หลีกหนีความปวดใจ

-

มีประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตที่อยากเล่าสู่กันฟังเพราะอาจเป็นประโยชน์ และอาจไม่ทำให้ปวดใจได้   เรื่องเชิงป้องกันเหล่านี้ใช้ได้ผลเสมอมา ขอเล่าเป็นเรื่องๆ ดังนี้ครับ

      1) บ่อยครั้งที่เราซื้อของพลางคิดอะไรเพลินๆ พลาง จำไม่ได้ว่าให้ธนบัตรราคาเท่าใดไป หรือใช้ธนบัตรใบใหญ่ เช่น หนึ่งพันบาท และไม่อยากมีปัญหากับคนขายจนถกเถียงกันตอนทอนเงินว่าให้ธนบัตรมีมูลค่าเท่าใดไป ดังนั้นจงฝึกฝนพูดทุกครั้งที่ยื่นธนบัตรใบใหญ่แก่ผู้ขายว่า “ใช้ใบใหญ่นะ” เป็นการเตือนตัวเราเอง และหากมีปัญหากับผู้ทอนเงินก็อ้างได้ว่าได้พูดประโยคนี้แล้ว

         2) เวลาพักโรงแรมและอาบน้ำโดยกลัวลืมของมีค่า เช่น นาฬิกา แหวน พระ สายสร้อย กระเป๋าสตางค์ ฯลฯ ก็จงเอาสิ่งเหล่านั้นมาวางทับบนผ้าเช็ดตัว เพราะต้องเห็นชัดเจนแน่นอนหลังอาบน้ำเสร็จ สิ่งที่ต้องระวังคือถ้าวางหลายชิ้น ผ้าอาจปิดทับแล้วมองไม่เห็นและลืมของจนได้ ที่ต้องระวังคือห้ามแขวนสายสร้อยห้อยพระกับที่แขวนบนบานประตูห้องน้ำเด็ดขาดเพราะเป็นจุดที่ลืมง่าย โทรศัพท์มือถือสีดำอย่าวางไว้บนพื้นหินสีดำใกล้อ่างเพราะมองไม่เห็นและลืมได้ง่าย

          3) อย่าเอาบัญชีธนาคารที่ฝากเงินไว้เป็นจำนวนมากไปผูกไว้กับบัญชีดิจิทัลที่โอนกันได้ทางออนไลน์เป็นอันขาด เพราะมีโอกาสถูกเล่นกลหายไปจากบัญชีได้ไม่ยากนักในปัจจุบัน จงเป็นคนอนุรักษนิยม เมื่อเบิกหรือถอนทุกครั้งต้องเอาสมุดไปธนาคารจึงจะปลอดภัยที่สุด ถ้าเผื่อมีคนมาชวนลงทุนโดยให้โอนเงินเพื่อรับผลตอบแทนสูง (หลอกกันแน่ 100%) หรือโอนเงินจำนวนมากให้ใครด้วยเหตุผลใดก็ตามจะได้มีเวลาคิด ไม่หุนหันถูกหลอกง่ายๆ ถ้ามีการรับหรือโอนเงินทางออนไลน์ด้วยเงินไม่มากนักก็เปิดบัญชีดิจิทัลต่างหากไว้เพื่อความสะดวก หากมีใครเล่นกลกับเงินเรา ก็จะสูญเสียเงินไม่มาก

         4) ในปี 2567 นี้มีการพยากรณ์กันมากว่าเทคโนโลยี AI จะเป็นเครื่องมือของการต้มตุ๋นกันอย่างกว้างขวาง วิธีหนึ่งคือสร้างเสียงเทียม หรือสร้างภาพเคลื่อนไหวเทียมของบุคคลที่นับถือหรือรู้จักชอบพอกันจนเหมือนจริงมากๆ เพื่อชักชวนให้โอนเงินให้โดยแต่งเรื่องต่างๆ เช่น กำลังตกยากอยู่ในต่างประเทศรักษาตัวที่โรงพยาบาล ถูกคุมขังในโรงพัก หรือสถานการณ์ที่ลำบากอื่นๆ และต้องการให้ช่วยเหลือด้านการเงินด่วน หรือชวนลงทุน หรือเล่นการพนันออนไลน์ หรืออ้างการถูกจับเป็นตัวประกัน ฯลฯ จนต้องการความช่วยเหลือ  

             จงอย่าได้หลงเชื่อ หรือปล่อยให้ความโลภครอบงำจิตใจเป็นอันขาด การต้มตุ๋นเหล่านี้จะใช้กลอุบายคล้ายๆ กัน เมื่อเกิดเรื่องและเป็นข่าวแล้ว จงจำให้ดีเพราะมันจะมาในรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่อาจมีรายละเอียดที่ต่างกันบ้าง เมื่อมีเบอร์แปลกที่ไม่คุ้นโทร.เข้ามา บางคนจำเป็นต้องโทร.กลับเพราะอาจเป็นธุระจริงก็ได้ มิใช่ว่าต้องเป็นมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์เสมอไป เบอร์โจรเหล่านี้มีทุกลักษณะไม่ว่าเบอร์มือถือสวยๆ หรือขึ้นต้นด้วย 02 หรือ + + 662… เราสามารถแยกเบอร์จริงกับเบอร์โจรออกจากกันได้โดยใช้น้ำเสียงเข้มเวลามีการติดต่อเข้ามา เช่น พูดว่า “แล้วไง ว่ามา” ถ้าไม่ใช่ของจริงมักวางหูไปทันที ไม่ต่อความยาวสาวความยืด แต่หากเขายังคงบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ชักฟังดูเข้าเค้าว่าใช่แน่) ที่มีเวลาว่างมากและเมตตาเอ็นดูเราขนาดโทร.มาสนทนาเป็นการส่วนตัวก็พูดว่า “ถ้าเป็นมิจฉาชีพก็อย่าเสียเวลาเลย” การตัดบทวางสายโดยไม่พูดด้วยและบล็อกเบอร์เลยจะไม่เปิดโอกาสให้เขาใช้ลูกเล่นกับเราโดยการแอบอัดเสียงไปสร้าง AI  หรือเจาะช่อง ‘โลภ’ ‘สงสาร’ ‘หวาดกลัว’ เข้าหาเรา เขาจะหงุดหงิดเมื่อเรามีปฏิกิริยาเช่นนี้ เราจะรู้สึกว่าสนุกและสะใจ

         ความประมาทเป็นหนทางแห่งการสูญเสียโดยแท้ในเรื่องการดูแลเงินทองและทรัพย์สมบัติ ถ้าเรามีสติและไม่โลภ ความปวดใจก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยครับ


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!