เมื่อเอ่ยถึง ‘ละคร’ หลายคนคงนึกถึงนักแสดงเป็นอันดับแรก เพราะเป็นตำแหน่งหน้าฉากที่ถ่ายทอดเรื่องราวสู่ผู้ชม ทว่าการที่ละครเรื่องหนึ่งจะสำเร็จขึ้นมาได้ต้องประกอบด้วยคนหลังฉากอีกหลายสิบชีวิตที่ร่วมสร้างละครนั้น ๆ ‘เรื่องเด่นประจำเดือน’ ในฉบับธีม ‘ตีบท (ชีวิต) ให้แตก !’ ขอนำคุณผู้อ่านไปพบกับ ‘คนทำละคร’ กลุ่มคนที่หลงใหลเวทีการแสดงในสังกัดบริษัท ‘Dreambox’ บริษัทผู้ผลิตละครเวทีน้ำดี และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วหลายเรื่อง อาทิเช่น คู่กรรม เดอะมิวสิคัล นางพญางูขาว ทึนทึก มอม เดอะมิวสิคัล ฯลฯ
เปิดกล่องความฝัน
Dreambox ก่อตั้งขึ้นโดยบุคลากรจากแดสเอ็นเตอร์เทนเมนท์และโรงละครกรุงเทพ นำทีมโดย ‘โจ้ – ดารกา วงศ์ศิริ’ ซึ่งปัจจุบันได้ลูกสาวคนเก่ง เอื้อ – เอื้ออาทร วงศ์ศิริ มาช่วยสานต่อและเสริมทัพให้ Dreambox เข้มแข็ง เอื้อรับอาสาเล่าเรื่อง ‘ละคร’ อันก่อเกิดจากกล่องความฝันใบนี้
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ค่ายละครเวทีแดสเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งแสดงที่โรงละครกรุงเทพ ต้องพบปัญหาครั้งใหญ่ เมื่อโรงละครที่ใช้อยู่ประจำถูกนำไปจำนองธนาคาร ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดในอนาคตของบริษัท ทว่าเมื่อบริษัทสหมนูญผลเข้ามาซื้อพื้นที่ เปลี่ยนชื่อเป็นโรงละคร M Theatre และคงไว้ซึ่งการเป็นศูนย์แสดงงานศิลปะดังเดิม แดสเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จึงเปลี่ยนมาเป็น Dreambox เพื่อทำงานร่วมกับบริษัทสหมนูญผล ปรับปรุงโรงละคร พร้อมสร้างสรรค์ละครเวที จัดแสดงประจำ ณ โรงละคร M Theatre
ปณิธานของ Dreambox คือมุ่งสร้างงานศิลปะอันเป็นสิ่งที่รักเผยแพร่สู่สาธารณะ นอกจากความบันเทิงแล้วต้องมีประโยชน์ต่อสังคมด้วย การทำละครแม้จะไม่ได้มีกำไรในเชิงธุรกิจนัก แต่สำหรับ Dreambox เปรียบดังจิตวิญญาณที่ขาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนทุกชีวิตในบริษัทแห่งนี้ให้มีพลังเดินต่อไป Dreambox ตั้งใจจะทำละครเวทีอย่างน้อยปีละเรื่อง ใน พ.ศ. 2561 วางแผนไว้ว่าจะทำละครเวที 2 เรื่อง เป็นละครพูดหนึ่งเรื่อง และละครเพลงอีกหนึ่งเรื่อง กำหนดคร่าว ๆ ไว้ว่าออกแสดงช่วงกลางปีและปลายปี ละครเวทีของ Dreambox แทบไม่มีการรีสเตจหรือกลับมาเล่นอีกรอบ หลังจากลาโรงละครไปแล้ว เอื้ออธิบายว่าเพราะละครเวทีของที่นี่ไม่ได้ขอสปอนเซอร์ เงินทุนมาจากรายได้ตามช่องทางต่าง ๆ ที่บริษัทให้บริการ เช่น รับจัดงานอีเวนต์ ให้เช่าชุดแฟนซี รวมทั้งเปิดคอร์สสอนการแสดง Dreamboxพยายามยืนด้วยลำแข้งตัวเอง หลายครั้งการรีสเตจกลับทำให้ขาดทุนยิ่งขึ้น ดังนั้นละครเวทีของที่นี่ถ้าพลาดแล้วคือพลาดเลย อย่างไรก็ดี ค่ายละครแห่งนี้มีแฟนคลับที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘แฟนพันธุ์แท้’ ติดตามผลงานทุกเรื่องตั้งแต่สมัยเป็น แดสเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เรื่อยมาจนกลายเป็น Dreambox
เอกลักษณ์หรือสิ่งที่เป็นลายเซ็นของละครจากค่าย Dreambox คือความคมคายของบท โดยเฉพาะในละครพูดที่มักมีมุกตลกจิกกัดสังคมสอดแทรก และการตีความบทประพันธ์ที่ไม่เหมือนใครในบางครั้ง ส่วนความยากของคนทำละครเวทีในปัจจุบัน เอื้อให้ความเห็นว่า คงเป็นการหาวิธีดึงดูดให้คนมาดู ทุกวันนี้มีสื่อหลายช่องทางให้เสพ คนทำจึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมกันนั้นก็รักษาแฟนคลับเดิมได้ด้วยสิ่งนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของคนทำละครที่ต้องคิดหาทางแก้
ละคร ละคร เป็นยาวิเศษ
ในฐานะ ‘คนทำละคร’ บุคลากรที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่ศาสตร์การละครได้มอบให้เอื้อ ไม่เพียงแค่ทำให้เข้าใจวิธีบริหารจัดการ แต่ยังสอนให้เข้าใจ ‘คน’ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม
“ละครคือศาสตร์ของการพัฒนามนุษย์ ถ้าคุณเป็นนักแสดง คุณจะได้พัฒนาความคิดและระเบียบวินัยสำหรับการเป็นนักแสดง ถ้าคุณเป็นทีมงานเบื้องหลัง คุณจะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น”
“ถ้าพูดในแง่ของคนเบื้องหลัง การละครได้ฝึกเรารอบด้าน โดยเฉพาะการใช้จิตวิทยาขั้นสูงเพื่อการทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะละครเวทีแต่ละเรื่องประกอบด้วยผู้คนที่มาทำงานร่วมกันหลายสิบหลายร้อยคน ซึ่งเอื้อได้มีโอกาสฝึกฝนการติดต่อกับคน การดูแลนักแสดงดูแลการซ้อม ประสานงานกับผู้กำกับ ฯลฯ แน่นอนว่าต้องมีความวุ่นวาย ความไม่ได้ดังใจบางอย่าง แต่เอื้อรู้สึกสนุกที่ได้มีโอกาสเจอคนหลากหลาย เจอความคิดใหม่ ๆ เจอสถานการณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ฝึกให้เราโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งเรายังมีโอกาสได้เรียนรู้ ‘คน’ พี่ลิง (สุวรรณดี จักราวรวุธ – ผู้กำกับละครเวที) สอนเอื้อมาตลอดว่า ละครคือศาสตร์ของการพัฒนามนุษย์ ถ้าคุณเป็นนักแสดง คุณจะได้พัฒนาความคิดและระเบียบวินัยสำหรับการเป็นนักแสดง ถ้าคุณเป็นทีมงานเบื้องหลัง คุณจะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น เรียนรู้ว่าคนเราไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ แต่ประกอบด้วยสิบล้านเฉดสีให้เราได้เรียนรู้
“การแสดงนั้นใกล้ตัวเรามาก สอนให้เห็นชีวิต สอนให้เราเรียนรู้ผ่านตัวละคร ทุกตัวล้วนมีเบื้องหลัง มีที่มาที่ไปและเหตุผลของการแสดงออก ทำให้เอื้อเปิดกว้างกับคนหลากหลายประเภท ไม่ไปตัดสินใครก่อน เพราะละครสอนเราว่าบนโลกมีคนสิบล้านประเภทที่จะได้เจอ เราต้องรับมือกับคนต่าง ๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกัน เถียงกัน แต่เราจะให้เกียรติเขา พยายามเข้าใจสาเหตุว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น”
The show must go on คือปรัชญาชีวิตอีกอย่างหนึ่งที่เอื้อได้เรียนรู้จากการทำละคร “ประโยคนี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทย สำหรับเอื้อคือ‘ช่างมัน’ เรื่องผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ มีแต่ต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด เอื้อใช้คำนี้ปลอบคนอื่นเยอะนะ บางครั้งนักแสดงพลาดบนเวทีทำให้เขาเสียศูนย์ไปเลย เราต้องคอยปลอบเขาว่าช่างมัน มันผ่านไปแล้ว”
สานต่อความฝัน
‘สดใสอวอร์ด’ คือรางวัลการประกวดละครเวทีซึ่ง Dreambox จัดขึ้นเกือบ 20 ปี โดยได้รับเกียรติให้นำชื่อของรองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ผู้นำศิลปะการละครสมัยใหม่บรรจุในวิชาระดับอุดมศึกษา มาเป็นชื่อรางวัล มีการจัดประกวดในสาขาบทละคร ผู้กำกับการแสดง และนักแสดง ถือเป็นการส่งเสริมและสานต่อศาสตร์ละครเวทีให้คงอยู่ต่อไป
“อย่างน้อยเราอยากปลูกฝังให้น้อง ๆ ไม่ลืมชื่อผู้ใหญ่ผู้มีคุณูปการยิ่งต่อศาสตร์การละครสมัยใหม่ อีกทั้งยังไม่มีการประกวดบทละครจริง ๆ โดยเฉพาะบทละครเวทีในประเทศไทย รางวัลสดใสอวอร์ดเน้นที่การประกวดบทละครเป็นสำคัญ เพราะหัวใจของงานโปรดักชั่นอยู่ที่บท ถ้าคนเขียนบทรู้ตรรกะของเรื่อง มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน มองภาพรวมออก ทีมงานจะทำงานกันสบาย รางวัลนี้จึงหวังว่าจะเป็นเวทีให้นักเขียนบทรุ่นใหม่ได้ฝึกฝน
เมล็ดพันธุ์แห่งการละครที่ Dreambox หว่านไว้อีกเมล็ด คือคอร์สเปิดสอนการแสดง ซึ่งปัจจุบันเปิดสอนให้แก่เด็ก ๆ เอื้ออธิบายว่า ทุกวันนี้มีสถานเปิดสอนการแสดงขึ้นมากมาย แต่ยังไม่มีแห่งไหนสอนเด็กให้แสดงโดยยังคงความเป็นเด็กไว้ คงความเป็นตัวเขาอย่างสมวัย ไม่จำเป็นต้องร้องหรือทำท่าทางเหมือนผู้ใหญ่ การสอนของที่นี่เน้นให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่ทำโจทย์การแสดงอยู่ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อนำไปปรับใช้สำหรับงานต่าง ๆ ในอนาคต
ละครเวที อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินมากมายนัก ดังนั้นการที่พวกเขายังคงทำละครต่อไปจึงเป็นอื่นไม่ได้นอกจากความรัก “เราได้ทำสิ่งที่ชอบ และเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำสิ่งที่ชอบเหมือนกัน ทุกคนมารวมกันเพราะความรักในสิ่งเดียวกัน”
All the world is a stage
การละครผ่านแว่นตาของผู้กำกับ
ลิง – สุวรรณดี จักราวรวุธ ผู้กำกับละครเวทีและยังเป็นหัวหอกสำคัญของ Dreambox ร่วมกันกับ โจ้ – ดารกา วงศ์ศิริ ผลงานละครเวทีที่ประสบความสำเร็จหลากหลายเรื่องผ่านการกำกับของเธอ ในฐานะผู้จัดเจนละครเวทีมาเกือบ 30 ปี เธอได้สะท้อนมุมมองที่มีต่อศาสตร์การละครทั้งสิ่งที่เธอได้รับและสิ่งที่เธอหลงใหล
“การละครนั้น จริง ๆ แล้วเป็นศาสตร์ใกล้เคียงจิตวิทยา เพราะเป็นเรื่องเล่าของมนุษย์ ต่อให้ตัวละครเป็นสัตว์ สิ่งของ แต่เรื่องที่เล่ายังเป็นเรื่องของคน เรื่องที่กระทบความรู้สึกของคน ขณะที่ดูละครเรามักเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับละครที่ดู ดิฉันจึงมองว่าละครกับชีวิตจริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าละครจะถูกเติมแต่งให้มีด้านเอ็นเตอร์เทน หรือความสุขระดับอารมณ์ แต่ก็มีประโยชน์ในระดับสติปัญญาด้วย บางครั้งข้อคิดที่ได้จากการดูละครมีผลกระทบต่อตัวเรา เมื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน มันช่วยปลดล็อคความคิด ช่วยให้เข้าใจประสบการณ์ชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก เปิดโลกการรับรู้ให้กว้างขึ้น
“การแสดงไม่ได้สอนเพียงแค่การรู้จักตนเองเฉย ๆ แต่หมายถึงการยอมรับข้อบกพร่องของเรา และอยู่กับมันให้ได้”
“สิ่งแรกที่คนเรียนการละครต้องเจอคือ การทำความรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และเข้าใจคนอื่นได้ ดิฉันมองว่าการแสดงไม่ได้สอนแค่รู้จักตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการยอมรับข้อบกพร่องทั้งหมดของเรา และอยู่กับมันให้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงยอมรับทั้งด้านอ่อนแอและด้านเข้มแข็ง ซึ่งทุกคนต่างมี ต่างเป็น ทำให้เราไม่ได้มองตัวเองเป็นที่ตั้ง เราสามารถเข้าใจกันและกันโดยที่รู้สึกว่า‘ฉัน’‘เธอ’ เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง นอกจากนั้นการแสดงยังสอนให้เรารู้จักการ give and take ทุกคนต่างพึ่งพาอาศัยกัน การทำงานที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่คือการทำงานร่วมกับทุกคนเพื่อให้งานบรรลุความสำเร็จ นักแสดงต้องไม่คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่เป็น self-center เพราะการแสดงต้องอาศัยการฟัง เราฟังเขา เขาฟังเรา แล้วรู้สึกถึงสิ่งที่ได้ยินจึงจะตอบออกไป
“นักแสดงยังใช้การสวมบทบาท ใช้การเป็นคนอื่นเพื่อแสดงตัวตนของเขาออกมา ดิฉันมักบอกว่านักแสดงเป็นอาชีพสิทธิพิเศษ คือฆ่าคนได้โดยไม่ต้องติดคุย ฉันเป็นตัวละครอยู่ ฉันอาละวาดได้ ฉันระบายความรู้สึกต่าง ๆ ได้ มนุษย์นั้นมีความรู้สึกครบทุกมิติ แต่ถูกเก็บกดไว้ด้วยสภาพสังคม เราสามารถนำความรู้สึกมาปลดปล่อยที่การแสดง ดิฉันคิดว่าตรงนี้คือการปลดล็อก แทนที่จะไปทำอะไรร้ายแรงที่เป็นภัยในชีวิตจริง เราเอามาทำในการแสดง ปลดปล่อยพลังงานด้านลบแล้วพลิกให้เป็นพลังงานด้านบวก เช่น นักกีฬาเอาไปลงที่กีฬา นักดนตรีเอาไปลงที่ดนตรี จิตรกรเอาไปลงที่ผ้าใบ นักแสดงเอาไปลงที่การแสดง”
สิ่งที่ดึงดูดให้ผู้กำกับคนนี้เลือกเดินบนถนนสายละครอย่างไม่หยุดยั้ง คือความสุข ในระหว่างการเตรียมงานละคร ซึ่งเจ้าตัวถือว่าเป็นเสน่ห์อันน่าประทับใจ
“ดิฉันมีประโยคหนึ่งที่รู้สึกตรงใจคือ Theatre is my church. เพราะดิฉันอินกับละคร เวลาที่ทำละครแต่ละเรื่อง ผลที่ได้รับประการแรกไม่ว่าคนดูจะชอบหรือไม่ คือเราได้ขัดเกลาตัวเอง ขัดเกลาคนทำงานด้วยกัน ในวันที่โรงละครเปิดม่าน เราในฐานะผู้กำกับได้จบหน้าที่แล้ว แค่ไปดูว่าบทที่ทำไปถึงไหน ส่งสารถึงคนดูสำเร็จไหม ดังนั้นในระหว่างทางจึงเป็นช่วงที่ค่อนข้างประทับใจมากกว่า รวมหลายความรู้สึกทั้งกลัว ลุ้น ตื่นเต้น เครียด บางวันหากนักแสดงซ้อมได้ดี เราก็กลับบ้านนอนหลับสบาย ยิ้ม ฝันดี หากวันไหนนักแสดงซ้อมไม่ค่อยดี จะรู้สึกว่าไม่ใช่วันของเรา เก็บไปฝันร้าย สมองคิดแก้ปัญหาตลอด ทำอย่างไรดี ต้องหาวิธีแบบไหนให้เขาเข้าใจบทแล้วแสดงถึง ให้เขาเล่นเข้าขากัน เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาไปด้วยกัน ต้องอาศัยความไว้วางใจกันทุกฝ่าย ช่วงเวลาที่ได้เห็นพัฒนาการเหล่านี้จากวันแรกจนวันสุดท้ายที่ขึ้นแสดง เป็นช่วงเวลาที่ประทับใจที่สุด”
เรื่อง : ภิญญ์สินี
ภาพ : อนุชา ศรีกรการ และ Dreambox