เจอคนโดนไฟดูด ไม่ควรกระโดดถีบ

-

ข่าวเศร้าในโรงเรียนเกิดขึ้นอีกแล้ว เมื่อมีการแชร์คลิปอุบัติเหตุของเด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ถูกไฟฟ้าที่รั่วจากตู้กดน้ำเย็น ดูดเอาจนเสียชีวิตติดคาตู้ ในช่วงที่มีฝนตก และที่น่าเสียใจคือไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเพราะเกรงว่าจะพลอยถูกกระแสไฟฟ้าดูด จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 2 นาที จึงมีคนเอาผ้าขาวม้ามาคล้องที่ข้อเท้า เอาดึงตัวออกมาก่อนนำส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ทันการ เด็กผู้บาดเจ็บได้เสียชีวิตลงในที่สุด

ตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการโรงเรียนระบุว่า ตู้ทำน้ำเย็นต้นเหตุถูกติดตั้งมานานแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากท่อน้ำที่จะเข้าตู้นั้นมีสนิม จึงปิดเครื่องไว้ ทว่ายังมีระบบไฟฟ้าอยู่โดยตู้มีเบรกเกอร์ควบคุมอยู่ด้านหลัง แต่วันที่เกิดเหตุ มีฝนตกน้ำเจิ่งนอง ตู้อาจเกิดไฟรั่ว พอนักเรียนมาเข้าใกล้ จึงโดนไฟดูด ตอนนี้ได้สั่งรื้อระบบไฟฟ้าออกทั้งหมดแล้ว จากนั้นก็มีคำสั่งตามมาให้ทุกโรงเรียนในจังหวัดตรังเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของตู้น้ำเย็นทุกตู้

ข่าวเรื่องนักเรียนถูกไฟดูดจากตู้กดน้ำเย็นดังกล่าว เคยเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง และเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกหน่วยงานและสถานที่ต่างๆ ซึ่งติดตั้งตู้กดน้ำแบบใช้ไฟฟ้าในการทำให้น้ำเย็น จะต้องใส่ใจดูแล ตั้งแต่การเลือกซื้อเครื่องมาใช้และการติดตั้งอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน รวมถึงคอยซ่อมบำรุง ตรวจสอบความปลอดภัยอยู่เสมอ 

การใช้และติดตั้งตู้เครื่องทำน้ำเย็น ตามคำแนะนำของกระทรวงอุตสาหกรรม

แม้ว่าตู้กดน้ำเย็นจะเสีย และคอมเพรสเซอร์หรือระบบอื่นๆ ไม่ทำงานจนเลิกใช้ไป แต่ถ้ายังเสียบปลั๊กไฟเอาไว้ และมีการเดินไฟฟ้าเข้ามาที่เครื่องโดยไม่ตัดเบรกเกอร์ กระแสไฟก็สามารถรั่วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานหลายปี ฉนวนที่ป้องกันกระแสไฟในอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นมักเริ่มเสื่อมสภาพ เลยมีแรงดันไฟฟ้ารั่วไหลไปยังโครงเหล็กของตู้ (สังเกตว่าตู้กดน้ำแบบนี้มักทำจากโลหะ) หรือถึงตัดเบรกเกอร์แล้ว แต่ถ้าไม่ได้ตรวจสอบการใช้งาน ก็อาจจะมีไฟรั่วได้เช่นกัน จึงเป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่าเครื่องนั้นปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เวลาที่ตู้กดน้ำหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ เกิดไฟรั่ว และบังเอิญไปแตะโดนจนกระแสไฟไหลเข้าสู่ร่างกาย เราก็อาจจะยังไม่ได้ถูกไฟฟ้าดูดจนเป็นอันตรายร้ายแรง ถ้ายังใส่รองเท้าที่มีพื้นหนาและเป็นฉนวนไฟฟ้าเอาไว้ เพราะกระแสไฟฟ้าจะยังไม่สามารถไหลลงดินได้ แต่ในกรณีของเด็กนักเรียนผู้เคราะห์ร้ายที่ไปโดนตู้ขณะฝนตก ตัวเปียกน้ำ กระแสไฟฟ้าก็จะไหลลงดินได้ง่ายขึ้น ไฟดูดจนทำให้เสียชีวิต

วิธีการใช้ตู้กดน้ำเย็นอย่างปลอดภัยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเคยแนะนำว่า ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตู้น้ำเย็นบริโภคที่ได้รับรองคุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ควรติดตั้งในบริเวณที่แห้ง ฝนสาดไม่ถึงและไม่ถูกแสงแดด โดยต้องเชื่อมต่อสายดินด้วย ส่วนเต้ารับเต้าเสียบหรือขั้วต่อต้องติดตั้งอยู่บนกำแพง ให้พ้นมือเด็ก และต้องแน่นไม่หลวมง่าย ควรติดตั้งระบบป้องกันไฟรั่ว และหมั่นตรวจสอบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากใช้แล้ว เกิดความร้อนหรือมีประกายไฟขึ้น ก็ต้องหยุดใช้งานทันที เพระอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว (ELCB) เพิ่มเติมสำหรับตู้กดน้ำเย็น เพื่อรักษาชีวิตของผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด

เมื่อย้อนไปดูตู้ทำน้ำเย็นต้นเหตุสลดนั้น พบว่าตู้อยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่เห็นเครื่องหมาย มอก. หรือสติกเกอร์คำเตือนใดๆ ที่ตู้ และไม่ได้ติดตั้งภายในตัวอาคาร แต่อยู่บนฟุตบาทริมถนนภายในโรงเรียน ซึ่งแม้ว่าจะทำหลังคาป้องกันไว้ด้านบน แต่ก็เป็นหลังคาสูงที่ไม่สามารถป้องกันฝนสาดและแสงแดดส่องได้ จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากไฟฟ้ารั่วเมื่อฝนตก นอกจากนี้ แม้ตัวตู้จะติดตั้งเบรกเกอร์ตัดไฟไว้ แต่ตามรายงานก็ไม่ระบุว่ามีการเดินสายดิน (น่าสงสัยว่าจะไม่ได้ทำให้ถูกต้อง หรืออาจเกิดเสื่อมสภาพ จึงมีไฟรั่วมาที่ตัวโครงตู้) และก็ไม่น่าจะติดตั้งระบบป้องกันไฟรั่ว (ELCB) ไว้ด้วย ทั้งที่ราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท และควรติดตั้งเพิ่มเติมทุกตู้ 

อีกประเด็นที่น่าคิดจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดูดจนคร่าชีวิตนักเรียนครั้งนี้ คือการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุไฟฟ้าดูดอย่างทันท่วงที ถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้ที่ถูกไฟดูดและผู้ที่เข้าไปช่วย ตลอดจนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่ควรฝึกอบรมให้แก่เด็กนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ประสบเหตุ

ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจผิดตามๆ กัน ‘เจอคนถูกไฟฟ้าดูด ให้รีบกระโดดถีบจนหลุดออกมา’ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่แนะนำให้ทำกัน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายกับคนที่ถูกถีบและคนที่เข้าไปช่วยถีบด้วย 

แม้ว่า ‘การกระโดดถีบ’ จะช่วยให้คนที่ถูกไฟฟ้าดูดอยู่ สามารถหลุดจากสายไฟได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจทำให้คนที่หลุดออกมานั้น กระเด็นไปกระแทกของที่อยู่ด้านหลัง จนได้รับบาดเจ็บ และเคยมีข่าวผู้เคราะห์ร้ายหลังจากถูกถีบตกบันไดขณะที่ถูกไฟดูด แล้วกระแทกพื้นเสียชีวิตแทน ส่วนคนที่เข้าไปช่วยด้วยการกระโดดถีบ ก็อาจตกลงทับสายไฟที่รั่วอยู่ กลายเป็นถูกไฟดูดเสียเอง 

ควรมีการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลแบบ CPR ปั๊มหัวใจ ผายปอด ช่วยเหลือผู้ป่วย

ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรใช้วิธีกระโดดถีบช่วยผู้ถูกไฟดูด หรือถ้าจำเป็น ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าบริเวณรอบข้างของผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดนั้น มีพื้นที่โล่งเพียงพอให้ผู้ป่วยล้มลงไป โดยไม่เจ็บตัวมากนัก จากนั้น ให้ตั้งใจเลือกถีบตรงก้นหรือสะโพก โดยต้องถีบให้เร็วและแรงพอ เพื่อให้ผู้ถูกไฟฟ้าดูดหลุดออกจากไฟฟ้าได้ในการถีบแค่ครั้งเดียว

วิธีการช่วยเหลือที่ควรเลือกทำมากกว่า คือการหาไม้ยาวๆ ที่แห้งไม่เปียกน้ำ มาเขี่ยเอาสายไฟหรืออุปกรณ์ที่มีไฟฟ้ารั่วให้หลุดออกจากตัวผู้ถูกไฟดูด หรือในทางกลับกัน คือเขี่ยมือ แขน หรือเท้าของผู้ป่วย ให้ออกจากบริเวณที่มีไฟดูด ที่สำคัญคือ ต้องเว้นระยะห่างจากผู้ถูกไฟดูด อย่าเพิ่งรีบร้อนเข้าไปช่วย ควรตั้งสติสังเกตก่อน ว่าไฟฟ้ารั่วมาจากที่ใด จะได้ไม่เข้าใกล้จุดนั้น และหาทางตัดไฟฟ้าให้ได้ เช่น ปิดสวิตช์ หรือสับคัตเอาต์ รวมทั้งต้องใส่รองเท้าด้วยก่อนเข้าไปช่วย และถ้าผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำ CPR ปั๊มหัวใจผายปอด ก่อนนำส่งแพทย์


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!