ฉบับที่แล้วเขียนถึงสำนวนไทยซึ่งมีที่มาจากเรือไว้แล้วสองสำนวน ฉบับนี้จะขอเสนอสำนวนที่น่าสนใจอีกสามสำนวน คือ “เมาหัวราน้ำ” “มือไม่พายเอาตีนราน้ำ” และ “ให้ท้าย”
เมาหัวราน้ำ
โดยทั่วไปเรือพายส่วนตัวจะมีขนาดเล็ก จึงอาจมีคนพายท้ายเรือคนหนึ่งและมีคนนั่งหัวเรือได้อีกคนหนึ่ง บางครั้งทั้งสองคนจะช่วยกันพายเรือเพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางให้เร็วขึ้น แต่บางครั้งก็เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นจนได้ คือคนท้ายเรือก็พายไป คนนั่งหัวเรือก็นั่งไป นั่งเฉยๆ ก็ไม่เท่าไร แต่นั่งแล้วยังถ่วงให้เรือไปได้ช้าก็มี จึงเกิดเป็นสำนวน “หัวราน้ำ” ขึ้น
“หัวราน้ำ” จะไม่มีใครนำไปใช้ในความหมายตรงตามตัวอักษร เพราะปกติจะไม่ใครเอาหัวไปราน้ำ นอกจากบางคนที่ดื่มสุราจนนั่งเรือด้วยท่าทางที่ผิดปกติโดยเฉพาะในเรือพายขนาดเล็ก คือนั่งตัวเอียงจนหัวสัมผัสกับผิวน้ำ จึงเรียกคนนั้นว่า “เมาหัวราน้ำ” ซึ่งทำให้เรือเคลื่อนไปได้ช้ากว่าเท่าที่ควร มาภายหลังแม้จะไม่ได้นั่งเรือและหัวไม่ได้ราน้ำจริงๆ แต่ถ้าใครดื่มสุราจนเมามากๆ ก็จะพูดว่า “เมาหัวราน้ำ” เช่น ชมพู่วิ่งมาเรียกมาลีเพื่อนรักที่หน้าบ้านตอนประมาณ 4 ทุ่ม บอกว่า “นี่แก ไปดูผัวแกซิ เมาหัวราน้ำส่งเสียงดังคับร้านอยู่ที่ร้านชำของตาอยู่ ดีไม่ดีเดี๋ยวมีคนหมั่นไส้ก็จะเจ็บตัว เร็วๆ เถอะ ไปพามันกลับบ้าน”
มือไม่พาย เอาตีน(เท้า)ราน้ำ
สมัยก่อนมีการใช้ “ตีน” เป็นคำพื้นๆ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แต่ปัจจุบันคนไม่ค่อยกล้าใช้คำนี้เพราะคิดว่าเป็นคำหยาบจึงใช้คำว่า “เท้า” แทน แม้แต่กับสัตว์ เช่น เท้าหมา เท้าควาย เท้าเป็ด ฯลฯ อย่างไรก็ตามได้มีคำพูดตัดพ้อต่อว่ากันว่า “มือไม่พาย เอาตีนราน้ำ” โดยใช้ให้มีความหมายตรงตามตัวอักษรว่าคนที่นั่งเรือพายไปด้วยกัน คนหนึ่งนั่งพายอยู่ท้ายเรือ อีกคนนั่งหัวเรือซึ่งถ้าช่วยกันพายก็จะถึงที่หมายเร็วขึ้น แต่ถ้าคนหนึ่งพาย อีกคนกลับเอาเท้าแหย่ลงไปราน้ำคือต้านน้ำไว้ เรือก็จะเคลื่อนไปได้ช้าลง
ครั้นมีผู้นำ “มือไม่พาย เอาตีนราน้ำ” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะหมายถึงพฤติกรรมของบางคนที่นอกจากไม่ช่วยทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดีแล้ว ยังทำตัวให้เป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จขององค์กรหรือผู้ร่วมงานอีกด้วย เช่น ขณะที่กำลังปูหญ้าที่สนาม เล็กบ่นกับจ้อยว่า “แทนที่เจ้าสินมันจะช่วยปูหญ้าให้เสร็จเร็วขึ้น เวลาคึกขึ้นมาก็เอาหญ้าทั้งแผ่นไปเตะเล่นจนแหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ต้องเสียเวลามานั่งต่อให้เป็นแผ่นอีก แทนที่งานจะแล้วเสร็จแต่วัน ก็จะเสร็จจนมืดค่ำ นี่แหละเขาว่า มือไม่พาย เอาตีนราน้ำ”
ให้ท้าย
คำ “ท้าย” ในที่นี้หมายถึงท้ายเรือ ปกติการเดินทางโดยทางเรือ ต้องมีคนถือท้ายเรือให้เรือแล่นไป ไม่ว่าจะเป็นเรือพาย เรือแจว หรือเรือยนต์ (เรือหางยาว) ก็ตาม คนถือท้ายเรือจะมีบทบาทสำคัญในการบังคับทิศทางของเรือให้แล่นไปยังจุดหมาย
เมื่อนำคำ “ให้” มาไว้ข้างหน้าคำ “ท้าย” เป็นสำนวน “ให้ท้าย” จะใช้ในความหมายเปรียบว่า เมื่อมอบความรับผิดชอบแก่ผู้ใดให้ทำการใดแล้ว ผู้นั้นไม่รับผิดชอบ ผู้มอบหน้าที่นั้นๆ ก็จะไม่พอใจ แต่ถ้ามีบางคนพยายามไกล่เกลี่ยปกป้องก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น เช่น เมื่อแม่บ่นกับพ่อว่าลูกชายวัยรุ่นเลิกเรียนแล้วมักกลับบ้านไม่ตรงเวลา บางวันเถลไถลจนมืดค่ำไม่ค่อยรับผิดชอบ ของที่แม่ฝากซื้อก็ไม่ได้ตามสั่ง พ่อก็พูดกับแม่ว่าบางครั้งลูกก็มีกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนๆ บ้าง แม่ค้อนควักแล้วพูดว่า “พ่อก็อย่างนี้แหละ ให้ท้ายลูกซะจนเคยตัว วันหลังแม่พูดอะไรสอนอะไรก็ไม่มีความหมาย”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์