ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้ทำให้ผู้คนหวาดหวั่นกับความปลอดภัยในชีวิต ยังมีบุคคลท่านหนึ่งแม้มีทางเลือกมากมาย สามารถย้ายออกไปทำงานที่ทั้งเงินเดือนสูงและปลอดภัยกว่าได้ แต่กลับยืนหยัดในหน้าที่ มุ่งมั่นรักษาผู้ป่วยในยะลาและจังหวัดข้างเคียงต่อไปอย่างแน่วแน่ เราขอแนะนำให้รู้จักกับ พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมอง) แห่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา
พื้นเพคุณหมอเป็นคนจังหวัดตรัง ได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนถึงระดับปริญญาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จุดเริ่มต้นของการมาทำงานที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาเกิดจากหมอนันทกาจับฉลากมาใช้ทุน จึงได้พบกับ นพ.ประชา ชยาภัม ผู้สอนให้หมอนันทกาได้สัมผัสกับการทำงานของ “ประสาทศัลยแพทย์” อย่างแท้จริง เนื่องจากสมัยเรียนวิชานี้เปรียบเสมือน “หอคอยงาช้าง” ที่เอื้อมไม่ถึง ด้วยเหตุนี้จึงจุดประกายให้คุณหมอนันทกาขอทุนไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านนี้
เมื่อเรียนจบด้านประสาทศัลยแพทย์และต้องกลับมาใช้ทุนที่ยะลา ตอนนั้นหมอนันทกาได้รับการชักชวนให้เป็นอาจารย์แพทย์ที่รามาธิบดีต่อโดยไม่ต้องกลับไปภาคใต้ แต่ใช้วิธีจ่ายเงินชดเชยแทนการทำงานใช้ทุน แม้เป็นเงินจำนวนไม่น้อย แต่หากคุณหมอทั้งสอนและรับงานพิเศษในโรงพยาบาลเอกชนควบคู่กันไปก็สามารถหาเงินจำนวนนั้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน ทว่าหมอนันทกาก็ยังแบ่งรับแบ่งสู่ เพราะนึกถึง นพ.ประชาผู้ให้โอกาส จึงขอมาช่วยที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาก่อนเป็นเวลา 3 ปี (ตามระเบียบการใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข) แล้วกลับไปรับตำแหน่งอาจารย์แพทย์
เมื่อใช้ทุนครบ ตรงกับช่วง พ.ศ.2547 ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรง หมอนันทกาอยู่ระหว่างขอย้ายไปเป็นอาจารย์แพทย์ตามที่เคยได้รับการทาบทาม แต่ไม่นานก็ย้ายกลับยะลาอีกครั้ง เมื่อถามถึงเหตุผล หมอนันทกาชี้แจงว่า “ตอนนั้นอยู่ที่รามาฯ แล้ว อยู่ในช่วงรอย้ายตำแหน่งจากยะลา ระหว่างนั้นคนไข้โทร.มาถามว่าหมอไปไหน เราเลยรู้สึกว่าถ้าอยู่ยะลาน่าจะทำอะไรได้มากกว่า เพราะที่รามาฯ มีคนสมัครตำแหน่งอาจารย์แพทย์หลายคน แต่ที่ยะลาไม่มี คนไข้ที่นี่น่ารัก พอไปไหนเขาก็ซื้อของมาฝาก เข้ามาทักทาย แวะเยี่ยมที่คลีนิคบ้าง โรงพยาบาลบ้าง ความผูกพันทำให้เรากลับมา”
งานส่วนใหญ่ของหมอนันทกามีตั้งแต่รักษาผู้ป่วยนอก วินิจฉัยและรักษาโรคทางระบบประสาท จนถึงงานผ่าตัดใหญ่ๆ ของประสาทศัลยแพทย์ เนื่องจากสมัยนั้นบุคลากรสายงานประสาทศัลยแพทย์ที่ภาคใต้ยังมีไม่เพียงพอ ทางยะลาซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์จึงได้รับผู้ป่วยจากจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการของคุณหมอคือ 8.30-16.30 น. แต่หากมีกรณีฉุกเฉิน หมอนันทกาก็ต้องทำงานนอกเวลา นอกจากนี้หมอนันทกายังใช้เวลาหลังเลิกงานหรือห้าโมงเย็นเป็นต้นไป เปิดคลินิกนอกเวลาเพื่อรองรับคนไข้ที่รอคิวยาวเหยียดจากโรงพยาบาล “ในยะลายังมีคนไข้ที่ลำบากทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและการเดินทางอยู่มาก มาแล้วถามถึงค่ายาก่อนเข้ารับการรักษา เพราะเขามีเงินจำกัด เราก็บอกว่าไม่เป็นไร หายแล้วค่อยจ่ายหรือไม่ต้องก็ได้ บางคนนั่งรถไฟมาจากนราธิวาส ทั้งที่มีเงินติดตัวแค่ 100 บาท เมื่อรักษาเสร็จเราก็ให้ค่ารถกลับไปด้วย”
จะเห็นได้ว่าหมอนันทกาทำงานเพื่อผู้ป่วยแทบไม่หยุดพัก ถามว่าหมอนันทกาเคยเหนื่อย เคยท้อบ้างไหม หมอกล่าวว่า “บางทีเราก็เหนื่อยนะ ไม่อยากลุกตอนตีสองตีสาม ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังหลับสบาย แต่สิ่งที่เติมพลังให้หมอคือเวลาที่คนไข้หาย สามารถกลับไปทำงาน เลี้ยงดูครอบครัว เป็นแรงใจให้หมอลุกขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ”
แม้จะมีจุดเปลี่ยนและทางเลือกมากมายในชีวิต แต่เธอก็ยังยืนหยัดรักษาผู้ป่วยในยะลาต่อไป โดยมีแง่คิดและปณิธานในการทำงานคือ “คนเราไม่ว่าตั้งต้นมาจากไหน สุดท้ายก็ต้องจากโลกนี้ไปเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าเราจะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าในตัวเองและอยู่อย่างมีความสุข และแบ่งปันความสุขนั้นเพื่อผู้อื่นอย่างไร ความตั้งใจของหมอคือดูแลเอาใจใส่คนไข้เหมือนเราดูแลตัวเอง หมอและคนไข้จึงเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน”
ความทุ่มเทและความเสียสละของ พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ทำให้คุณหมอได้รับ “รางวัลแพทย์ในดวงใจ 77 จังหวัด” ประจำจังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ.2561 และปี 2562 ที่ผ่านมา หมอนันทกายังได้รับรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 16 โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะบุคคลที่มุ่งมั่น เสียสละ อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้
ขอขอบคุณภาพจาก : อมรินทร์
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อมรินทร์
All free magazine กุมภาพันธ์ 2563