Embrace ถุงนอนเด็กกู้ชีพ

-

d.school เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของ Stanford และได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันซึ่งมีหลักสูตร Design Thinking ที่ดีที่สุดในโลก

            Jane Chen ลูกครึ่งไต้หวันอเมริกัน เป็นนักศึกษาคนหนึ่งของ d.school และได้เข้าคลาสชื่อ Design for Extreme Affordability หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วไปสามารถซื้อได้

กลุ่มของเจนได้รับบรีฟมาว่า ในประเทศกำลังพัฒนามีเด็กแรกเกิดถึง 4 ล้านคนเสียชีวิตภายใน 28 วันหลังคลอด ทั้งนี้เพราะน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์จึงไม่มีไขมันเพียงพอที่จะควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ถ้าเด็กเหล่านี้ได้เข้าตู้อบ ก็จะมีโอกาสรอดสูงขึ้น แต่โรงพยาบาลในประเทศยากจนนั้นมีตู้อบจำนวนจำกัด เพราะตู้อบหนึ่งตู้มีราคาสูงถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือหกแสนบาท

โจทย์ก็คือทำยังไงถึงจะสร้างตู้อบในราคาเพียง 1% ของราคาปัจจุบันหรือไม่เกิน 200 ดอลลาร์สหรัฐ

ถ้ามองแค่ว่านี่คือปัญหาเรื่องการจัดการต้นทุน เจนคงจะมองหาวิธีสร้างตู้อบราคาถูก ด้วยการหาวัสดุที่ถูกลง แต่ d.school สอนให้มองทุกอย่างลึกกว่านั้น เจนและเพื่อนเลยตัดสินใจเดินทางไปประเทศเนปาลเพื่อจะได้เข้าใจปัญหาให้ถ่องแท้

สิ่งที่พวกเธอพบก็คือ

            – ร้อยละ 80 ของเด็กนั้นคลอดที่บ้าน ไม่ได้คลอดที่โรงพยาบาล

            – บ้านส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่ไม่มีไฟฟ้า

แค่ปัจจัยสองอย่างนี้ก็ทำให้แนวทางการสร้างตู้อบราคาถูกเป็นทางออกที่ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย

สิ่งที่เจนและเพื่อนต้องทำคือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องใช้ทั้งไฟฟ้าและความรู้ของหมอหรือพยาบาล

เจนและเพื่อนจึงออกแบบถุงนอนเด็กที่มีชื่อว่า Embrace Nest แปลตามตัวอักษรว่า รังโอบกอด

 

 

ในถุงนอนมีซองเก็บอุณหภูมิขนาด 1 ตารางฟุตที่ถอดออกมาแช่น้ำร้อนได้ น้ำร้อนนี้จะทำให้เจลคล้ายขี้ผึ้งในซองมีอุณหภูมิที่เหมาะกับร่างกายเด็กเล็ก และเมื่อคุณเอาซองเก็บอุณหภูมินี้ใส่เข้าไปใน Embrace Nest ก็จะช่วยให้ถุงนอนของลูกน้อยมีอุณหภูมิคงที่ยาวนานถึง 6 ชั่วโมง

แน่นอนว่าถุงนอนนี้มีต้นทุนเพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐตามโจทย์ที่ d.school ตั้งเอาไว้

เมื่อเห็นลู่ทางว่า Embrace Nest สามารถช่วยเหลือเด็กได้เป็นจำนวนมาก เจนและเพื่อนๆ จึงก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ชื่อว่า Embrace Innovations ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการเสียชีวิตของเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าและเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง

นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนจะแก้ปัญหาอะไร ควรเข้าใจปัญหานั้นให้ลึกซึ้ง ไม่อย่างนั้นเราอาจไปผิดทางครับ


คอลัมน์: มุมละไม

เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ LINE MAN Wongnai

ประวัติผู้เขียน 

รูปของผู้เขียน

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!