เรียงความสานสัมพันธ์ พาเยาวชนไทยทัศนศึกษาไต้หวัน

-

ไต้หวันเป็นหนึ่งหมุดหมายที่คนไทยใฝ่ฝันจะเดินทางท่องเที่ยว ด้วยบ้านเมืองสะอาดสะอ้าน การคมนาคมสะดวกสบาย อาหารการกินอร่อย แถมเป็นบ้านเกิดชานมไข่มุกที่คนไทยชื่นชอบ ไม่เพียงแค่ด้านการท่องเที่ยว ไต้หวันยังมีงานมหกรรมหนังสือนานาชาติไทเป ซึ่งที่ผ่านมีสำนักพิมพ์ไทยไปร่วมออกบูธจำหน่ายหนังสือ รวมทั้งมีการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์หนังสือภายในงาน เป็นงานที่สานสัมพันธ์ไทย-ไต้หวันผ่านตัวอักษรในหนังสือ 

ทั้งนี้ ไต้หวัน และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมการอ่าน และสนับสนุนการอ่านและการเขียนเรื่อยมา จึงเกิดความร่วมมือขึ้น โดยสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ร่วมกับ สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), คณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และพันธมิตร จัดโครงการประกวดเขียนเรียงความหรือสารคดี พร้อมภาพประกอบ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในหัวข้อ วรรณกรรมไต้หวันที่ฉันชื่นชอบ, การท่องเที่ยวเชิงเกษตร, ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในหัวข้อ วรรณกรรมไต้หวันที่ฉันชื่นชอบ, ศิลปวัฒนธรรม และเรียนต่อต่างประเทศ ผลปรากฏว่ามีเยาวชนที่ชนะเลิศแล้ว 6 ทีม ซึ่งได้ทุนไปทัศนศึกษายังเมืองผิงตง ไต้หวัน เวลา 6 วัน 5 คืน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์ของโครงการประกวดเรียงความนี้ เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมการอ่านของไต้หวัน และกระตุ้นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เยาวชน อีกทั้งยังเผยแพร่การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอันน่าสนใจของไต้หวันให้แก่คนไทยด้วย คุณ Cindy Chen ผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงผลงานของเยาวชนที่ส่งเข้ามากว่า 400 ผลงานว่า “ผลงานเหล่านั้นทำให้เราได้รับรู้ว่าไต้หวันเป็นอย่างไรในสายตาเยาวชนไทยรุ่นใหม่ ดิฉันได้อ่านผลงานของผู้ชนะเลิศทั้ง 6 ทีม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศจากวรรณกรรมไต้หวัน ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ ด้านเกษตรกรรมที่ดัดแปลงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นฟาร์มพักผ่อน และด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการกำจัดขยะและการรีไซเคิล  รวมทั้งเสน่ห์ของธรรมชาติในไต้หวัน

“เยาวชนที่ได้ไปทัศนศึกษายังมณฑลผิงตงนั้น ได้เรียนรู้และท่องเที่ยวไม่ซ้ำธีมกันในแต่ละวัน เช่น ด้านวัฒนธรรม ได้ไปท่องเที่ยวที่ Pingtung 1936 Tobacco Culture Base, Shengli New Villagfe ฯลฯ ด้านประสบการณ์เชิงนิเวศ เช่น LiDe Ecotourism Travel, Eluanbi Lighthouse ฯลฯ ด้านกิจกรรม LOHAS เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านชีววิทยาทางทะเลและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และยังมีกิจกรรมทำลูกชิ้นปลาที่ชุมชน Fangliao Xinlong มีคำกล่าววว่า เรียนรู้วัฒนธรรมจากการใช้ชีวิต และประสบการณ์ชีวิตมาจากการท่องเที่ยว เราจึงเน้นการเรียนรู้ที่หลากหลาย”

คุณ  Cindy ยังกล่าวอีกว่า ด้วยการประชาสัมพันธ์อันดี โครงการนี้จึงได้รับการตอบสนองเป็นอย่างมาก และขยายการรับรู้ไต้หวันสู่สายตาคนไทย “โครงการนี้ได้ผ่านการประชาสัมพันธ์อันดีจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งครูและเยาวชนยังได้แชร์ความประทับใจจากการไปทัศนศึกษาลงโซเชียลมีเดียกว่า 100 โพสต์ และสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ได้เชิญบล็อกเกอร์ 2 ท่าน ไปร่วมทริปเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการทัศนศึกษาครั้งนี้ และโพรโมตสถานที่ท่องเที่ยวทางตอนใต้ของไต้หวันให้คนไทยรู้จักมากยิ่งขึ้น ในอนาคตหากมีโครงการใดซึ่งสานสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน ได้ต่อยอดและดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยไปยังไต้หวันอีก สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ยินดีให้ความร่วมมือ”

เราถามคุณ Cindy ว่า มีเป้าหมายใดที่อยากผลักดันให้สำเร็จในวาระที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ “จากข้อมูลปี 2562 ไต้หวันอยู่อันดับ 9 ของประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว ในช่วงที่ดิฉันดำรงตำแหน่งนี้ อยากผลักดันให้ไต้หวันขึ้นไปอยู่อันดับ 1-5 ที่คนไทยเลือกไปเที่ยวค่ะ ปัจจุบันสถานที่ท่องเที่ยวในไต้หวันที่คนไทยรู้จัก เช่น อาชีซาน ทะเลสาบสุริยันจันทรา และจิ่วเฟิ่น แต่ไต้หวันยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมาก ดิฉันหวังว่าจะสามารถประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้ 

“ปีนี้เราเปิดแคมเปญ All is just right in Taiwan เป็นการต่อยอดความประทับใจที่คนไทยมีต่อการท่องเที่ยวไต้หวัน แบ่งเป็น 4 ธีม ได้แก่ Just Feel โพรโมตการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ ด้านศาสนา และเทศกาลสำคัญของไต้หวัน เทศกาลโคมไต้หวันซึ่งมีมานานกว่า 30 ปี Just Fun มุ่งเน้นกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การปั่นจักรยานรอบทะเลสาบสุริยันจันทรา Just Eat แนะนำตลาดกลางคืนและสตรีตฟู้ดของไต้หวัน Just Shopping ไต้หวันมีเอาต์เล็ต ห้างสรรพสินค้า และตลาดกลางคืนมากมาย ให้คนไทยไปจับจ่าย”

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การท่องเที่ยวไต้หวันก็เฉกเช่นประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และกำลังเร่งฟื้นฟู โดยหวังใจว่าการสร้างสภาพแวดล้อมทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตร ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการคมนาคม จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมา เพราะ All is just right in Taiwan ทุกอย่างใช่โดนใจที่ไต้หวัน!


คอลัมน์: เก็บมาฝาก

ภาพ: สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!