ELECT เลือกแล้วได้อะไร? “ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง”

-

โครงการ ELECT (elect.in.th) เริ่มต้นขึ้นด้วยความต้องการที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา โดยโครงการ ELECT เป็นการจับมือระหว่างบริษัทที่ทำงานด้านสื่อกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อค้นหาและทดลองใช้วิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการเมืองแบบใหม่ๆ โดยเป้าหมายคือหวังกระตุ้นความสนใจและใส่ใจเรื่องการเมือง สนับสนุนการมีส่วนร่วม ผลักดันการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และทำให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, พริษฐ์ วัชรสินธุ, พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, สฤณี อาชวานันทกุล
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, พริษฐ์ วัชรสินธุ, พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, สฤณี อาชวานันทกุล

มีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ และพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเว็บไซต์ The MATTER โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งนิทรรศการ “ELECT after Election : เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง” จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น L (BACC)

ภายในงานเสวนาได้ร่วมกันตั้งคำถามถึงอนาคตของการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง มีการพูดถึงเรื่องเซอร์ไพรส์ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง และมองถึงผลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้อย่างไร พร้อมทั้งบทบาทหน้าที่ของสื่อและประชาชนที่ให้ความสนใจกับการเมืองเพิ่มยิ่งขึ้น

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า เรื่องเซอร์ไพรส์ที่สุดคือระบบการทำงานในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบแบบใหม่ และข้อผิดพลาดของระบบการทำงาน ทั้งในเรื่องการสื่อสารตัวเลข และระบบการนับคะแนนเสียง ควรทำหน้าที่ได้จริงใจและเข้มแข็งกว่านี้

“สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ บทเรียนที่ว่ากลไกใหม่ๆ เมื่อเริ่มใช้จริงแล้วจะเป็นอย่างไร หรือปัญหาที่นักวิชาการเคยพูดเรื่องรัฐบาลผสม ซึ่งเกิดจากการที่หลายพรรคมารวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่ทางการเมือง ผลที่ตามมาจะเป็นไปในทิศทางใด เมื่อผลเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้ เรายิ่งเห็นจุดที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกัน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต่อไป”

พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่มองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความน่าเป็นห่วงของประชาธิปไตยในปัจจุบัน หากถามว่ากติกาใดที่เป็นปัญหามากที่สุด หลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องของระบบการเลือกตั้ง สำหรับเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้ แต่ปัญหาหลักๆ น่าจะเป็นการตีความเรื่องการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหลังเลือกตั้ง ซึ่งเขามองว่าไม่เป็นกลาง จนทำให้ฝ่ายหนึ่งมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมา ส่วนสิ่งที่เซอร์ไพรส์มากที่สุดสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการทำแบบสอบถามหรือแบบสำรวจ เพราะผลสำรวจอันแม่นยำที่สุดคือ ผลจากการนับจำนวน Google Search ซึ่งมีการสำรวจก่อนการเลือกตั้งเพียงหนึ่งวัน และผลที่ได้ตอนนั้นแตกต่างผิดคาดจากโพลล์อื่นๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การสำรวจลักษณะนี้สะท้อนการตัดสินใจของคนในสังคมได้แม่นยำเช่นกัน

สำหรับทิศทางอนาคตประชาธิปไตยไทย พริษฐ์ เสนอให้มีแนวทางการแก้ไขระบบสภา และตั้งคำถามว่าการเมืองไทยจำเป็นต้องมี ส.ว. อีกหรือไม่

“ในตอนนี้หลายประเทศกำลังเปลี่ยนจากระบบ ‘สภาคู่เป็นสภาเดี่ยว’ ที่มีแค่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อดีคือมีการยกเลิก ส.ว. ให้เหลือน้อยลง ทำให้เกิดการประหยัดงบประมาณ รวมถึงมีความรวดเร็วในกระบวนการทำงานเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้มีความคล่องตัวในเรื่องของกฎหมาย นอกจากนี้ยังเสนอให้ประชาชนทุกคนทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอิสระ ช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการทำงานของ ส.ส. ในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย”

นอกจากนี้ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเว็บไซต์ The MATTER ยังกล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนและประชาชน ที่มีเพิ่มมากขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องนโยบายพรรค หรือการทำงานหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งการตรวจสอบเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายในยุคปัจจุบัน ทั้งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้พรรคต่างๆ ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้งให้ได้

“บทบาทของสื่อฯ คือควรติดตามประเด็นที่นักการเมืองเคยให้สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันสื่อเองก็สามารถเริ่มต้นเปิดประเด็นทางสังคมด้วยเช่นเดียวกัน”

เขามองว่าสิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดไม่ใช่ผลของการเลือกตั้ง แต่กลับเป็นการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่มากกว่าครั้งก่อนๆ ถึง 75% และปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อของอนาคตการเมืองไทยอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ภายในงานเสวนายังมีการพูดถึงเรื่อง Fake News ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าสิ่งที่ทำให้เกิด Fake News เริ่มต้นจากความเกลียดชังทางการเมือง และสิ่งที่มาเสริมให้เกิด Fake News มากขึ้นคือคนไทยซึ่งใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ส่งผลให้ข่าวปลอมมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น ผู้ร่วมเสวนาเสนอว่าหลักการสำคัญในการรับข่าวสารคือ ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและวิเคราะห์เนื้อหา พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า หากจะมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ก็ควรอยู่ห่างจากอำนาจรัฐให้มากที่สุดด้วย


เรื่อง : กิติยาพร สมดอกแก้ว

ภาพ : กิติยาพร สมดอกแก้ว

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!