ตุ๊กตา: “หนูอยากกลับบ้าน” กับนัยทางสังคม

-

ละครโทรทัศน์เรื่อง ตุ๊กตา เสนอฉายทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 35) ห่างจากเวอร์ชั่นแรกราว 30 ปี  แต่ความตราตรึงของตำนาน “หนูอยากกลับบ้าน” ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนที่เคยดูละครโทรทัศน์เวอร์ชั่นแรกอยู่  มิต่างจาก “ปัญหา” ซึ่งผู้ประพันธ์ได้นำเสนอไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ ที่ยังคงปรากฏในสังคมไทยอยู่เช่นกัน

 

 

วาณิช จรุงกิจอนันต์ เขียนนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง ตุ๊กตา และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2530 นวนิยายมีความยาวเพียง 12 ตอน  แต่เป็น 12 ตอนที่เมื่ออ่านแล้ว ชวนให้หนักหน่วงทางความรู้สึก โดยไม่จำเป็นต้องค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์สำคัญคือ “ตุ๊กตา” แต่ผู้อ่านจะรับรู้ความหมายเอง ด้วยกลการประพันธ์ที่ค่อยๆ คลี่คลายเรื่องและเปิดเผยประเด็นสำคัญให้ผู้อ่านรับรู้ และนำความเจ็บร้าวทางอารมณ์มาให้ผู้อ่านไปขณะเดียวกัน โดยที่วาณิชไม่ต้องบอกให้ผู้อ่านค้นหาสารหรือตีความหมายแต่ประการใด

ความหฤหรรษ์จากการอ่านนวนิยายเรื่องนี้  อยู่ตรงผู้อ่านกลุ่มที่สนุกกับการตีความ ค้นหาสารและเชื่อมโยงนัยทางความหมายก็จะรู้สึกว่านวนิยายเรื่องนี้มีแง่มุมลึกที่ชวนค้นหา  แต่ผู้อ่านที่ต้องการเสพอรรถรสจากนวนิยายเพียงอย่างเดียว ก็จะสัมผัสถึงความลึกลับของเรื่องราวอันเป็นปริศนา  และต้องการทราบว่าเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร  กล่าวคือ ไม่ว่าจะอ่านอย่างไร นวนิยายเรื่องตุ๊กตาก็ตอบสนองผู้อ่านทั้งสองกลุ่มได้

เมื่อนวนิยายมีความโดดเด่นเช่นนี้  จึงชวนให้คิดว่าหากนำมาสร้างเป็นบทละครโทรทัศน์แล้วจะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับการอ่านนวนิยายหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องราวของเด็กหญิงบูรณา ผูกพันกับตุ๊กตาที่แม่ซื้อให้จากห้างสรรพสินค้า  เธอรู้สึกว่าตุ๊กตามีชีวิต มีจิตใจ และพยายามสื่อสารกับเด็กหญิง  สุวภาพ  ผู้เป็นแม่ จึงเกิดความกังวลว่าตุ๊กตานั้นมิใช่ตุ๊กตาธรรมดา  อาจเป็นตุ๊กตาผีสิง หรือลูกสาวเธอมีปัญหาทางสุขภาพจิตกันแน่ เพราะตั้งแต่ได้ตุ๊กตาตัวนี้มา ก็เกิดเรื่องอาถรรพ์แปลกๆ ขึ้นในบ้าน  ทั้งข้าวของเกลื่อนกระจาย  เสียงพูดภาษาเขมรที่ดังแว่วๆ มา  หรือการที่ตุ๊กตาเคลื่อนย้ายได้เอง  แม้เมื่อนำไปทิ้ง ตุ๊กตาก็กลับมาดังเดิม  อีกทั้งชักนำให้พันชั่ง  วิศวกรหนุ่ม  ผู้พยายามค้นหาที่มาของตุ๊กตา  เข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ของเขากับสุวภาพจึงก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นความรักในที่สุด

วาณิชนำเสนอเรื่องราวของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ในทศวรรษ 2530 อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัตน์  ซึ่งกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ในขณะที่ “ทุน” กำลังรุกคืบนั้น คนด้อยโอกาสในสังคมก็ต้องพลอยถูกกระทำย่ำยี และตกเป็นทาสรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วย  ทรัพยากรจากชนบทถูกดูดเข้ามาในเมืองเพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากมายหลายเท่า  และเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่แรงงานจนถึงทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบต่างๆ

 

วาณิชสะท้อนภาพดังกล่าวไว้ในนวนิยายเรื่องตุ๊กตาได้อย่างแยบยล  ฉากที่วาณิชนำเสนอคือซอยแคบๆ ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลายระดับ  สุวภาพผู้เป็นหญิงสาวชนชั้นกลาง  แต่งงานกับชายคนรักที่มีฐานะร่ำรวย  แต่สามีเสียชีวิตในวันที่เธอคลอดลูกสาว  แม้สามีจะทิ้งมรดกไว้ให้จำนวนมาก  ดังที่เห็นได้จากบ้านหลังใหญ่ของเธอในซอย แต่บ้านหลังใหญ่ของเธอก็รายล้อมด้วยผู้คนหลากหลายระดับและรูปแบบ  หญิงวัย 28 ปีที่ต้องพบกับชะตากรรม พลัดพรากจากคนรักอย่างไม่มีวันหวนคืน  การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ต้องทำงานออฟฟิศในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่  ทำให้สุวภาพสั่งสมความเครียดไว้โดยไม่รู้ตัว และระบายความเครียดนั้นไปยังลูกสาววัย 7 ขวบ  ซึ่งตกเป็นที่รองรับอารมณ์ของแม่ ผู้ต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางความสับสนของระบบสังคม

 

 

แม้ “ตุ๊กตา” จะเป็นของเล่นที่เธอชอบซื้อให้ลูกสาว จนรู้สึกว่ามีหลายตัวมากเกินความจำเป็น แต่ตุ๊กตาตัวใหม่ที่เธอจำใจซื้อให้ลูกสาวนั้น กลับเป็นปริศนาที่แก้ไม่ตก  จนเมื่อพันชั่งเข้ามาในชีวิตและร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน สุวภาพถึงกับถอดใจ  อยากยกตุ๊กตาให้พันชั่งรู้แล้วรู้รอด  แต่พันชั่งไม่ใช่คนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  เขาเป็นวิศวกร  เป็นคนรุ่นใหม่ และต้องการสะสางเรื่องราวให้กระจ่าง จึงติดตามไปถึงโรงงานผลิตตุ๊กตาและรู้ว่านั่นคือโรงงานนรก  มีการใช้แรงงานเด็กจากท้องถิ่นชายขอบ  จนกระทั่งมีคนงานเสียชีวิต  เสียเพรียกที่ดังในความรู้สึกของเด็กหญิงบูรณา ลูกสาวของสุวภาพที่ว่า “หนูอยากกลับบ้าน”  จึงกระจ่างขึ้น

 

 

“บ้าน” ที่แรงงานเด็กอยากกลับ จึงมิใช่เพียงภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นกำเนิด หากแต่คือ “บ้าน” ที่รับรู้ในความรู้สึกถึงความอบอุ่น  ตามแบบสังคมชนบทดั้งเดิมก่อนโลกาภิวัตน์จะเข้ามา  บ้านซึ่งมิใช่เมืองใหญ่ที่ดูดกลืนคนชนบทนับล้านๆ คนมาอยู่สลัม และห้องเช่าในซอยแคบๆ ที่มีบ้านหลังใหญ่ของสุวภาพตั้งปะปนอยู่  บ้านซึ่งมิใช่สถานที่ถูกกดขี่ให้หมดสิ้นความเป็นมนุษย์  แต่ถูกทำให้เป็นเฟืองตัวหนึ่งในระบบโรงงานเท่านั้น  ขณะเดียวกัน  “บ้าน”  ในความหมายของเด็กหญิงบูรณาและเด็กหญิงหรรษา (หลานของพันชั่ง) ก็คือบ้านที่มีพ่อ แม่ ลูก อยู่กันพร้อมหน้า  มีแม่ผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูด้วยความอบอุ่น มิใช่เอาเวลาทั้งหมดให้แก่ระบบอุตสาหกรรม

“หนูอยากกลับบ้าน” จึงมีนัยสำคัญของความหมายที่ทั้งวิพากษ์โลกาภิวัตน์ช่วงทศวรรษ 2530 และสะท้อนสภาพชีวิตครอบครัวที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมซึ่งระบบเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่เป็นผู้เลือกและกดทับให้คนในสังคมต้องละทิ้งบ้านหลังเดิม แล้วแสวงหาความสุขในบ้านหลังใหม่  ซึ่งยากที่จะค้นพบ

 

 

นวนิยายเรื่อง ตุ๊กตา มีอายุกว่า 3 ทศวรรษแล้ว  และถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เป็นครั้งที่ 2  แต่เสียงเพรียกของดวงวิญญาณผู้ใช้แรงงานเด็กในโรงงานทาสยังคงดังก้องอยู่ในสังคม  แม้จะไม่ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบที่ทำให้ความเป็น “มนุษย์” ต้อง “สูญเสีย”  ไป จะสูญหาย หากแต่ถูกเปลี่ยนรูปแบบไปต่างๆ นานา  จนอาจกล่าวได้ว่า “บ้าน” หลังเดิมนั้นอาจไม่มีอยู่จริงแล้วในโลกนี้


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!