กินหรือไม่กินอาหารเช้าไม่สำคัญ สำคัญที่รู้จักศึกษาทดลองกับตัวเอง

-

ถาม: ถ้าไม่กินอาหารเช้ามีผลอย่างไรต่อสุขภาพบ้างคะ ตอนนี้อายุประมาณ 60 ปีค่ะ

ตอบ: คำถามแบบนี้มีเยอะมาก ไม่กินเช้าดีไหม ไม่กินเที่ยงดีไหม ไม่กินเย็นดีไหม กินของว่างดีไหม ไม่กินของว่างดีไหม กินมื้อเดียว สองมื้อ สามมื้อ สี่มื้อ หกมื้อ ดีไหม ดื่มน้ำวันละสี่แก้วดีไหม สี่ขวดดีไหม กินข้าวก่อนกินผลไม้ดีไหม กินผลไม้ก่อนกินข้าวดีไหม กินขนมก่อนกินข้าวได้ไหม หรือกินขนมหลังกินข้าวดี ฯลฯ ผมไม่ถือว่าเป็นคำถามไร้สาระ เป็นคำถามที่ดีหมด แต่มันสื่อถึงความไม่เข้าใจหลักสำคัญอันหนึ่งในทางการแพทย์ คือหลักแต่ละร่างกายไม่เหมือนกัน (personalization) การเอาคำแนะนำไปใช้กับร่างกายทุกคนเหมือนกันหมดมันจะไม่เวิร์ก ควรถือเอาคำแนะนำที่แพทย์ให้เป็นแค่ความรู้พื้นฐานในเรื่องร่างกายมนุษย์ว่ามันทำงานอย่างไร ในเรื่องข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าการกินการใช้ชีวิตมีผลต่อโรคในภาพใหญ่อย่างไร ในเรื่องตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆ ว่าวงการแพทย์เขาใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้อย่างไร แล้วเอาความรู้เหล่านี้ไปปฏิบัติทดลองกับตัวเอง ติดตามวัดผลดูว่าวีธีนี้ได้ผลไหม ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนไปทดลองวิธีใหม่ แฟนหมอสันต์ทุกคนต้องเป็นนักวิจัยสุขภาพตนเองอย่างนี้ ไม่ต้องห่วงเรื่องการตรวจประเมินว่าจะยากจนทำไม่ได้ เพราะอุปกรณ์ดีๆ นั้นมีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแค่ผูกนาฬิกาข้อมือไว้ก็จะรู้หมดว่าน้ำตาลในเลือดขณะนี้เท่าไหร่ ไขมันในเลือดเท่าไหร่ ขาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ “กึ๋น” ที่จะเป็นนักวิจัยสำรวจร่างกายตัวเอง เพราะถูกสอนให้เชื่อฟังแพทย์โดยไม่ต้องใช้วิจารณญาณเสียจนเคย พอวงการแพทย์มาถึงทางตัน รักษาโรคเรื้อรังให้ไม่ได้ คนไข้ก็เหมือนถูก “ตัดหางปล่อยวัด” ไปต่อไม่เป็นเสียแล้ว

ถามว่าไม่กินอาหารเช้าได้ไหม ตอบว่าได้ครับ งานวิจัยชนเผ่า Hansa ที่ประเทศแทนซาเนียพบว่าเผ่านั้นไม่มีคำศัพท์ว่าอาหารเช้า เพราะพอตื่นเช้าต่างคนก็ไปตามทางของตน ผัวฉวยหน้าไม้เข้าป่าไปล่าสัตว์ เจอลูกเบอรีริมทางก็เด็ดกิน ไม่ได้ดูนาฬิกาหรอกว่าถึงเวลาอาหารเช้าหรือยัง ส่วนเมียนั้นก็ตักน้ำผ่าฟืนอยู่จนสาย หิวมากก็เอาลูกเบาบับ (baobab) มาคุ้ยๆคลุกๆจนเละเหมือนข้าวต้มแล้วกิน ไม่ได้ดูนาฬิกาเหมือนกัน เพราะว่าไม่มีนาฬิกาให้ดู หิหิ

ถามว่าไม่กินอาหารเช้ามีผลต่อร่างกายอย่างไร ตอบว่าขึ้นอยู่กับร่างกายของคนคนนั้นว่าเดินเครื่องแบบเดินนำหรือเดินตามตะวัน หมายความว่าเข้านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง ก่อนเข้านอนกินอะไรบ้าง กินตอนกี่โมง กลไกควบคุมการหิวการอิ่มอยู่ในระยะไหน หมายความว่าเช้าๆหิวหรือเปล่า ลมค้างในระบบย่อยอาหารเยอะไหม การเคลื่อนไหวร่างกายก่อนนอนและในช่วงเช้ามากหรือน้อย นอนหลับหรือนอนไม่หลับ ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนคนนั้นเป็นแบบไหน หลากหลายหรือไม่หลากหลาย ถนัดย่อยอาหารแบบมีกากหรือไร้กาก

คนที่จะรู้ได้มีคนเดียวคือเจ้าตัว ด้วยการสังเกตทดลองกับตัวเอง ลองกิน แล้วติดตามดูผล ลองไม่กิน แล้วติดตามดูผล

ในกรณีที่เป็นโรคอยู่และมีเครื่องมืออยู่แล้ว เช่นเป็นเบาหวาน การติดตามดูผลก็เจาะน้ำตาลในเลือดดูเอง หากไม่มีเครื่องมืออะไรมากก็ใช้ตัวชี้วัดง่ายๆ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความดัน เข็มขัดหรือเบอร์กระโปรง

ส่วนเรื่องที่ต้องไปเจาะเลือดดู เช่น น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดก็ตั้งรอบของการประเมินไว้ห่างหน่อย เช่น ทดลองให้นานสามเดือนหกเดือนค่อยไปเจาะเลือดดูที่คลินิกปากซอยทีหนึ่ง ทำอย่างนี้จึงจะตอบคำถามของคุณได้ และเป็นคำตอบที่จะใช้ได้สำหรับคุณคนเดียว คนอื่นก็ต้องทดลองกับตัวเองจึงจะได้คำตอบ


คอลัมน์: สุขภาพ เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!