสือได้ยินเช่นนั้นก็หันหลังเผ่นเข้าป่า ยื้อกันจนลิงหางขาด
เสือร้ายโกรธลิงจับลิงฟัด ลิงสะบัดหางขาดออกจากที่
หาไม่จะกินเสียวันนี้ เพราะลวงกูดีอ้ายใจพาล
เรื่องราวในนิทานคำกลอน ‘กระต่ายขาเปลี้ยกับแพะตาบอด’ ของจำเนียร คนตลก ดำเนินต่อไปอีกยืดยาว สนุกสนานบริบูรณ์ด้วยคติธรรม ควรแก่การจดจำร่ำเรียน
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์