Don’t F**k with Cats: Hunting an Internet Killer เป็นสารคดีสร้างจากเรื่องจริงสามตอนจบ
ดีแอนนา ทอมป์สันคือนักวิเคราะห์ข้อมูลในคาสิโนแห่งหนึ่งในลาสเวกัส เธอเรียกตัวเองว่าเป็นพวก “เนิร์ด (nerd) ในอินเตอร์เน็ต”
วันหนึ่งเธอพบคลิปยูทูบชื่อ “หนึ่งหนุ่มกับสองแมว” เมื่อเปิดดูก็เห็นมือของคนคนหนึ่งกำลังลูบคลำลูกแมวตัวเล็กน่ารักสองตัว เป็นมือของชายใส่เสื้อฮู้ดแขนยาวที่เห็นหน้าไม่ชัดเจน แล้วชายคนนั้นก็ค่อยๆ ฆ่าลูกแมวทั้งสองตัวจนสิ้นใจ
ดีแอนนาคิดว่าต้องทำอะไรซักอย่าง เธอไม่ต้องการปล่อยให้ชายคนนี้ลอยนวล
ดีแอนนาเข้าไปในกรุ๊ปเฟซบุ๊กที่กำลังตามหาชายคนนี้ สมาชิกในกรุ๊ประดมสมองวิเคราะห์ภาพที่ปรากฏในคลิป
ด้วยเหตุนี้ดีแอนนาจึงได้รู้จักเจ้าของนามแฝง จอห์น กรีน ในกรุ๊ปนั้น ทั้งคู่ไม่เคยพบปะพูดจากันซึ่งหน้า แต่ในเวลาต่อมาทั้งคู่ได้ร่วมมือกันผ่านโลกออนไลน์ไล่ล่า “ชายผู้ฆ่าแมว”
พวกเขาดูคลิป “หนึ่งหนุ่มกับสองแมว” วิเคราะห์ขนาดห้อง, ดูเต้าเสียบปลั๊กในห้องว่าสามารถระบุได้ว่าน่าจะอยู่ในทวีปและเมืองใด, ค้นหาที่มาของผ้าคลุมเตียงซึ่งมีลายอันเป็นเอกลักษณ์ในอีเบย์ แล้วดูว่าผ้าคลุมเตียงลายนี้ส่งขายไปที่ไหนบ้าง, แยกแยะเสียงที่แทรกในคลิปว่าเป็นเสียงคนประเทศใดแทรกอยู่ ฯลฯ
แต่จนแล้วจนรอดทั้งคู่ก็ยังไม่รู้เบาะแสชายคนดังกล่าวและแหล่งที่อยู่ของเขา
ไม่นานต่อมา ชายปริศนาผู้ฆ่าแมวก็โพสต์คลิปในห้องเดิมขณะเล่นกับศพแมว คราวนี้เขาหันหน้ามาทางกล้อง แต่ใช้โมเสกบังหน้าไว้คล้ายต้องการท้าทายเหล่านักสืบมือสมัครเล่นบนหน้าจอแบบดีแอนนาและจอห์น กรีน
ยิ่งสืบหาก็ยิ่งพบว่า ชายปริศนาคนนี้วางแผนอย่างดีเพื่อล่อลวงให้คนที่แกะรอยเขาหลงกล
ชายคนนี้ใช้โฟโตช็อปตัดต่อหน้าตัวเองไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ เสมือนว่าตัวเองเดินทางตะลอนทั่วโลก คอมเมนต์ต่างๆ ที่เข้ามาชื่นชมรูปของเขาก็มีสำนวนคล้ายกันจนน่าจะมาจากตัวเขาเองที่สร้างโปรไฟล์ขึ้นหลายตัวตนแล้วใช้ชมตัวเอง นอกจากคลิปฆ่าแมวที่มีมากกว่าหนึ่งคลิปแล้ว เขายังเคยกุข่าวลือให้ตัวเองไปพัวพันกับฆาตกรชื่อดังเพียงเพื่อให้มีนักข่าวมาสัมภาษณ์
สภาพจิตใจที่ชัดเจนของชายคนนี้คือ “หลงตัวเองอย่างสูงและต้องการโด่งดัง”
ชายคนนี้ชื่อ ลูก้า แม็กนอตต้า
(2)
Don’t F**k with Cats: Hunting an Internet Killer พูดถึงการไล่ล่าตัวลูก้า แม็กนอตต้า
หนังสนุกตรงที่การแบ่งเป็นสามตอนไม่ใช่แค่เพื่อตัดตามความยาวของเนื้อหาเท่านั้น เพราะการเล่าของแต่ละตอนก็สนุกไปคนละแบบ เช่น ตอนแรกที่อยู่ในช่วงไล่ล่าชายปริศนาเจ้าของคลิปฆ่าแมวเหมือนดูหนังสืบสวนแบบมีตัวละครประเภทนักสืบมือสมัครเล่นที่ค้นหาความจริงผ่านอินเตอร์เน็ตหรือ armchair detective ในยุคเทคโนโลยีอย่างหนัง Searching ที่โชว์พลังการระดมพลทางความคิด (crowdsourcing) ผ่านกลุ่มคนรักแมว เช่น เราเห็นการใช้กูเกิ้ลแมปเพื่อแกะรอยหาตำแหน่งของลูก้า โดยเริ่มจากตำแหน่งปั๊มน้ำมันที่ปรากฏเป็นฉากหลังของรูปถ่ายลูก้า แล้วติดตามไปเรื่อยๆ จนเจอสี่แยกที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ตรงกับปั๊มในรูปถ่าย ฯลฯ
แต่พอถึงตอน 2 เมื่ออาชญากรรมของลูก้าไปไกลเกินกว่าคดีฆ่าแมวกับกลุ่มคนในอินเตอร์เน็ต กลายเป็นคดีระดับชาติแล้วบานปลายถึงระดับนานาชาติที่ประกาศตามล่าตัวเขา จึงเพิ่มความสนุกเหมือนดูหนังแนว thriller เพื่อไล่ล่าตัวคนร้ายที่วางแผนต่างๆ มาเป็นอย่างดี ทิ้งร่องรอยต่างๆ หวังสร้างชื่อให้ตัวเองโด่งดัง
แล้วเมื่อถึงตอน 3 ที่ทยอยคลายเงื่อนงำทีละอย่าง เช่น เบาะแสต่างๆ ของลูก้า ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานหรือชื่อปลอมที่เกี่ยวโยงกับหนังดังอย่าง American Psycho และ Basic instinct, การเปิดเผย “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ที่ลูก้าเคยอ้างมาตลอดตั้งแต่ก่อนก่อคดี, การมีบ่วงของความไม่ปกติทางจิตใจตั้งแต่หนึ่งปีก่อนเกิดคลิปฆ่าแมว ฯลฯ ทำให้หนังเรื่องนี้ เหมาะสำหรับคนชอบหนังลึกลับที่เน้นวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา เปิดเปลือยสภาพจิตใจวิปริตของชายคนหนึ่ง
(3)
คำถามชวนขบคิดของสารคดีเรื่องนี้อยู่ในตอนท้ายเมื่อดีแอนนา ทอมป์สันหันมาถามคนดูว่าเธอ “ทำน้อยไปหรือมากไป?”
ใจหนึ่งเธอคิดว่า เมื่อเห็นคลิปฆ่าแมวครั้งแรก เธอพยายามกดดันตำรวจน้อยไปหรือไม่ เพราะหากกดดันตำรวจให้ตามจับลูก้ามากกว่านี้ ตำรวจก็จะเห็นความสำคัญมากกว่ามองเธอกับพรรคพวกเป็นแค่ nerd ในอินเตอร์เน็ตที่สนใจเรื่องเล็กๆ และอาจจับลูก้าได้ อีกทั้งมีส่วนหยุดยั้งคดีฆาตกรรมที่ตามมาในภายหลัง
แต่อีกใจหนึ่งเธอก็คิดว่าเธอทำมากไปหรือเปล่า?
เพราะเมื่อรู้แล้วว่าลูก้าคือคนหลงตัวเองอย่างเข้มข้น เขาก่ออาชญากรรมแล้วโพสต์ลงออนไลน์เพื่อเรียก“ความสนใจ” เหมือนกับที่เขากุข่าวลือให้นักข่าวมาสัมภาษณ์ตัวเอง ดังนั้นการที่เธอและพรรคพวกเลือกจะทำตัวเป็นนักสืบแล้วตามร่องรอยที่ลูก้าทิ้งไว้ เอาเบาะแสของลูก้ามาโพสต์ในอินเตอร์เน็ต (แทนที่จะมอบให้ตำรวจดำเนินการ) นั่นยิ่งตอบสนองความต้องการของเขา เพราะแม้ว่าจะมีคนประณาม แต่มันคือ “ความโด่งดัง” และยิ่งกระตุ้นให้เขาโหยหาการก่อคดีที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้โด่งดังมากกว่าเดิม
คำถามของดีแอนนาเป็นคำถามที่ฝากไว้สำหรับคนยุคดิจิตอล ว่าในขณะที่เราภูมิใจกับการทำตัวเยี่ยงนักสืบหรือบางครั้งเยี่ยงศาลเตี้ยที่ผดุงความยุติธรรม การโพสต์ถึงคนที่จงใจแสดงพฤติกรรมเลวร้ายซ้ำๆ เท่ากับว่าเราก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริม “อาชญากรรม” หรือช่วยตอบสนองให้คนคนนั้นสมหวัง ด้วยการที่เราเอาใจจดจ่อจนกลายเป็นการเติมเต็มจิตใจที่กระหายความโด่งดังของเขา (หรือเธอ)
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)