หลังจากประเทศไทยเราได้ปลดล็อค “ต้นกระท่อม” จากพืชที่เป็นสารเสพติด ให้เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถเพาะปลูก นำมาบริโภคและใช้ประโยชน์ หรือแม้แต่จำหน่ายแบบใบสดได้ โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป กระท่อมก็กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแรงเกินคาด
กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสิ่งเสพติดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ “บุหรี่ไฟฟ้า” ประเทศไทยไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าหรือจำหน่ายได้ แต่ก็มีการนำมาใช้และลักลอบจำหน่ายในตลาดมืดกันอย่างดาษดื่น นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ว่าควรห้ามจำหน่ายต่อไป หรือควรนำมาใช้อย่างมีการควบคุม
ในปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่สามารถซื้อขายกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีคำสั่งห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังห้ามขายหรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ามีการฝ่าฝืน จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ระวางโทษก็จะสูงขึ้นมากด้วย
กระแสโต้เถียงเกิดขึ้นอีก หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่สูบมวนของจริง ทั้งที่เพิ่งมีการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ซึ่งห้ามขายบุหรี่แก่เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งมีการขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อลดการสูบบุหรี่
ตามเหตุผลของรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส ระบุว่า แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่ค่อยยอมรับ แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นสิ่งที่กว่า 67 ประเทศทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากพบว่ามีอันตรายหรือสารพิษน้อยกว่าบุหรี่จริง นอกจากนี้คนไทยเกือบสิบล้านคนก็ยังคงสูบบุหรี่อยู่ ทั้งที่มีการรณรงค์ให้เลิกสูบอย่างต่อเนื่องแล้ว ดังนั้นถ้าอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ก็จะช่วยให้คนเหล่านี้ที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ลดอันตรายจากการสูบบุหรี่มวนลง ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ รวมถึงโรงงานยาสูบ ที่ยังประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ด้วยการเปลี่ยนไปผลิตยาสูบเพื่อบุหรี่ไฟฟ้าแทน
พอที่รัฐมนตรีเสนอความเห็น เป็นเชิงโยนหินถามทางเช่นนี้ พวกแพทย์และสาธารณสุขก็ออกมารวมตัวแถลงการณ์คัดค้านทันที ด้วยการยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นอันตราย เพราะที่มีสารนิโคติน (nicotine) ซึ่งนอกจากทำให้เกิดปัญหาต่อหลอดเลือดหัวใจ เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทำลายสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังเป็นสารเสพติดที่เลิกได้ยาก เมื่อติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วก็จะเลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้ยากด้วย ส่วนที่อ้างว่า 67 ประเทศอนุญาตให้จำหน่ายนั้น ทุกประเทศล้วนมีข้อกำหนดในการใช้ และยังมีอีกหลายประเทศเช่นกัน ที่ไม่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน
บุหรี่ไฟฟ้า หรือ electronic cigarette (e-cigarette) นั้น เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่มีขนาดดูคล้ายกับบุหรี่ปกติ หรือแบบที่มีรูปทรงแตกต่างกัน ให้สามารถเติมน้ำยานิโคตินลงไปได้ แต่หลักๆ แล้ว มักจะแบตเตอรี่ในการสร้างความร้อนให้แก่สารละลายของนิโคติน ผสมด้วยสารอื่นๆ เช่น โพรไพลีนไกลคอล (propylene glycol) กลีเซอรีน (glycerine) และสารแต่งกลิ่นรส และทำให้น้ำยาระเหยเป็นควัน เมื่อผู้ใช้สูบเอาไอหมอกควันของน้ำยาเข้าไปในปอด ก็จะได้รับนิโคติน ก่อนที่หมอกควันนั้นจะถูกพ่นออกมากับลมหายใจออก
จุดเด่นของบุหรี่ไฟฟ้าก็คือ ไม่มีการเผาไหม้ใบยาสูบโดยตรงเหมือนบุหรี่สูบมวนของจริง จึงเชื่อกันว่าควันของบุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่มีสารพิษที่อันตราย อย่างเช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (tar) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ และพบว่ามีสารเคมีชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายแก่ร่างกายในระดับที่ต่ำกว่าบุหรี่ปกติทั่วไปอีกด้วย กระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ปกติทั่วไปถึงร้อยละ 95 และช่วยให้คนที่สูบบุหรี่มวนอยู่นั้น สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่เสพติดนิโคตินจากบุหรี่มวน
แต่ในมุมมองของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการใช้และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้านั้น นอกจากสารนิโคตินที่เป็นส่วนประกอบหลักและเป็นสารเสพติดให้โทษแล้ว พวกเขายังอ้างว่ามีการตรวจพบสารโลหะหนัก เช่น นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส โครเมียม และแคดเมียม ฯลฯ ปนเปื้อนอยู่ในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้า แถมตัวอุปกรณ์และระดับความเข้มข้นของนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าก็มักไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้ในฉลาก ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงได้รับสารนิโคตินเข้าไปในปริมาณที่เกินขนาด และจะส่งผลกระทบให้เซลล์ในปอดทำงานได้ลดลง ที่สำคัญ การอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย จะทำให้เกิด “ผู้สูบหน้าใหม่” เพิ่มขึ้น และอาจกระตุ้นให้เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ได้เริ่มต้นทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า จนเสพติดได้
อีกปัญหาหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นกับบุหรี่ไฟฟ้า คืออาจเกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นและทำให้ผู้สูบได้รับบาดเจ็บได้ ดังที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ ในต่างประเทศ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าทำงานโดยมีแบตเตอรี่อยู่ภายใน และมักเป็นชนิดลิเทียม ซึ่งหากได้รับความร้อนสูงจากกำลังไฟฟ้าของตัวกำหนดความร้อน หรือถ้าเกิดความเสียหายของแบตเตอรี่ขึ้น ก็อาจระเบิดขึ้นได้ในขณะที่กำลังใช้งานหรือชาร์จไฟ น้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นสารเคมีที่สามารถติดไฟได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอันตรายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มุมมองหนึ่งที่น่าคิดสำหรับประเทศไทยเรา ซึ่งมักอาศัย “การขึ้นภาษีบุหรี่” ในการควบคุมการสูบบุหรี่นั้น ดูจะไม่ใช่แนวทางที่ได้ผลสักเท่าไหร่ เพราะจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงได้เพียงเล็กน้อย คือแค่ร้อยละ 2 (ในช่วง พ.ศ. 2560-2564) การคำนึงถึงแง่บวกของบุหรี่ไฟฟ้าในการนำมาเป็น “เครื่องมือทางการแพทย์” เพื่อช่วยให้ผู้ที่ติดบุหรี่อยู่ ได้ลด-ละ-เลิกการสูบบุหรี่มวนลง และเข้มงวดห้ามจัดจำหน่ายให้แก่เยาวชน เช่นเดียวกับที่ทำกันในต่างประเทศ จึงเป็นทางเลือกใหม่ๆ อีกทางหนึ่ง ซึ่งน่าจะนำกลับมาพิจารณากัน แทนที่จะเอาแต่ห้ามกันถ่ายเดียว หรือเรียกร้องให้เปิดเสรีจนเกินไป
ภาพประกอบ 1 -บุหรี่ไฟฟ้ามีหลากหลายรูปทรง ตั้งแต่แบบที่คล้ายบุหรี่สูบแล้วทิ้ง แบบที่ชาร์จไฟใช้ซ้ำได้ แบบที่เป็นเครื่องขนาดใหญ่ แบบที่ดูคล้ายซิการ์หรือไปป์สูบยา
ภาพประกอบ 2 – กลไกการทำงานของบุหรี่ไฟฟ้ามักประกอบด้วยส่วนที่ใช้ปากดูด ส่วนที่เก็บน้ำยา ส่วนที่ให้ความร้อน และแบตเตอรี่
ภาพประกอบ 3 – ลักษณะเด่นของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า คือมีการพ่นไอออกมา ดูเหมือนก้อนหมอกควันขนาดใหญ่
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์