หนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อแปลกซึ่งหน้าปกและรูปประกอบสวยมากจนเชิญชวนให้หยิบอ่าน อ่านแล้วจึงได้ไขความที่มาของชื่อแปลกนี้ว่าเจตนาบอกธีมของหนังสือว่าเป็นเรื่องราวความรักที่เล่าผ่านมุมมองของตัวละครผู้หญิงซึ่งล้วนมีชื่อเป็นดอกไม้ เช่น แววมยุรา พุดพิชญา เฟื่องฟ้า ราตรี แก้ว ฯลฯ เธอทุกคนพบพานความรักกันคนละรูปแบบ ทั้งอกหัก รักคุด รักคนมีเจ้าของ รักข้ามคืน รักในจินตนาการ ฯลฯ
ความรักเป็นแก่นเรื่องอมตะที่นักเขียนนำมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมและงานศิลปะจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรักสุขสมหวัง รักโศกหัวใจสลาย รักแบบเทิดทูนบูชา รักด้วยสมอง รักด้วยกามราคะ ฯลฯ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดเชื้อชาติสายพันธุ์ ไม่ว่ารูปแบบของความรักจะเป็นอย่างไร เปิดเผย หรือลี้ลับ หรือมีระยะห่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการบ่งบอกความรู้สึกลึกซึ้งของฝ่ายที่เป็นผู้รัก หากเป็นรักคุดหรือรักเขาข้างเดียว ความรู้สึกจะปนเปกันไประหว่างความสุขกับความเศร้า เพราะสุขที่ได้รักเขาแต่เศร้าที่เขาไม่รัก รักไม่สมหวังแบบนี้เป็นสิ่งงดงาม ทว่าก็เป็นหนามแหลมที่คอยสะกิดให้เจ็บแปลบด้วย แต่ถึงเจ็บอย่างไรก็ไม่มีใครตายเพราะความรัก พวกที่ฆ่าตัวตายนั้นเพราะไม่รักตัวเอง ส่วนพวกที่ทำเสน่หาฆาตกรรมก็เพราะความรักแปรไปเป็นความเกลียด
ผลงานเรื่องสั้นชุด ดอก รัก เป็นงานเล่มที่ ๒ ของ “ตินกานต์” ที่ได้ตีพิมพ์ แต่เรื่องสั้นชุดนี้บ่งบอกความเป็นนักเขียนของเธอที่สามารถเดินบนถนนวรรณกรรมได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะภาษาที่สละสลวย การจัดวางองค์ประกอบของเรื่องที่สอดรับกัน และการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับผู้หญิงกับความรักที่แม้ไม่ได้ล้ำยุคแต่ก็ไม่เชย ความรักอันเป็นนามธรรมถูกสร้างให้เป็นรูปธรรมด้วยการที่ผู้เขียนปรุงแต่งเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเช่นเดียวกับเธอว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงาม แม้ไม่ถูกรัก ก็ยังดีใจที่รักเป็น
ในเรื่องสั้น “แววมยุรา” หญิงสาวเจ็บแค้นเสียใจเพราะคนรักนอกใจ เธอหลบไปพักที่บ้านแพ ได้พบคนรักเก่าจึงมีเพศสัมพันธ์ก่อนลาจากกันไป อ่านแล้วเหมือนเรื่องเล่าเก่าๆ ของหนุ่มสาวใจเปลี่ยวที่บังเอิญมาพบกันในบรรยากาศที่เป็นใจ แต่สิ่งที่แววมยุราได้รับจากเพศสัมพันธ์ชั่วคืน คือได้ความมั่นใจกลับคืนมาว่าเธอยังมีอารมณ์เลือดเนื้อ “ไม่ได้ตายไปพร้อมความรักที่ใครอีกคนพรากไป” ฉากยามเช้าที่สว่างสดใส สายน้ำที่ไหลอ้อยอิ่งจึงแตกต่างจากความมืดสลัวของเรือนแพเมื่อคืนวาน ชีวิตของแววมยุราก็เช่นเดียวกัน
เรื่องสั้น “เฟื่องฟ้า” เป็นเรื่องของเฟื่องฟ้าไปเที่ยวแคมปิ้งดูผีเสื้อที่วนอุทยานแห่งชาติกับเพื่อนชายที่เธอแอบมีใจให้มาเนิ่นนาน ชายหนุ่มปฏิบัติต่อเธอแบบเพื่อนสนิทเช่นที่เคยทำ แต่สำหรับเฟื่องฟ้า เธอถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะเสี่ยงระหว่างการเสียเพื่อนที่รัก กับได้เพื่อนรักมาเป็นคู่รัก “เธอจูบเราได้ไหม” เป็นคำสารภาพรักอย่างอ่อนโยน เธอได้จูบที่แสนหวานนั้นมา แต่ไม่ได้คนรัก ถึงกระนั้นเฟื่องฟ้าก็ถือว่าเธอได้มีช่วงเวลาที่สวยงามของชีวิตเฉกเช่นผีเสื้อที่มีชีวิตแสนสั้นเพื่อสร้างความสวยงามแก่โลก เฟื่องฟ้าได้รับผิดชอบต่อหัวใจของเธอแล้ว เธอบอกรักเขาแล้ว เธอทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จสิ้น แม้ไม่ได้คนรักแต่เธอก็ยังคงมีเพื่อนรักที่ดีต่อกันตลอดไป
นิยายรักมักมีฉากอีโรติก นักเขียนบางคนใจถึงใช้การบรรยายแบบเปิดเปลือยโจ่งแจ้งเป็นจุดขาย แต่นักเขียนจำนวนมากทิ้งช่องว่างให้จินตนาการของคนอ่านทำหน้าที่เอง “ตินกานต์” จัดอยู่ในพวกหลัง บทอีโรติกของเธอจึงหวิวนิดๆ แต่สะอาดน่ารัก เช่นในเรื่อง “พุดพิชญา” ซึ่งเป็นเรื่องของนักเขียนประจำนิตยสารที่เคยมีรักวัยเยาว์กับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เธอต้องไปสัมภาษณ์เขาถึงภาพยนตร์เรื่องใหม่ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายที่ยังฝังใจกับรักแรกในอดีต บทสนทนาโต้ตอบจึงเหมือนการสื่อสารความนัยของคนทั้งสองที่ไม่มีใครล่วงรู้ ระหว่างสัมภาษณ์พุดพิชญารำลึกถึงฉากรักกับเขาหลังม่านน้ำตก ขณะเดียวกันเธอก็มีฉากรักในจินตนาการกับเขา ณ ปัจจุบัน ดังที่บรรยายว่า “พุดพิชญากัดริมฝีปาก เก็บอาการท่ามกลางวงล้อมสายตา แต่เธอยังจะต้องสนใจใครเล่า ในเมื่อเขาได้วาดสายตากอดเกี่ยวดึงเธอไปบนโซฟาที่เขานั่งนั่นแล้ว ใช้ดวงตาจ้องนิ่งถอดเดรสของพุดพิชญาออก แลกกับการกะพริบตาหนึ่งครั้งของเธอที่ปลดกระดุมเชิ้ตของเขาหนึ่งเม็ด กะพริบ ปลด กะพริบ ปลด จนคลายครบหมดแผงเสื้อ”
เมื่อพูดถึงรักในจินตนาการ ใครจะมีจินตนาการได้บรรเจิดเท่านักเขียน เรื่อง “ดาหลา” บอกเล่าถึงหญิงสาวที่ไปเที่ยวเกาะกลางทะเลตามลำพัง แล้วพบหนุ่มผมทองที่พาเธอไปเที่ยวหาดทรายเร้นลับ สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าเรื่องเสน่หาชวนระทึกใจนี้เป็นเรื่องสั้นที่เธอเขียน และใช้อำนาจของนักเขียนจินตนาการถึงสถานที่ บรรยากาศ และบุคคลที่มีเลือดเนื้อไออุ่นจนได้ยินเสียงหัวใจเต้น เพราะสำหรับนักเขียนแล้ว “หากพระเจ้าสร้างโลก คุณก็มีอำนาจไม่น้อยกว่าพระเจ้า เมื่อคุณเริ่มเห็นใบหน้าของเขา เมื่อนั้นความรักจะแสนเชื่องอยู่ในกำมือ คุณจะลูบหัวทะนุถนอมหรือขย้ำจมเขี้ยว รักนั้นจะอยู่ข้างคุณเสมอ” ผู้เขียนใช้กลวิธีของเรื่องเล่าที่เล่าเบื้องหลังการแต่ง (metafiction) ซึ่งเหมาะสมกับเรื่องสั้นเรื่องนี้
ในขณะที่นักเขียนกำกับ “ความรักแสนเชื่อง” ได้ในโลกแห่งจินตนาการ แต่ในเรื่องสั้นสะท้อนความเป็นจริง ความรักไม่ได้แสนเชื่องและแสนหวานเสมอไป บัว ในเรื่อง “บัว” แต่งงานกับชายขี้หึงที่ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจอยู่นานปีจนเธอต้องสู้กลับและปิดฉากความรักและชีวิตคู่ เรื่องราวของบัวเกิดขึ้นในสังคมโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นเดียวกับบัวที่พยายามเลือกผู้ชายที่ไม่เหมือนพ่อ แต่ในที่สุดชีวิตรักของเธอก็เป็นภาพซ้ำของพ่อและแม่ ซึ่งก็คือภาพซ้ำของสังคมนั่นเอง
สำหรับคู่รักบางคู่ ความรักอาจต้องมีระยะห่างตามวิถีชีวิตส่วนตัวที่แต่ละคนเลือก ดังเช่นเรื่อง “ราตรี” ราตรีจะอกหัก รักร้าว รักแล้วเลิกสักกี่ครั้ง เธอก็สามารถไปหาเพื่อนชายคนสนิทผู้เปรียบเหมือนแสงจันทร์อันอบอุ่นแต่ห่างไกล ทั้งคู่ไม่อาจรักกันได้เพราะเขาพอใจจะมีชีวิตอยู่อย่างไร้กาลเวลา ส่วนเธอต้องการอนาคตที่สมบูรณ์ แต่ทั้งสองต่างอาศัยซึ่งกันและกันเป็นแสงจันทร์หล่อเลี้ยงใจ
ส่วนรักที่ทุ่มเทอย่างสุดจิตสุดใจ คือเรื่อง “โรส” หญิงสาวที่ต้องทุ่มเทกายใจให้แก่งานเต็มมือเพื่อมีชีวิตรุ่งโรจน์ในสายอาชีพ พร้อมกับดูแลสามีที่ป่วยเจ็บปางตายหลายต่อหลายครั้ง การพบรักของคนทั้งคู่เป็นเหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือราวกับมีความผูกพันข้ามชาติข้ามภพ แต่ไม่ว่าเธอจะยื้อเขาจากความตายสักเท่าไร วันหนึ่งเขาก็จากไป สิ่งเดียวที่ปลอบใจให้โรสเข้มแข็งก็คือ “โรสทำดีแล้ว ดูแลกันดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียดาย….แล้วเราจะพบกันใหม่” เพราะเธอทำให้ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับเขาเป็นช่วงเวลาที่งดงามและคุ้มค่าที่สุด
ดอก รัก ของ “ตินกานต์”บอกเล่าเรื่องราวของความรักหลากแบบจากความรู้สึกของผู้หญิง แม้จะมีบางเรื่องที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายรุก หรือกล้ามีเพศสัมพันธ์อันไม่สมควร แต่ก็ไม่มีกลิ่นอายของสิทธิสตรีแบบเสรีนิยมแต่อย่างใด ผู้เขียนเขียนถึงผู้หญิงในฐานะที่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อและหัวใจ เป็นผู้หญิงที่ยังต้องการพึ่งพิงผู้ชายมาเติมเต็มความหมายของชีวิต และมาตอกย้ำคุณค่าของความเป็นหญิง ไม่ว่าความรักของเธอจะสมหวังหรือผิดหวัง แต่ความรักเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เธอเติบโตขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของความลี้ลับของจักรวาล
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์