ความเข้มข้นของกาแฟอารมณ์

-

เมื่อเราสั่งกาแฟดำมาหนึ่งถ้วย มองดูกาแฟดำในถ้วย จะเห็นว่ามันดำสนิท

แต่หากเราตักกาแฟในถ้วยออกมาหนึ่งช้อน หรือราดกาแฟนั้นบางๆ ลงบนจาน จะพบว่าสีกาแฟไม่ดำสนิท มันออกไปทางสีน้ำตาลจางๆ

สีน้ำกาแฟในถ้วยกับในช้อนต่างกัน

เหตุที่เราเห็นมันเป็นสีดำในถ้วย ก็เพราะว่าน้ำกาแฟซ้อนทับกันหลายชั้น เมื่อทับมากชั้น ก็มองเห็นเป็นสีดำ

อะไรที่แม้มีสีอ่อน แต่ถ้าทับซ้อนมากๆ จะหนาแน่นทึบสีเข้ม

อารมณ์ความรู้สึกของคนเราก็เช่นกัน

…………………

 

ทุกๆ วันเราเจอเรื่องที่ทำให้ใจเราหม่นหมอง หรือขุ่นใจ อาจเป็นความรู้สึกไม่ดีเล็กๆ ที่พอลืมได้ ยกตัวอย่าง เช่น เราพบนาย ก. ที่หน้าลิฟต์ เรากล่าวสวัสดี แต่เขาไม่ตอบรับ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่มันสร้างรอยขุ่นใจให้เล็กน้อย

ระหว่างวันเราอาจลืมเรื่องนี้ไปแล้ว พอตอนค่ำก่อนหลับ เราหวนนึกถึงมัน ทำให้หงุดหงิด อาจรวมกับเรื่องไม่ดีอื่นๆ ที่นาย ก. เคยทำกับเรา ผ่านไปอีกวันสองวัน เรานึกถึงเรื่องนี้ ก็หงุดหงิดอีก

ผ่านไปหลายเดือน ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ ความหงุดหงิดชักเพิ่มขึ้น อาจมากจนมันฝังในจิตใต้สำนึก ขจัดไม่ออก

ลำพังความรู้สึกหงุดหงิดในวันแรกนั้นมันเล็กน้อย เหมือนน้ำกาแฟในช้อน แต่หากเราคิดถึงมันบ่อยๆ มันก็กลายตักน้ำกาแฟลงใส่ถ้วยวันละช้อน จนในที่สุดเป็นกาแฟสีดำเข้มทั้งถ้วย

ความรู้สึกใดๆ ถ้าเราสะสมมันจนหนาทึบ จนมันหยั่งรากลึก มันก็เป็นความรู้สึกด้านลบที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

ในเรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน หากเราแยกความรู้สึกออกมาทีละชั้น อาจพบว่าโดยแต่ละอารมณ์ ไม่ได้รุนแรงเท่าใดนัก พอลืมได้ พอปล่อยวางได้ และหากปล่อยวางตั้งแต่วันแรก จิตก็ไม่สะสมกาแฟสีอ่อนเป็นกาแฟดำสนิท 

นาย ข. เพื่อนบ้านพูดจาไม่ดี หนึ่งครั้งก็พอสลัดออก

สองครั้งเริ่มเกาะ

ยิ่งมากครั้งก็จะรวมกันหนาเป็นสีดำ

เมื่อเราคุยกับเพื่อนบ้านคนอื่นที่บอกว่านาย ข. คนนี้แย่อย่างนั้น แย่อย่างนี้ เราก็รวมความใหม่เข้าไปผสมกับความหงุดหงิดเดิม กาแฟแห่งจิตก็เพิ่มเป็นอีกชั้น และอีกชั้น

ผลก็คือ ‘กาแฟดำสนิท’ แห่งอารมณ์ที่เรารู้สึกทุกครั้งที่เห็นหน้านาย ข.

ดังนั้นหากเราเข้าใจโครงสร้างของอารมณ์ที่ปะทุขึ้น และปล่อยวางมันเลย ถือว่าจบในตอนนั้น เราก็จะไม่ต้องมีถ้วยกาแฟดำแห่งอารมณ์มากมายหลายใบจนเต็มชั้นในหัวใจ

 

…………………

 

ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่าความสุขก็คือการที่ไม่มีอะไรทำให้เกิดความหม่นหมองหรือขัดใจ

ถ้ารักษาความไม่มีอะไรนี้ได้ ก็คือสุข

แต่คนเราย่อมต้องเจอเรื่องที่ชวนให้ขัดใจอยู่เรื่อย

ตรงนี้ท่านบอกว่า ก็ต้อง ‘จัดหลีก’ ให้ดีๆ อย่าให้เกิดการกระทบจิตจนหม่นหมองหรือขัดใจ

ท่านบอกอีกว่า บางทีสิ่งที่มากระทบไม่ได้มาจากภายนอก แต่มาจากความคิดของเราเอง

คิดเรื่องอดีตเก่าๆ แล้วก็เกิดขัดใจ

ไปเอาความจำหรือสัญญาในอดีตมากวนใจเอง

ก็ต้องระวังใจอยู่เสมอ

เมื่อนั้นถ้วยในจิตของเราก็จะเป็นน้ำใสสะอาด

 

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!