ปัจจุบันผู้คนในสังคมไทยยอมรับกันแล้วว่าการมีน้ำหนักเกินปกติเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เรียกว่า NCD’ (non-communicable Diseases) อันได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็งโรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งไม่รู้เหมือนกันว่าจะควบคุมการบริโภคให้อยู่ในขอบเขตของความพอดีได้อย่างไร ลองมาฟัง
(1) การกินจุบกินจิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งของว่างระหว่างมื้อเป็นเรื่องที่ต้องลดลงหรือเลิกให้ได้ การกินของหวาน ของกินเล่น ขนมถุง จั๊งค์ฟู้ด ฯลฯ รวมทั้งเครื่องดื่มหวาน ซึ่งไม่ได้ให้คุณค่าทางอาหารมากนักและไม่เป็นผลดีแก่สุขภาพเพราะความหวาน ความเค็ม และไขมัน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินที่ไม่ดีของคนไทย จงบริโภคเฉพาะที่จำเป็นยามอยู่ในสังคม นอกนั้นควรงดโดยเริ่มจากการลดลงทีละน้อย
(2) เมื่อรู้สึกอยากอาหารเพราะเหงาปากก็จงบริโภคอาหารพวกถั่ว ไม่ว่าจะเป็นอัลมอนด์ ถั่วลิสง ถั่วพีคอน หรือถั่วใดก็ตาม เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง
(3) อย่าแวะร้านขายของเจ้าประจำเพื่อซื้อขนมจุกจิกจนติดเป็นนิสัย เช่น ทุกครั้งที่เข้าร้านสะดวกซื้อก็จะซื้อไอศกรีมหนึ่งแท่งเสมอ การทำตามความเคยชินจะทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ยาก เพราะของเล็กน้อยเหล่านี้แหละเมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นแคลอรี่ที่เกินต้องการ
(4) เว้นระยะระหว่างอาหารมื้อหลักกับของหวานให้ห่างกันประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อให้สมองได้รับสัญญาณว่าอิ่มอาหารแล้วจนเกิดความรู้สึกไม่อยากจะบริโภคของหวานซึ่งเป็นตัวการทำให้น้ำหนักขึ้น นอกจากนี้การเก็บจานอาหารบนโต๊ะเมื่อรับประทานเสร็จยังเป็นการบอกสมองกลายๆ ว่าเวลาบริโภคอาหารได้หมดลงแล้ว
(5) ตักข้าวและอาหารแต่เพียงพอควร การรับประทานอาหารปริมาณน้อยเป็นประจำจะทำให้เกิดความเคยชินกับการบริโภคแต่น้อย การตักอาหารมากรังแต่จะเป็นการบังคับทางอ้อมให้เราบริโภคจนหมดซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ความตั้งใจบริโภคอย่างพอเหมาะ
(6) เมื่อรู้สึกอยากรับประทานระหว่างมื้อตามที่เคยชิน จงหาอะไรทำสัก 20 นาทีเพื่อหันเหความสนใจไปจากเรื่องอาหาร เช่น ดื่มน้ำเปล่าแก้วใหญ่ เขียนจดหมาย ฟังวิทยุ ทำสวน เดินเล่น ฯลฯ ความรู้สึกดังกล่าวก็จะลดลง
(7) หาสิ่งที่มีคุณค่าทางอาหารรับประทานก่อนมื้อเย็นสักหนึ่งชั่วโมง อาจเป็นผลไม้สักชิ้น นมเปรี้ยวสองสามช้อน ถั่วอะไรก็ได้สักกำมือเล็กๆ ทั้งหมดนี้เพื่อ “ตัดกำลัง” มิให้รับประทานอาหารมื้อเย็นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น
ความมุ่งมั่นในการควบคุมน้ำหนักโดยไม่บริโภคอาหารเกินพอดีและการมีวินัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวล้วนขึ้นกับใจของเราทั้งสิ้น ไม่มีใครที่ช่วยให้เรามีสุขภาพดีได้นอกจากตัวเราเอง
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง
เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ภาพ: www.freepik.com