มรกต เป็นพระราชนิพนธ์แปลเล่มล่าสุดของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นนวนิยายขนาดสั้น ผลงานประพันธ์ของจางเจี๋ย (ค.ศ.1937– ปัจจุบัน) นักเขียนสตรีผู้มีชื่อเสียงในวงวรรณกรรมจีนร่วมสมัย จางเจี๋ยสร้างสรรค์งานประพันธ์จำนวนมากในเวลากว่าสามทศวรรษ และได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัล มรกตได้รับรางวัลนวนิยายขนาดกลางดีเด่นแห่งชาติเมื่อ ค.ศ.1984
ฉากท้องเรื่องของมรกตเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนช่วงก่อนปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยเหมาเจ๋อตุง มาจนถึงสมัยสี่ทันสมัยตามนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิง จางเจี๋ยใช้แก่นเรื่อง “คนและความรัก” ซึ่งนิยมนำเสนอในผลงานส่วนใหญ่ของเธอ (ตามที่ปรากฏในประวัติผู้แต่ง) โครงเรื่องเป็นเรื่องราวของสองหญิงหนึ่งชาย ผู้หญิง 2 คน รักผู้ชายคนเดียวกัน แต่นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอการชิงรักหักสวาทเช่นนวนิยายรักส่วนมากของไทย ผู้แต่งใช้ตัวละครเอกเพียง 3 ตัวเพื่อนำเสนอภาพแทนของมนุษย์ที่ซับซ้อน มีปมขัดแย้งในใจ แต่ละคนให้คุณค่าและนิยามของความรักต่างกันไป
นวนิยายเรื่องนี้แสดงแนวคิดสตรีนิยมที่นำเสนอด้วยมุมมองของนักเขียนหญิง ผู้หญิง 2 คนคือ หลูเป่ยเหอ และ เจิงลิ่งเอ๋อร์ จึงเป็นคู่เปรียบเทียบที่น่าสนใจซึ่งจะกล่าวถึงภายหลัง ส่วนจั่วเวย เป็นลูกชายโทนของครอบครัวร่ำรวยมีบารมี เป็นผู้ชายที่ “ไม่เอาไหน” เรียนหนังสือไม่เก่ง ความรู้ไม่แน่น ความคิดไม่เฉียบคม ตัดสินใจไม่เป็น ไม่เป็นผู้นำ เห็นแก่ตัว ขี้ขลาด ไม่มีอุดมการณ์ เจ้าสำอาง ถือตัว รักใครไม่เป็น แต่ก็มีผู้หญิง 2 คน ที่รักเทิดทูนเขาอย่างจริงจัง ทุ่มเทชีวิตเสียสละเพื่อเขา ดังที่ หลูเป่ยเหอ กล่าวกับ เจิงลิ่งเอ๋อร์ ว่า “หลายปีผ่านมาเราแข่งขันกันเพื่อความรักของผู้ชายคนหนึ่ง ต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อเขา ในที่สุดเราสองคนก็พบว่ามันไม่คุ้มเลย ส่วนเขาไม่รู้เลยว่าเราต้องเสียสละแค่ไหน หรือเขาคิดว่ามันควรเป็นเช่นนั้น” (หน้า 112)
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนทั้งสามมีความสัมพันธ์กัน คือการที่จั่วเวยเขียนป้ายโจมตีผู้บริหาร โดยมีเจิงลิ่งเอ๋อร์คัดลอกด้วยลายมือที่สวยงาม เมื่อมีการสอบสวน หลูเป่ยเหอซึ่งแอบรักจั่วเวย และรู้ดีว่าจั่วเวยเป็นคนเขียนป้าย ใช้อำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสาขาพรรคของชั้นปี ซึ่ง “มีหน้าที่หาฝ่ายขวามาลงโทษให้ได้ตามจำนวนที่ถูกกำหนดมา” (หน้า 38) สอบสวนเจิงลิ่งเอ๋อร์ต่อสาธารณะ แต่ไม่ว่าจะถูกประณามด่าว่ารุนแรงอย่างไร เจิงลิ่งเอ๋อร์ก็สารภาพผิดเพียงคนเดียว ไม่ยอมซัดทอดคู่รัก เธอจึงถูกตัดสินว่าเป็นฝ่ายขวาและถูกเนรเทศไปอยู่ชายแดน จั่วเวยหมดรักเธอแล้ว แต่ต้องการ “ทำให้ตัวเองดูดีมีคุณธรรม” (หน้า 44) จึงขอใบรับรองการจดทะเบียนสมรสไปให้เธอพร้อมชุดแต่งงาน คืนนั้นทั้งสองจึงมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา พอรุ่งเช้าเจิงลิ่งเอ๋อร์ก็ฉีกใบทะเบียนสมรสและบอกว่าทั้งสองได้แต่งงานกันแล้วและแยกทางกันแล้ว ไม่มีสิ่งใดติดค้างกันอีก เป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ เจิงลิ่งเอ๋อร์กล่าวในตอนหลังว่า เธอต้องการ “เสียงสะท้อนของความรัก ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน” (หน้า 81) จั่วเวยทั้งอยากร้องไห้และอยากหัวเราะ เขารู้สึกโล่งกายสบายใจที่เจิงลิ่งเอ๋อร์ตัดสินใจเช่นนั้น จากนั้นเจิงลิ่งเอ๋อร์ก็เดินทางไปอยู่ในชนบทห่างไกล เมื่อมีข่าวลือว่าเธอมีลูก จั่วเวยก็หวั่นใจว่าใช่ลูกของเขาหรือไม่ เมื่อมีข่าวลืออีกครั้งว่าของลูกเจิงลิ่งเอ่อร์เป็นลูกไม่มีพ่อ จั่วเวยก็รู้สึกว่าตนเองได้ปลดเปลื้องจากบาป
หลูเป่ยเหอเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นผู้นำ แต่ขาดเสน่ห์ เธอแต่งตัวด้วยเสื้อกางเกงสีเทาตัวใหญ่ปิดบังรูปร่าง ผมตัดสั้นแค่หูติดกิ๊บตัวโตไม่เปลี่ยนแปลงไปตามแฟชั่นใดๆ เธอเป็นคนปิดตัวเอง มีระยะห่างกับผู้อื่น เธอจึงชอบความมัวสลัวของบ้านเก่าแก่แห่งตระกูลจั่ว อันเป็นฉากเปิดของนวนิยายเรื่องนี้ ในด้านความรัก หลูเป่ยเหอเป็นผู้หญิงแบบจารีตนิยม ต้องการมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ เธอแต่งงานกับจั่วเวยทั้งที่รู้ว่าเขาไม่ได้รัก และเล่นละครเป็นสามีภรรยากันยาวนานกว่า 20 ปี ในบ้าน เธอยอมเป็นช้างเท้าหลัง เก็บเสื้อผ้าที่สามีถอดทิ้งไม่เป็นที่ หารองเท้าให้สวม นำเบียร์มาเสิร์ฟ ปรนนิบัติแม่สามีที่ไม่ชอบหน้าเธอ เมื่อเจิงลิ่งเอ๋อร์ถามในภายหลังว่าเธอไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงานหรือ หลูเป่ยเหอตอบว่า “ไม่หรอก มีความสุขมาก เราไม่เคยทะเลาะกันเลย มีความสุขเหมือนกับคนหนึ่งเป็นนายที่ทำอะไรได้ตามใจชอบ อีกคนเป็นทาสที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดซื่อสัตย์” (หน้า 112) หลูเป่ยเหอถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องผลักดันสามีและลูกให้ก้าวหน้า เธอพยายามรบเร้าให้ลูกชายสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อความมั่นคงในอนาคต ในที่ทำงาน เธอเป็นรองเลขาธิการพรรคของสถาบันและเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันการวิจัย เธอผลักดันให้สามีเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยสำคัญ เธอเป็นจอมวางแผน เป็นผู้หญิงร้ายลึก เธอน่าจะมีส่วนในการขจัดเจิงลิ่งเอ๋อร์ออกไปจากชีวิตของจั่วเวยและต่อมาแต่งงานกับเขา เมื่อรู้ดีว่าสามีไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเป็นหัวหน้าโครงการไมโครโค้ด เธอก็วางแผนให้เจิงลิ่งเอ๋อร์ผู้มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ในระดับที่นานาชาติยกย่องมาร่วมทำงานเป็นผู้ช่วย เพื่อให้ “จั่วเวยมีหน้ามีตา มีเกียรติยศ สามารถมั่วงานนี้ไปจนเกษียณได้” (หน้า 30) แผนการนี้แม้แต่จั่วเวยก็รู้สึกว่า “พวกเขาสองคนร่วมมือกันถือโอกาสจากคนคนเดียวที่เคยใช้มา” (หน้า 52) แต่จั่วเวยก็ซ่อนหน้าลึกในหมอน ปัดความรู้สึกนี้ทิ้งไป คิดเสียว่าเขาไม่ใช่คนวางแผน หลูเป่ยเหอต่างหาก
เจิงลิ่งเอ๋อร์เป็นผู้หญิงที่น่าประทับใจมาก เธอเป็นลูกสาวชาวประมง มีพรสวรรค์ในวิชาคณิตศาสตร์ และพัฒนาความรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา แม้ในยามที่ตกอับถึงที่สุด ถูกประณามว่าเป็นฝ่ายขวา ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองชายแดนเล็กๆ มีชีวิตยากลำบาก เธอก็ยังสามารถเขียนบทความเรื่องการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ จนเป็นที่ยกย่องในระดับนานาชาติ เจิงลิ่งเอ๋อร์เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ใจเด็ด ผู้แต่งนำเสนอคุณสมบัตินี้ด้วยเหตุการณ์หลายอย่าง คือ การ sit-up ถึง 400 ครั้งทั้ง ๆ ที่ชนะคู่แข่งขันไปแล้ว การว่ายน้ำดำน้ำเพื่อช่วยจั่วเวยให้รอดชีวิตจากวังน้ำวน เธอยอมรับการถูกประณามด่าว่าและประจานว่าเป็นฝ่ายขวาโดยไม่ปริปากซัดทอดจั่วเวย เธอฉีกใบรับรองการสมรสหลังเป็นภรรยาชั่วคืนเดียวแล้วจากลาเขาไปชั่วนิรันดร์ เธอไม่ตอบโต้เมื่อถูกชาวบ้านรังเกียจและรังแกเพราะท้องไม่มีพ่อและถูกกล่าวหาว่าเป็นโสเภณี เธอต้องเดินและคลานไปโรงพยาบาลเพราะไม่มีใครช่วยเหลือและได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายไร้จรรยาบรรณจากบุคลากรทางการแพทย์ อันเป็นความโหดร้ายซึ่งสังคมจีนในขณะนั้นกระทำต่อผู้ที่เป็นฝ่ายขวา เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีชีวิตอดมื้อกินมื้อแต่ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากจั่วเวย เธอเป็นทั้งพ่อและแม่ของเถาเทาดังในเรียงความที่เขาเขียนส่งครู หลังจากเถาเทาจมน้ำตาย ชีวิตเธอเหมือนสิ้นสุด แต่ก็ฟื้นคืนได้อีกครั้งด้วยความรักในวิชาการความรู้
เมื่อยังสาวเธอเทิดทูนความรักแบบอุดมคติให้แก่จั่วเวย “ยอมเสียทุกอย่างเพื่อเขา ไม่ว่าจะเป็นอนาคตทางการเมือง เกียรติยศชื่อเสียง การงาน ความเจริญก้าวหน้า ความเท่าเทียม เสรีภาพ และศักดิ์ศรี ความเป็นคน” (หน้า 37) แต่หลังจาก 20 ปีผ่านไป เมื่อกลับมาตามคำชวนเชิญของหลูเป่ยเหอ ได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองที่เธอเคยมีความสุขกับจั่วเวยคนรัก เธอพบว่า “เธอเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ทำให้ใจของเธอตื่นเต้นอาลัยอาวรณ์มิรู้วาย ไม่ใช่จั่วเวยอีกแล้ว แต่เป็นผืนแผ่นดินไพศาลที่เธอใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตอย่างไม่มีความรู้สึกอับอาย เธอได้อุทิศตนและทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอมีให้แผ่นดินที่เธอรัก” (หน้า 87) และ “เธอมีแต่ความรู้สึกรัก รักอ่าว รักโขดหิน รักเพื่อนร่วมทางที่พบกันใหม่ รักความทรงจำ รักชีวิตที่ผ่านไปแล้วเมื่อยังเด็ก รักซูเปอร์ไมโครคอมพิวเตอร์ รักกลุ่มจัดเตรียมไมโครโค้ด รักทุกอย่างยกเว้นจั่วเวย” (หน้า 105) เจิงลิ่งเอ๋อร์พบว่าเธอหลุดพ้นจากความรักส่วนตัวไปสู่ความรักสรรพสิ่ง และได้ก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่งของชีวิต นั่นคือ การมีชีวิตเพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม
ส่วนชื่อมรกต ของนวนิยายเรื่องนี้บ่งชี้ว่าหมายถึง เจิงลิ่งเอ๋อร์ โดยเฉพาะ เธอเป็นผู้หญิงสวย มีคุณค่า แม้ว่าเธอจะไม่มีโอกาสครอบครองอัญมณีล้ำค่าประจำราศีเกิดซึ่งมีความหมายว่า “คิดคะนึงถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุด” แต่คุณสมบัตินี้ก็ดำรงอยู่ในตัวของเธอแล้ว สะท้อนถึงอิสระและจิตใจอันเปิดกว้างของเธอผู้มอบความรักให้แก่ทุกสรรพสิ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ยังมีจุดเด่นของนวนิยายเรื่องมรกตอีกอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ การใช้สัญลักษณ์ของทะเลที่สอดคล้องกับเจิงลิ่งเอ๋อร์ซึ่งเป็นลูกชาวประมง เมื่อเธอร่างกายเจ็บป่วยอ่อนแอ พ่อของเธอดำน้ำหาอาหารทะเลมาบำรุงร่างกายของลูกสาวให้ฟื้นแข็งแรง ครั้นผ่านความทุกข์เทวษมานานถึง 20 ปี เธออยากซื้อมรกต อัญมณีประจำราศีเกิด เพื่อเป็นรางวัลชีวิตแก่ตนเอง แต่กลับได้ซื้อไข่มุกแท้ ซึ่งเปรียบเสมือนน้ำตาอันบริสุทธิ์แห่งท้องทะเล เจิงลิ่งเอ๋อร์มองเห็นพลังของทะเลที่ถาโถมเข้าใส่โขดหินไม่เคยหยุด เห็นทะเลที่คายคืนสิ่งสกปรกทั้งหลายออกมาสู่ชายหาด ทะเลสง่างามยิ่งใหญ่ ยิ่งไกลออกไปเท่าใดทะเลก็เป็นสีน้ำเงินใสสะอาดเข้าทุกที เธอเรียกทะเลว่า “ทะเลผู้ยิ่งปัญญาของฉัน” เพราะทะเลสอนให้เธอได้คิด ทะเลในนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มีเอกภาพ เปรียบดังจิตใจที่ใสสะอาด ปราศจากขยะและมลพิษของเจิงลิ่งเอ๋อร์
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงแปลนวนิยายจีนเรื่องมรกต ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านภาษาจีนและภาษาไทยอย่างเยี่ยมยอด เป็นแบบอย่างของศิลปะการใช้ภาษา และเป็นนวนิยายที่ให้ปรัชญาการดำรงชีวิตแก่ผู้อ่านคนไทยผ่านเรื่องราวแห่งความรักของตัวละคร
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์