คนรักหมา

-

สัตว์เลี้ยงน่ารักที่ผูกพันนับเนื่องเป็นสมาชิกในครอบครัวกับสังคมมนุษย์มานานนับพันปีที่กระผมจะนำมาเล่าสู่กันมื้อนี้คือ ‘หมา’ จากความใกล้ชิดคุ้นชินทำให้เรามีสำนวนไทยที่เกี่ยวกับมันอยู่หลายสำนวน เช่น หมาเห่าใบตองแห้ง หมาลอบกัด หมาเห็นข้าวเปลือก หมาเห่าไม่กัด หมาหลายราง หมาตามเกวียน หมากัดอย่ากัดตอบ ไปจนถึง ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก เป็นต้น

สังเกตจากตัวอย่างสำนวนไทยที่กระผมยกมาข้างต้น ดูเหมือนว่าหมาถูกเปรียบเทียบไปในแง่ลบมากกว่าจะกล่าวถึงมันในแง่บวก ทั้งๆ ที่มันเป็นสัตว์แสนซื่อ รักเจ้าของมั่นคง ยากที่จะหาสัตว์อื่นเทียบได้ แต่เหตุไฉนเมื่อเราพบเจอคนที่มีพฤติกรรมไม่น่ารัก เรามักสบถว่า “นิสัยหมาๆ” คนใจร้ายเราก็ว่า ‘ใจหมา’ ปากไม่ดีก็ว่า ‘ปากหมา’ ดูราวกับว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายไปเสียทุกเรื่อง

ประสาคนรักหมา เลี้ยงหมา คุ้นเคยกับหมา เห็นหมาผอม หมาจร ก็มีแต่ความเมตตาสงสารและรู้สึกเดือดร้อนเมื่อได้ยินใครมายัดเยียดความร้ายให้สัตว์แสนรัก แต่ก่อนกาลนานโพ้น เราเลี้ยงหมาไว้ล่าสัตว์และนำทางมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานภาพเขียนสีรูปหมาตามเพิงผาแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยหลายแห่ง เช่นที่อุทัยธานี นครราชสีมา บางแห่งมีการฝังหมาไว้ในหลุมฝังศพด้วย เช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี นั่นเป็นเรื่องหมาๆ ในวัฒนธรรมโบราณ มาถึงวันนี้ หมาเปลี่ยนหน้าที่จากล่าเนื้อเห่าขโมย มาเป็นเพื่อนร่วมชายคาสมาชิกตัวโปรดของคนในบ้าน

บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เลี้ยงไว้ใกล้ชิดอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน มักมีการสังเกต คัดสรรลักษณะที่ดีจนมีการจดบันทึกไว้เป็นตำรา ทั้ง ช้าง ม้า วัว ควาย แมว ไก่ นกเลี้ยง รวมถึง ‘หมา’ ด้วย

ก็แลสังคมชาวบ้านโบราณ สัตว์เลี้ยงคู่เหย้ามักเป็นสายพันธุ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ยังไม่มีสายพันธุ์แปลกๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเหมือนเช่นวันนี้ หมาแมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ จึงมีแต่สายพันธุ์พื้นถิ่น ตำราดูลักษณะสัตว์เลี้ยงก็จำเพาะเจาะจงแต่ตามที่มีอยู่ในพื้นบ้านพื้นเมือง

ตำราดูลักษณะสุนัข หรือ ตำราหมา ที่กระผมนำมาเล่าสู่กันมื้อนี้น่าจะมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นสมุดไทยดำ (สมุดข่อย) เขียนเส้นรง มีภาพประกอบ เนื้อหากล่าวถึงสุนัขลักษณะดี 5 จำพวก แต่งเป็นกาพย์โบราณ ซึ่งกระผมขอปรับอักขรวิธีให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

๏  หมาตัวแดงตลอดหาง ท้องขาว

๏  สุนัขใดงามใสแสง ขนท้องขาวแดงมักปนกัน

เลี้ยงไว้บ่อาธรรม์ จักให้คุณแก่เจ้านาย ๚ะ

๏  หมาดอกเลาทั้งตัว เล็บยี่สิบถ้วน

๏  สุนัขใดสีดอกเลา งามลำเพามีเล็บล้วน

งามถี่ถ้วนยี่สิบหมาย เลี้ยงไว้ได้ดังใจ

ทรัพย์จะมาได้โดยถวิล จะบอกขุมทองให้

อย่าสงสัยในแผ่นดิน ๚ะ

๏  หมาตัวแดงตลอดหาง

๏  จะกล่าวสุนัขา ในตำราท่านผูกพัน

หมาตัวใดขนเป็นมัน แสงเลื่อมฉันอยู่ทั้งตัว

ผู้ใดเลี้ยงไว้ ครั้นนานไปมีคนกลัว

สิ่งสินมากพันพัว จะได้เป็นถึงซึ่งเศรษฐี ๚ะ

๏  หมาตัวขาว สี่เท้าดำ ขาวตลอดหาง

๏  สุนัขใดอันตัวขาว ทั้งสี่เท้าดำงามดี

เลี้ยงไว้เป็นเศรษฐี เงินทองมากอยู่ครามครัน ๚ะ

๏  หมาดำนิลตลอดหาง ตาดำด้วย

๏  สุนัขใดสิบเก้าเล็บ ทั้งตัวงามบ่มลทิน

จะคาบทรัพย์มาให้สิ้น เลี้ยงไว้เถิดไม่เสียแรงดอก

๏  นอกไปยิ่งกว่านี้ ไม่สู้ดีอย่าแสวง

เลี้ยงไว้จะกัดแข็ง มิได้เกิดซึ่งลาภผล นะท่านเอย ๚ะ

สรุปว่าหมาลักษณะดีที่ตำราท่านแนะนำให้หามาเลี้ยงมี 5 จำพวก คือ 1. ตัวสีแดง ท้องสีขาว 2. ตัวสีดอกเลา (สีเทานกพิราบ) เล็บครบ 20 นิ้ว 3. สีแดงทั้งตัว 4. ตัวสีขาว สี่เท้าดำ 5. ตัวสีดำ ตาสีดำ นอกจาก 5 จำพวกนี้แล้วไม่ควรหามาเลี้ยง นั่นเป็นเรื่องของความเชื่อโบราณ ไม่เกี่ยวกับวันนี้ 

คนรักหมา เลี้ยงหมาก็ต้องเข้าใจหมา โบราณท่านว่า หมาจะเห่าจะหอนเป็นเรื่องของหมา ดังที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในสวัสดิรักษาว่า

๏  อนึ่งสุนัขมักเฝ้าแต่เห่าหอน อย่าขู่ข้อนด่าว่าอัชฌาสัย

เสียสง่าราศีมักมีภัย คนมิได้ยำเยงเกรงวาจา


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ 

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!